ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (Near-Earth asteroids-NEA) ที่อุดมด้วยโลหะนั้นหายาก ดังนั้น การปรากฏตัวของดาวเคราะห์น้อยชนิดนี้จึงกลายเป็นความหวังของมนุษย์ที่สักวันหนึ่งจะสามารถนำเอาแร่โลหะอย่างเหล็ก นิกเกิล และโคบอลต์ จากดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกเหล่านี้มาใช้บนโลกหรือในอวกาศ
ล่าสุด ทีมนักดาราศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยอริโซนาในสหรัฐอเมริกา เผยผลสำรวจดาวเคราะห์น้อยที่อุดมด้วยโลหะ 2 ดวงคือ 1986 DA และ 2016 ED85 เพื่อเรียนรู้เพิ่มเกี่ยวกับต้นกำเนิด องค์ประกอบ และความเชื่อมโยงกับอุกกาบาตที่พบบนโลก เนื่องจากเชื่อว่าดาวเคราะห์น้อยคู่นี้เกิดขึ้นเมื่อแกนกลางของดาวเคราะห์ที่กำลังเติบโตถูกทำลายในช่วงต้นประวัติศาสตร์ของระบบสุริยะ นักดาราศาสตร์พบว่าสัญญาณสเปกตรัมของ 1986 DA และ 2016 ED85 ค่อนข้างคล้ายกับดาวเคราะห์น้อยไซคี 16 (16 Psyche) ที่เป็นวัตถุอุดมโลหะขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ โคจรอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยหลักระหว่างวงโคจรดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ซึ่งดาวเคราะห์น้อยไซคี 16 ก็เป็นหนึ่งในภารกิจขององค์การนาซา
การวิเคราะห์ชี้ว่าพื้นผิวของ 1986 DA และ 2016 ED85 มีโลหะ 85% เช่น เหล็ก นิกเกิล ส่วนอีก 15% เป็นวัสดุซิลิเกต โดยพื้นฐานแล้วเป็นหิน ดาวเคราะห์น้อยคู่นี้คล้ายคลึงกับอุกกาบาตชนิด mesosiderites ที่ประกอบด้วยหินและเหล็กซึ่งพบในโลก นักดาราศาสตร์เชื่อว่าทั้งคู่เป็นชิ้นส่วนจากดาวเคราะห์น้อยที่เป็นโลหะขนาดใหญ่ในแถบหลัก แต่ไม่ได้มาจาก 16 Psyche และเป็นไปได้ว่าอุกกาบาตชนิด mesosiderites ที่พบบนโลกอาจมาจากบริเวณนั้นในระบบสุริยะด้วยเช่นกัน.
(ภาพประกอบ Credit : NASA)