ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะปลุกปั้นบริษัทเกมออนไลน์เล็กๆให้แปลงร่างจากยูนิคอร์น กลายเป็นบริษัทเทคทรงอิทธิพลที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ที่ยากยิ่งกว่าคือทำยังไงจะรักษาความเป็น “บริษัทใหญ่แต่หัวใจสตาร์ตอัพ” ไว้ได้ ทั้งๆที่อาณาจักรธุรกิจของ “Sea Group” และ “Sea (ประเทศไทย)” สยายปีกเติบโตก้าวกระโดดไปไกลแล้ว ขึ้นแท่นเป็นบริษัทเทครวยที่สุดในอาเซียน หลังจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เมื่อปี 2017 โดยปัจจุบันมีมาร์เก็ตแคป 170,000-180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีพนักงานกระจายอยู่ทั่วโลกกว่า 30,000 คน

ในฐานะหัวเรือใหญ่นำทัพ “Sea (ประเทศไทย)” บุกตลาดเกมออนไลน์, ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และธุรกิจบริการทางการเงินดิจิทัลในเมืองไทย “นก–มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) บอกเล่าถึงเส้นทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม กว่าจะประสบความสำเร็จสร้างชื่อให้ “Garena” เป็นบริษัทเกมออนไลน์ยอดฮิตในไทย และปลุกปั้น “Shopee” ติดลมบนแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์เบอร์หนึ่งของอาเซียน พร้อมแบ่งปันประสบการณ์ทำยังไงจึงเก็บรักษาวัฒนธรรมสตาร์ตอัพไว้ในบริษัทใหญ่เบิ้มได้

“ปี 2014 นกเข้ามาร่วมงานกับ “Sea (ประเทศไทย)” ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อ “Garena (ประเทศไทย)” ในตำแหน่งประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการ ตามคำชวนของ “ฟอร์เรสต์ ลี” เพื่อนเรียนเอ็มบีเอที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง “Garena” บริษัทเกมสตาร์ตอัพสัญชาติสิงคโปร์ ถึงแม้เราจะเป็นประเทศสุดท้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ “การีนา” เข้ามา แต่เสียงตอบรับดีมาก เพราะคนไทยชอบเล่นเกม ตั้งแต่ปีแรกๆที่เข้าไทยเราก็มีฐานยูสเซอร์หลายสิบล้านคน
ตอนนั้นโจทย์ที่ได้คือ ทำยังไงให้คนไทยได้ลองเล่นเกมของ “การีนา” เราเลยบุกร้านอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศ เอาซอฟต์แวร์และสิทธิพิเศษต่างๆ ไปให้เขาใช้ เพื่อช่วยโปรโมตเกมเรา ขณะเดียวกันก็ทำคอนเทนต์เกมเป็นภาษาไทยเพื่อโลคัลไลซ์ให้เข้ากับคนเล่น รวมทั้งจัดอีเวนต์ให้คนเล่นเกมรวมตัวกัน สร้างคอมมูนิตี้ให้รู้สึกว่ามันเป็นมากกว่าเกม โดยเกมที่ประสบความสำเร็จมากคือ RoV ทีมของเราสังเกตจากพฤติกรรมการเล่นเกมของคนไทย ส่วนใหญ่ไม่ชอบอยู่คนเดียว ชอบการมีสังคม เราเลยใช้จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเกมใหม่ ถ้าถามว่าอะไรคือจุดร่วมที่ทำให้เกมของเราประสบความสำเร็จ ก็คือคอนเทนต์ที่มีความต่อเนื่อง มีสิ่งใหม่ให้อัปเดตเรื่อยๆ ทำให้คนเล่นสามารถขยายคอมมูนิตี้เรื่อยๆ”

...

ยุคนั้นอะไรคืออุปสรรคใหญ่ในการบุกเบิกตลาดเกมออนไลน์ในไทย

เราเริ่มธุรกิจจากการให้บริการเกมออนไลน์บน PC ต่อมาจึงขยายสู่บริการบนมือถือ อุปสรรคตอนแรกคือคนไทยส่วนใหญ่มองธุรกิจเกมในแง่ลบ ยังไม่เข้าใจว่าจะเป็นอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้ยังไง ทั้งๆที่ตลาดอเมริกาและยุโรปให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเกมออนไลน์ เพราะเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง ต้องใช้ทักษะและเทคโนโลยีเยอะในการพัฒนา

