ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้ คลื่นความนิยมเกาหลี (K-Wave) หรือที่เรียกกันว่า ‘ฮันรยู’ (Hallyu) กำลังขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรม และสร้างปรากฏการณ์เกาหลีฟีเวอร์บนเวทีโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีที่ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ตั้งแต่ Parasite ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม วงเคป๊อปอย่าง BTS และ Blackpink ที่ทะยานสู่ชาร์ตเพลง Billboard และสร้างสถิติใหม่ๆ มากมาย รวมทั้ง Squid Game ที่ล่าสุด ทุบประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นซีรีส์ที่มีผู้ชมกว่า 142 ล้านครัวเรือนทั่วโลก ภายใน 1 เดือนแรกที่ปล่อยให้ชม ช่วยกระตุ้นยอดผู้สมัครสมาชิก Netflix เพิ่มขึ้น 4.4 ล้านบัญชี

นอกจากนี้ ยังมีคำศัพท์ภาษาเกาหลีอีก 26 คำ ที่ได้รับการบรรจุในพจนานุกรมอังกฤษอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford English Dictionary) ฉบับปรับปรุงใหม่ แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมเกาหลีที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของความสากลระดับโลก ซึ่งสุดท้ายแล้วจะนำไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สร้างรายได้มหาศาลกลับคืนสู่ประเทศ

หลายฝ่ายมองว่าเบื้องหลังความสำเร็จของเกาหลีใต้ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากพลัง ‘อำนาจอ่อน’ (Soft Power) หรือ นโยบายการขับเคลื่อนเพื่อการส่งออกและเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลี ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทำแล้วจะเห็นผลได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ต้องอาศัยการสนับสนุน และผลักดันจากภาครัฐอย่างเข้มข้นจริงจัง 

...

เมื่อเกาหลีใต้พลิกวิกฤติเศรษฐกิจ ด้วยการจุดกระแส "K-Wave"

นับตั้งแต่วิกฤติการณ์ IMF ที่ส่งผลให้หลายประเทศในเอเชีย รวมถึงเกาหลีใต้ต้องประสบปัญหาทางการเงินในปี 1997 นำไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ ได้วางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์และดนตรีให้มีคุณภาพ โดยการสนับสนุนเงินทุนสำหรับเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน เฟ้นหานักแสดงหน้าใหม่ ผลักดันการส่งออกภาพยนตร์ และส่งเสริมให้สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์และซีรีส์ กลายเป็นแลนด์มาร์กของสถานที่ท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีให้เติบโตในอนาคต

จากอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีที่เริ่มเฟื่องฟูมาตั้งแต่ช่วงยุค '90s จนกระทั่งปี 1999 เริ่มมีการใช้คำว่า ‘Hallyu’ (ฮันรยู) ในวงการสื่อมวลชนต่างประเทศ เช่น รายการโทรทัศน์จีน และหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น ที่มักใช้คำว่า “韓流” (韓 = เกาหลี, 流 = คลื่นกระแส) เพื่อใช้นิยามคลื่นความนิยมเกาหลี หรือที่รู้จักกันว่า 'Korean Wave' นั่นเอง 

เกาหลีใต้ใช้กระแส K-Wave ในการส่งออกวัฒนธรรมอย่างภาพยนตร์ ซีรีส์ รายการวาไรตี้ เพลง แฟชั่น อาหาร และภาษา ไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น จีน ไต้หวัน เวียดนาม ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และไทย ยกตัวอย่างซีรีส์ที่โด่งดังมากๆ ในเวลานั้นอย่าง Autumn in My Heart, Dae Jang Geum และ Full House เมื่อสร้างชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมแล้ว ก็นำไปสู่การขายสินค้าและบริการประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นความทันสมัยและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง ซึ่งในปัจจุบันกระแสเหล่านี้ได้ขยายอิทธิพลไปทั่วเอเชีย รวมถึงในทวีปยุโรป และอเมริกา

ความน่าสนใจของการคลื่นความนิยมเกาหลี อยู่ที่การส่งออกแนวความคิดที่มีความเป็นสากล แม้ว่าภาษาและวัฒนธรรมจะแตกต่างกัน แต่ทุกชาติสามารถเชื่อมโยงและเข้าถึงได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น เพลงเคป๊อป ถึงจะใช้ภาษาเกาหลี แต่เน้นจังหวะทำนองดนตรีป๊อปสากล, ภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีที่ประสบความสำเร็จอย่าง Parasite และ Squid Game ก็นำเสนอประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับสังคมทุนนิยมในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2016-2020 แพลตฟอร์มสตรีมมิงชื่อดังอย่าง Netflix ก็ได้เข้ามาลงทุนสร้างคอนเทนต์ในเกาหลีใต้ โดยใช้เงินจำนวน 7.7 แสนล้านวอน หรือประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท และความสำเร็จที่เกิดขึ้น สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกาหลีใต้ สูงถึง 5.6 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท แถมยังทำให้เกิดการจ้างงานอีกกว่า 16,000 ตำแหน่ง 

...

