ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมากมายในแทบทุกวงการ โดยนวัตกรรมต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ทำให้ชีวิตสะดวกรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงข่าวสารความรู้ บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักความหมาย และประเภทของนวัตกรรมให้มากขึ้น

รู้จักความหมายของ "นวัตกรรม" หมายถึงอะไร?

นวัตกรรม คือ แนวคิดใหม่ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ที่ต่อยอดและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยอาศัยความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำไปสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ สามารถช่วยสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจได้

หมายเหตุ : คำว่า "นวัตกรรม" ในภาษาอังกฤษก็คือ Innovation ซึ่งเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินอย่าง "Innovare" หมายถึง "ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา"

นวัตกรรม มีกี่ประเภท?

การแบ่งประเภทของนวัตกรรม สามารถแบ่งได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับขอบเขตและลักษณะของการแบ่ง แต่โดยรวมแล้ว สามารถแบ่งง่ายๆ ได้ 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

1. นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation)
การปรับปรุงสิ่งประดิษฐ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยมีทั้งแบบที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ นอกจากช่วยสร้างความสะดวกสบายแล้ว ยังสามารถเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ในตลาดได้ เช่น รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ, จอโทรทัศน์แบบ HDTV, หูฟังไร้สาย เป็นต้น

2. นวัตกรรมกระบวนการ (Process Innovation)
การพัฒนาแนวทาง วิธีผลิตสินค้าและบริการ ให้มีรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้น อาจจะเป็นการลดขั้นตอนกระบวนการผลิตให้รวดเร็วมากขึ้น เพื่อประหยัดต้นทุนและเวลา เช่น การย้ายฐานการผลิตสินค้าไปยังแหล่งใหม่ เป็นต้น

...

3. นวัตกรรมด้านการวางตำแหน่งของสินค้า (Position Innovation) 
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของนวัตกรรม สินค้าและบริการ จากแบบเดิมๆ ที่คนส่วนใหญ่รู้จักหรือคุ้นเคยอยู่แล้ว ไปสู่การรับรู้ใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีและภาพลักษณ์ใหม่ๆ สู่ผู้บริโภค เช่น เครื่องสำอางที่ปรับปรุงแบรนด์ โดยใช้เทคโนโลยีปรับปรุงสูตรใหม่ ทำให้ครองใจกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นมากขึ้น เป็นต้น

4. นวัตกรรมด้านกระบวนทัศน์ (Paradigm Innovation)
การสร้างนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดเดิมๆ ได้ เพื่อนำไปสู่การสร้างกรอบความคิดใหม่ๆ เช่น จากเดิมเชื่อว่าสมาร์ทโฟน 5G จะต้องมีราคาที่สูง แต่เทคโนโลยีก็ทำให้สมาร์ทโฟนเหล่านี้ราคาถูกลง และสามารถเข้าถึงคนหลายระดับได้มากขึ้น เป็นต้น

นวัตกรรม มีอะไรบ้าง?

กว่าที่นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ จะต้องผ่านกระบวนการประดิษฐ์คิดค้น, พัฒนาทดลองปรับปรุง และนำไปใช้งานได้จริง โดยในปัจจุบันมีสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมต่างๆ มากมาย ที่เข้ามามีบทบาทช่วยเสริมการไลฟ์สไตล์ให้มนุษย์สะดวกมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

นวัตกรรมการเกษตร
การนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ทางการเกษตร สามารถสร้าง "เกษตรดิจิทัล" ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทุ่นแรง ลดค่าใช้จ่าย และลดความเสี่ยงให้แก่เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันช่วยประเมินปริมาณน้ำฝน, วันฝนตก เพื่อให้วางแผนเพาะปลูกได้สะดวก อีกทั้งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีชีวภาพอีกมากมาย ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาโรคระบาด ลดการใช้ยาฆ่าแมลง คำนวณความชื้นและอุณหภูมิในฟาร์มต่างๆ ก็ถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเรื่องการเพาะปลูกนั่นเอง

นวัตกรรมสุขภาพ
ความก้าวหน้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพให้ผู้คนในยุคปัจจุบัน ทำให้ชีวิตผู้คนยืนยาวมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น นวัตกรรมยังเข้ามามีบทบาทในการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยให้หลายคนนำมาประยุกต์ใช้เพื่อจะได้รู้เท่าทันสัญญาณของโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อจะได้หาทางรักษาสุขภาพของตนเองมากขึ้น เช่น เครื่องวัดออกซิเจนในอากาศ, เครื่องวัดชีพจรในเลือด, ชุดอุปกรณ์ฝึกออกกำลังกาย เป็นต้น

นวัตกรรมทางการศึกษา
สิ่งประดิษฐ์ด้านการศึกษา ช่วยส่งเสริมให้การเรียนการสอนสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเกิดปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนแบบปกติได้ แต่นวัตกรรมด้านการศึกษาจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ เช่น โปรแกรมสำหรับเรียนออนไลน์ทางไกล ช่วยให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงชุดข้อมูลความรู้, แอปพลิเคชันแปลภาษา ตัวช่วยในการเรียนภาษาที่ 2 และ 3 รวมไปถึงการนำ AI และหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้ในการสอน เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กๆ เป็นต้น

...

ประโยชน์ และความสำคัญของนวัตกรรม

ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่หยุดคิดค้น และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ นวัตกรรมก็ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากเราจะมีสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมากขึ้นแล้ว เรายังจะได้ประโยชน์จากการเกิดใหม่ของนวัตกรรมด้านต่างๆ ที่มีต่อชีวิตประจำวัน หลายนวัตกรรมสามารถช่วยแก้ปัญหาในชีวิตได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งเมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม ก็สามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน.

ที่มา : www.jba.tbs.tu.ac.th