น้ำท่วม 2564 ยังคงวิกฤติและต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างหนัก 

ไม่เพียงเท่านั้น มวลน้ำที่ไหลลงมาสู่พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กรุงเทพฯ เขตปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง ต้องติดตามสถานการณ์น้ำท่วม และหาทางป้องกันอุทกภัยอย่างเร่งด่วน

ไทยรัฐออนไลน์ ขอแนะนำ 10 วิธีเตรียมรับมือน้ำท่วมอย่างปลอดภัยด้วยตัวเอง พร้อมเบอร์โทรฉุกเฉินสำหรับขอความช่วยเหลือจากเหตุการณ์น้ำท่วม

10 วิธีรับมือน้ำท่วมอย่างปลอดภัย ควรเตรียมพร้อมอย่างไรบ้าง?

การเตรียมรับมือน้ำท่วม 2564 สามารถเริ่มทำได้ทันที หากพบว่าบ้านเรือนของเรา ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย หรือเป็นเส้นทางที่มวลน้ำกำลังจะไหลผ่าน การเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมด้วยตัวเอง จึงเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน 

1. ขนย้ายสิ่งของต่างๆ ขึ้นที่สูง รวมถึงย้ายทรัพย์สินมีค่าไปยังที่ปลอดภัย เพื่อให้พ้นจากระดับน้ำท่วม

2. กักตุนอาหารแห้งที่สามารถกินได้ง่ายๆ กักตุนน้ำสะอาดให้มากที่สุด สำหรับใช้ดื่มและอาบ

...

3. ชาร์จแบตเตอรี่สำรองไว้ให้เต็ม เผื่อเก็บไว้ใช้สื่อสารยามฉุกเฉิน หากโทรศัพท์แบตเตอรี่หมด

4. นำเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สูติบัตร ใบโฉนดที่ดิน สมุดบัญชีธนาคาร เอกสารใบประกันชีวิต เอกสารใบประกันสุขภาพ บัตรกดเงิน ฯลฯ ใส่ไว้ในซองพลาสติกปิดซีลกันน้ำ

5. รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในสถานการณ์น้ำท่วม หากกระแสไฟฟ้าถูกตัด หรือต้องหนีน้ำก็จะสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น ไฟฉาย เทียน ไม้ขีดไฟ ไฟแช็ก เชือก เสื้อชูชีพ นกหวีด รวมถึงยาสามัญประจำบ้าน 

6. เตรียมรองเท้าบูต หรือรองเท้ายาง มาใช้สวมใส่เดินในบ้าน ป้องกันการเหยียบเศษสิ่งของต่างๆ ที่ถูกพัดพามากับมวลน้ำ

7. สวมใส่เสื้อผ้าบางเบา กระชับ และระบายอากาศได้ดี เคลื่อนไหวได้คล่องตัว พยายามหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อตัวหนาๆ หรือกางเกงยีนส์ที่ดูดซับน้ำ เผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉินที่ต้องเดินลุยน้ำท่วม

8. บันทึกเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน เบอร์กู้ภัย เบอร์สายด่วน เบอร์เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และเบอร์โรงพยาบาล สำหรับโทรขอความช่วยเหลือในเหตุการณ์ฉุกเฉิน

9. นำเทปกาวมาแปะปิดช่องปลั๊กไฟในบ้าน เพื่อป้องกันปัญหากระแสไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าดูด และป้องกันไม่ให้โคลน เศษดิน แมลงตัวเล็กๆ เข้าไปยังช่องเสียบปลั๊กไฟเมื่อเกิดน้ำท่วม

10. หากมีกระแสมวลน้ำไหลเข้ามาในบ้าน อย่าลืมตัดระบบไฟฟ้าทั้งหมดในบ้าน ปิดการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงปิดอุปกรณ์แก๊สและเตาหุงต้มต่างๆ ให้เรียบร้อย

รวมเบอร์โทรฉุกเฉิน สายด่วนกู้ภัย ขอความช่วยเหลือภัยน้ำท่วม 

  • ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) พื้นที่กรุงเทพฯ โทร. 1111 กด 5
  • ศูนย์ความปลอดภัย กรมทางหลวงชนบท สอบถามเส้นทางน้ำท่วม โทร. 1146
  • สายด่วนแจ้งเตือนสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โทร. 1784
  • สายด่วนข้อมูลภัยพิบัติ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ICT) โทร. 192
  • เครือข่ายอาสาสมัครวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน โทร. 1677
  • กรมชลประทาน สอบถามข้อมูลน้ำในเขื่อน โทร. 1460
  • สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร. 1669

นอกเหนือการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือน้ำท่วมแล้ว ก็ควรติดตามข่าวสารจากแหล่งที่น่าเชื่อถืออย่างใกล้ชิด ดูแลบุตรหลานไม่ให้ลงเล่นน้ำ หากมีคำสั่งจากทางการให้อพยพไปยังที่ปลอดภัย ควรนำของจำเป็นติดตัวไปเท่านั้น และรีบเดินทางออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด

...