"เคป๊อป" เป็นมากกว่าการขายเพลง แต่คือภาพสะท้อนค่านิยมชาวเกาหลี

หลังการสิ้นสุดการปกครองโดยรัฐบาลทหาร และเกิดการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งแรก ในเดือนธันวาคม ปี 1987 นับเป็นการเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ประชาธิปไตย ตามมาด้วยการจัดงานโอลิมปิกฤดูร้อน ณ กรุงโซล ในปี 1988 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเกาหลียุคใหม่ ที่ทำให้ชาวเกาหลีเปิดรับวัฒนธรรมภายนอกมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ก็หลั่งไหลเข้ามา โดยเฉพาะด้านดนตรีและแฟชั่น

จากการเปิดตัวของ ‘ซอแทจี แอนด์ บอยส์’ (Seo Taiji and Boys) ในปี 1992 พวกเขากลายเป็นบอยแบนด์ระดับตำนานวงแรก ที่นำความแปลกใหม่มาสู่วงการเพลงเกาหลี ทั้งเรื่องดนตรี ท่าเต้น และแฟชั่นการแต่งตัว จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้เริ่มจุดกระแสให้เคป๊อปในปัจจุบันนี้ รวมถึงวงบอยแบนด์ ‘H.O.T.’ เปิดตัวในปี 1996 และเกิร์ลกรุ๊ป 'S.E.S.' เปิดตัวในปี 1997 ซึ่งได้รับการยอมรับในฐานะศิลปินไอดอลกลุ่มแรก ที่เป็นต้นแบบให้เกิดการพัฒนาต่อยอดการสร้างศิลปินไอดอลในปัจจุบัน

การเข้ามาของอินเทอร์เน็ต รวมถึงโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ล้วนมีส่วนทำให้เคป๊อปเป็นที่รู้จักผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเต้นคัฟเวอร์เพลง "Sorry Sorry" ของวง Super Junior ที่กลายเป็นไวรัลบน YouTube รวมถึงปรากฏการณ์เพลง "Gangnam Style" ของ PSY ในปี 2012 ซึ่งเป็นวิดีโอแรกบน YouTube ที่มียอดวิวเกิน 1,000 ล้านวิว ทำให้โลกตะวันตกรู้จักเพลงป๊อปเกาหลี หรือที่เรียกว่า ‘เคป๊อป’ (K-Pop) อีกทั้งยังทำให้ศิลปินกลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ระดับโลก ตามมาด้วยมีมดนตรีสนุกๆ และท่าเต้นแปลกตา แม้ว่าจริงๆ แล้ว บทเพลงนี้จะมีเนื้อหาเสียดสีสังคมก็ตาม

...

เมื่อไม่นานมานี้ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล สมาชิกชาวไทยหนึ่งเดียวของวงเกิร์ลกรุ๊ป Blackpink ก็เพิ่งได้รับการบันทึกสถิติโลก กินเนสส์บุ๊ก ว่าเป็นศิลปินหญิงเดี่ยวเจ้าของซิงเกิล "Lalisa" ที่มีผู้ชมบน YouTube สูงสุดใน 24 ชั่วโมงแรก โดยมียอดวิวสูงถึง 73.6 ล้านครั้ง แซงหน้าสถิติเดิมซิงเกิล "Me!" ของ Taylor Swift ศิลปินชาวอเมริกา ซึ่งทำไว้ที่ 65.2 ล้านครั้ง เมื่อปี 2019

หากสังเกตให้ดี หลายๆ เพลงที่บุกตลาดอเมริกา มักมีเนื้อเพลงที่ใช้ภาษาอังกฤษประกอบ อีกทั้งยังมีท่าเต้นที่โดดเด่นสะดุดตา ทำให้เคป๊อปมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน ถูกจดจำได้ง่าย และมีความเป็นสากล แต่ทั้งนี้ เคป๊อปไม่ใช่แค่การขายคอนเทนต์เพลงเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของการขายและเผยแพร่คลื่นวัฒนธรรมเกาหลี ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศให้เป็นที่น่าจดจำในสายตาชาวโลกอีกด้วย

อาจกล่าวได้ว่าตัวศิลปินเคป๊อปเอง ก็คือภาพสะท้อนความเป็นตัวตนและค่านิยมของคนเกาหลีใต้ (อาจรวมถึงเรื่องมาตรฐานความงามแบบเกาหลีด้วย) เส้นทางสู่การเป็นศิลปินไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ‘พรสวรรค์’ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับการทุ่มเทฝึกฝนอย่างหนัก อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัด เนื่องจากทุกค่ายเพลงในเกาหลีใต้แข่งขันกันสูง เพื่อคัดเลือกศิลปินที่มีคุณภาพ และมีความพร้อมตรงตามความต้องการ

...

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากศิลปินสักคนจะต้องใช้เวลาฝึกซ้อมตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งการร้องเพลงและเต้น หรือที่เรียกกันว่า ‘เทรนนี’ (Trainee) เป็นเวลานาน 2-5 ปี กว่าจะได้เดบิวต์ หรือบางคนอาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น และอีกจำนวนมากที่เป็นได้เพียง ‘เด็กฝึก’ โดยไม่ได้รับโอกาสก้าวไปสู่อาชีพศิลปินเต็มตัวเลย

การแข่งขันอย่างเข้มข้นของค่ายเพลงและตัวศิลปิน ก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้วงการเคป๊อปพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของคนเกาหลีในเรื่องการยกย่องคนทำงานหนัก ทุ่มเทให้การทำงาน มุ่งมั่นจริงจัง และขยันอดทน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน หากศิลปินจะกล่าวขอบคุณแฟนคลับ ด้วยการบอกว่า “จะตอบแทนทุกคนด้วยการทำงานให้หนักขึ้น

นอกจากนี้ สังคมเกาหลียังให้ความสำคัญกับเรื่องอาวุโสอย่างเคร่งครัด เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากปรัชญาแนวคิดขงจื๊อ ในการจัดระเบียบทางสังคมผ่านรูปแบบความสัมพันธ์ 5 ประการ โดยหนึ่งในนั้นคือ ผู้ใหญ่และผู้น้อยควรมีการลำดับอาวุโส ไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือสถานที่ทำงาน รุ่นพี่จะดูแลช่วยเหลือรุ่นน้องอย่างเต็มที่ ในขณะที่รุ่นน้องเอง ก็ต้องเคารพเชื่อฟังรุ่นพี่ ไม่ว่าจะเป็นการให้เกียรติคนอายุมากกว่าตักอาหารก่อน รวมถึงการก้มศีรษะคำนับ จะโค้งต่ำแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับระดับความอาวุโส

สำหรับผู้ชายจะเรียกผู้ชายอายุมากกว่าว่า 'ฮยอง' และเรียกผู้หญิงอายุมากกว่าว่า 'นูน่า' ซึ่งเป็นคำให้เกียรติในการเรียกคนใกล้ชิด ส่วนผู้หญิงจะเรียกผู้ชายอายุมากกว่าว่า 'โอป้า' และเรียกผู้หญิงอายุมากกว่าว่า 'ออนนี่' ซึ่งการเรียกแทนชื่อด้วยคำเหล่านี้ เป็นการบ่งบอกถึงระดับความใกล้ชิดสนิทสนม รวมถึงการเพิ่มคำว่า 'ชิ' และ 'นิม' ต่อท้ายชื่อของคนเกาหลี (คล้ายกับคำว่า คุณ, ท่าน ในภาษาไทย) ก็จะเป็นการแสดงถึงการให้เกียรติ และแสดงความเคารพไปอีกระดับหนึ่ง 

วัฒนธรรมการลำดับขั้นอาวุโสเหล่านี้ สามารถเห็นได้ทั่วไปในวงเคป๊อปเกาหลี หากมีสมาชิกหลายคน ผู้ที่อายุน้อยที่สุดจะถูกเรียกว่า 'มักเน่' ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกน้องเล็กของวงนั่นเอง แม้จะไม่ใช่ตำแหน่ง แต่มักเน่ก็ถือเป็นสีสันที่แฟนคลับมักจะมอบฉายาให้ เช่น มักเน่ทองคำ (น้องเล็กที่เก่งกาจ มีความสามารถรอบด้าน) และ มักเน่ปิศาจ (น้องเล็กที่ซนแสบ ชอบก่อกวนพี่ๆ ในวง) เป็นต้น

ดังนั้น การถามเรื่องอายุในสังคมเกาหลีจึงกลายเป็นเรื่องปกติ เพื่อที่ผู้พูดจะได้เลือกใช้สรรพนาม และระดับคำให้ถูกต้องเหมาะสมนั่นเอง

ปรากฏการณ์ "BTS" ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเกาหลีใต้ สร้างรายได้ปีละแสนล้านบาท

ความสำเร็จของ ‘BTS’ วงบอยแบนด์สัญชาติเกาหลี ไม่เพียงแต่สร้างชื่อเสียงให้วงการเคป๊อปบนเวทีโลกเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ประมาณปีละ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.6 แสนล้านบาท กระแสความนิยมของวง BTS สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจวงการท่องเที่ยว เพิ่มจำนวนผู้เรียนภาษาเกาหลี รวมถึงสร้างรายได้ด้านอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ แฟชั่น เครื่องสำอาง และอาหาร เป็นต้น

BTS ได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวเกาหลีใต้ พวกเขาคือวงเคป๊อปที่สร้างประวัติศาสตร์ มีผลงานเพลงครองอันดับ 1 บนชาร์ตเพลง Billboard Hot 100 และยังถือเป็นวงดนตรีที่ส่งอัลบั้มขึ้นอันดับ 1 ติดต่อกันถึง 4 ชุด นับจากวง The Beatles ที่เคยทำไว้เมื่อ 53 ปีก่อนเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ได้ทำงานร่วมกับองค์กรยูนิเซฟ (UNICEF) ผ่านแคมเปญ LOVE MYSELF เพื่อเด็กและเยาวชน รวมถึงการได้รับแต่งตั้งเป็นทูตพิเศษด้านวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ ได้รับเกียรติขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 76 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ : เฟซบุ๊ก BTS (방탄소년단)
ที่มาของภาพ : เฟซบุ๊ก BTS (방탄소년단)

บทบาทของพวกเขาไม่ได้จำกัดแค่สร้างความบันเทิงอย่างเดียว แต่ยังมีการสร้างสรรค์เนื้อหาบทเพลงที่ทันสมัย รณรงค์ประเด็นที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนทางสังคมในปัจจุบัน เช่น เรื่องความเท่าเทียม ปัญหาโลกร้อน ปัญหาสุขภาพจิตและโรคซึมเศร้า ปัญหาการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน รวมถึงส่งเสริมให้เยาวชนรักและเคารพตัวเอง กล้าที่จะทำตามความฝัน เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างการให้สัมภาษณ์รายการ Nightline ของสถานีโทรทัศน์ ABC News ที่สหรัฐอเมริกา 'คิม นัมจุน' หัวหน้าวง BTS ได้กล่าวสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ในฐานะที่มีแฟนคลับเป็นผู้หญิงจำนวนมาก 

"ช่วงปี 2015-2016 ผมเคยถูกวิจารณ์ว่าเขียนเพลงที่มีเนื้อหาเกลียดชังผู้หญิง ทำให้ผมต้องกลับไปทบทวนเนื้อเพลงอีกครั้ง รวมทั้งปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสตรีศึกษา ประสบการณ์ในครั้งนั้น นับเป็นโอกาสให้ผมได้สะท้อนและตั้งคำถามต่อความเพิกเฉยของตัวเอง ที่มีต่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ผมอยากจะปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นประเด็นที่ผมสนใจ อยากเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง"

รู้จัก 26 คำศัพท์เกาหลี พร้อมความหมาย ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษอ็อกซ์ฟอร์ด

คำศัพท์ภาษาเกาหลีจำนวน 26 คำศัพท์ ได้รับการบรรจุลงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford English Dictionary) ฉบับปรับปรุงใหม่ โดยให้เหตุผลว่าปัจจุบัน โลกกำลังอยู่ในคลื่นความนิยมเกาหลี คำศัพท์บางคำที่คนเกาหลีใช้สื่อสารกับชาวต่างชาติ ได้กลายเป็นคำทับศัพท์ที่ใช้กันในภาษาอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำที่มักได้ยินบ่อยๆ ในภาพยนตร์ ซีรีส์ รวมถึงรายการวาไรตี้ของศิลปินไอดอล ดังนี้

1. Aegyo (แอกโย่)
แปลว่า : การแสดงท่าทางน่ารักน่าเอ็นดู หรือการทำแอ๊บแบ๊ว

2. Banchan (บันชัน)
แปลว่า : เครื่องเคียงอาหารเกาหลี มักจัดเสิร์ฟในจานเล็กๆ พร้อมกับเมนูอาหาร

3. Bulgogi (บูลโกกิ)
แปลว่า : ชื่อเมนูอาหารเนื้อย่างผัดซอสเผ็ดสไตล์เกาหลี

4. Chimaek (ชิแม็ก)
แปลว่า : ไก่ทอดและเบียร์ เป็นหนึ่งในอาหารและเครื่องดื่มยอดนิยมของเกาหลี

5. Daebak (แทบัก)
แปลว่า : ยอดเยี่ยม, สุดยอด, เจ๋ง, ว้าว พูดในความหมายเชิงบวก หรือใช้ประชดประชันก็ได้เช่นกัน

6. Dongchimi (ดงชิมิ)
แปลว่า : กิมจิหัวผักกาดขาว มีลักษณะเป็นน้ำซุปใสๆ แตกต่างจากกิมจิผักดองสีแดงๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไป

7. Fighting (ไฟท์ติ้ง)
แปลว่า : สู้ๆ เป็นคำที่แสดงถึงการให้กำลังใจ 

8. Galbi (คาลบี้)
แปลว่า เมนูเนื้อซี่โครงย่าง 

9. Hallyu (ฮันรยู)
แปลว่า : การเผยแพร่กระแสคลื่นความนิยมวัฒนธรรมเกาหลีไปทั่วโลก 

10. Hanbok (ฮันบก)
แปลว่า : ชุดฮันบก เป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติของเกาหลี

11. Japchae (ฉับแช)
แปลว่า : ชื่อเมนูผัดวุ้นเส้นของเกาหลี

12. K- 
แปลว่า : การเติมตัวอักษร K ไว้หน้าคำศัพท์ เพื่อแสดงว่าสิ่งนั้นเป็นของเกาหลี เช่น K-Pop (เพลงป๊อปเกาหลี), K-food (อาหารเกาหลี) เป็นต้น

13. K-drama
แปลว่า : ซีรีส์เกาหลี

14. Kimbap (คิมบับ)
แปลว่า ข้าวห่อสาหร่าย เป็นชื่อเมนูอาหารของเกาหลีที่นำสาหร่ายมาห่อข้าว แล้วผสมเครื่องปรุงหลายชนิด

15. Konglish (คงกึลริชวี)
แปลว่า : คำทับศัพท์ หรือคำยืมในภาษาเกาหลี

16. Korean wave
แปลว่า : คลื่นกระแสความนิยมเกาหลี

17. Manhwa (มันฮวา)
แปลว่า : การ์ตูน ใช้เรียกทั้งหนังสือการ์ตูน และแอนิเมชัน

18. Mukbang (ม็อกบัง)
แปลว่า : การกินอาหารโชว์ผ่านออนไลน์

19. Noona (นูน่า)
แปลว่า : พี่สาว เป็นคำที่ผู้ชายเรียกผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า

20. Oppa (โอป้า)
แปลว่า : พี่ชาย เป็นคำที่ผู้หญิงเรียกผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 

21. PC bang (พีซีบัง)
แปลว่า : ร้านบริการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่และเกมของเกาหลี

22. Samgyeopsal (ซัมกยอบซัล)
แปลว่า : ชื่อเมนูหมูย่างเกาหลี 

23. Skinship (สกินชิพ)
แปลว่า : การสัมผัสร่างกาย เช่น การเดินจูงมือ ควงแขน อิงแอบแนบชิด

24. Tang soo do (ทังซูดู)
แปลว่า : คาราเต้ ศิลปะการต่อสู้ของเกาหลี

25. Trot (ทร็อต)
แปลว่า : ชื่อแนวเพลงบัลลาดดั้งเดิมของเกาหลี บ้างก็เรียกว่าเป็นเพลงลูกทุ่งเกาหลี

26. Unni (ออนนี่)
แปลว่า : พี่สาว เป็นคำที่ผู้หญิงเรียกผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า

การถอดบทเรียนความสำเร็จ K-Wave ตามแบบฉบับเกาหลีใต้ ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่ต้องอาศัยการวางแผนระยะยาว เปรียบเสมือนต้นกล้าที่ต้องหมั่นรดน้ำพรวนดิน ใช้เวลาหลายปีกว่าจะเติบโตงอกเงย เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตร่วมกันในวันข้างหน้า โดยมีรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนอย่างเข้มข้น นำไปสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดด

สุดท้ายนี้ ประเด็นสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้ก็คือ การปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ให้มีความเป็นสากล รัฐต้องเลิกมองว่า 'สื่อบันเทิง' คือความไร้สาระ แต่เป็นบ่อเกิดของแรงบันดาลใจ ที่สามารถช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้ประชาชนได้ เพื่อให้สื่อบันเทิงกลายเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สร้างรายได้ให้ประเทศในอนาคต

เรื่อง : Tatiya Kaewchan
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun

อ้างอิง