“การีนา” มีส่วนแค่ไหนในการผลักดันเด็กไทยให้พัฒนาไปสู่อาชีพนักกีฬาอีสปอร์ต

เราเริ่มผลักดันตั้งแต่วันแรกที่เข้าไทย จัดอีเวนต์คัดเลือกตัวแทนจากทีมไทยไปแข่งระดับโลก แต่ปีทองของอีสปอร์ตคือ ปี 2017 เมื่อสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ประกาศให้ “E-Sports” ได้รับการบรรจุเป็นกีฬาอย่างเป็นทางการในเอเชียนเกมส์ 2022 ทำให้อีสปอร์ตได้รับการยอมรับมากขึ้นในไทย ตอนนี้เพอร์เซปชันสังคมไทยที่มีต่อธุรกิจเกมเปลี่ยนไปมาก สมัยก่อนพาร์ตเนอร์ธุรกิจไม่อยากเอาตัวเองเข้ามาผูกกับธุรกิจเกม แต่ทุกวันนี้หลายธุรกิจมองว่าเกมออนไลน์คือช่องทางสำคัญในการเข้าหากลุ่มคนรุ่นใหม่ เริ่มมีธุรกิจหลากหลายมาสปอนเซอร์การแข่งเกม นอกจากนี้ธุรกิจเกมยังเข้าไปมีบทบาทในภาคการศึกษามา 4-5 ปีแล้ว เราใช้เกมเป็นเครื่องมือดึงดูดความสนใจเพื่อสร้างทักษะด้านดิจิทัลให้น้องๆเยาวชน การพัฒนาเกมแต่ละเกมต้องอาศัยทักษะดิจิทัลหลายอย่างที่เป็นอาชีพแห่งอนาคต ทั้งกราฟิกดีไซน์, แอนิเมชัน และการเขียนโคดดิ้งเราเซ็นเอ็มโอยูกับหลายมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนเรื่องเหล่านี้

...

จากธุรกิจเกมต่อยอดไปยังการเงินดิจิทัลได้อย่างไร

เราตั้งเป้าว่าจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้ชีวิตคนดีขึ้นสะดวกสบายมากขึ้น เมื่อเห็นช่องโหว่เรื่องการเติมเงินเล่นเกม จึงเริ่มทำ “AirPay” ในเมืองไทย (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “ShopeePay”) เพื่อให้สามารถเติมเงินในเกม, เติมเงินมือถือ, เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ใช้ชำระเงินตามเคาน์เตอร์ในร้านค้าต่างๆทั่วประเทศ และสามารถชำระบิลค่าบริการสาธารณูปโภคทุกอย่าง รวมถึงซื้อตั๋วหนังและตั๋วเครื่องบิน ก่อนจะขยายมาให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อส่งเสริมประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบง่ายขึ้น ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินออนไลน์ “SeaMoney” ความยากคือทำยังไงให้คนไทยเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆยอมใช้จ่ายเงินผ่านทางออนไลน์ ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน คนไทยไม่เข้าใจคำว่าสังคมไร้เงินสด แม้แต่คนที่มีการศึกษาก็คิดหนักเวลาจะให้ข้อมูลบัตรทางออนไลน์ กระทั่งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนอี-เพย์เมนต์มากขึ้น และยิ่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 ทุกอย่างถูกล็อกดาวน์ คนไทยยิ่งตอบรับเรื่องนี้เร็วมาก

...

จริงไหม “Shopee” คือแจ็กผู้ฆ่ายักษ์ที่จะมาทำลายอุตสาหกรรมค้าปลีกเมืองไทย

ตอนที่เราทำ “Shopee” เมื่อปี 2015 ตลาดอี-คอมเมิร์ซในจีนกำลังบูมมาก เราคิดว่าตลาดไทยน่าจะไล่ตามจีนอยู่ 5 ปี จึงตัดสินใจลุยสร้างแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ที่ง่าย ปลอดภัย และรวดเร็ว โดยระบบการจ่ายเงินต้องรัดกุม แต่จากวันนั้นจนวันนี้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทยยังเป็นธุรกิจเผาเงินแบกขาดทุน!! เราคงทำลายใครไม่ได้อยู่แล้ว เพียงแค่เชื่อว่าอี-คอมเมิร์ซจะเข้ามาช่วยเติมเต็มไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่มีความเป็นดิจิทัลมากกว่า ปัจจุบันอี-คอมเมิร์ซไทยเพิ่งได้มาร์เก็ตแชร์ 8-10% ขณะที่อี-คอมเมิร์ซในจีนโตไป 50% และเกาหลีโต 29% แต่เราก็ต้องยอมลงทุนเพื่ออนาคต ถ้าพูดถึงจุดแข็งของ “Shopee” คือเป็นโมบายเซ็นทริค ทุกการออกแบบจะเน้นไปที่ผู้ใช้มือถือ นอกจากนี้ยังใส่ความเป็นโลคัลไลซ์ให้เข้ากับคนไทย เรามีฟีเจอร์ที่เข้ามาตอบปัญหาและแก้ปัญหาความปลอดภัย มี “Shopee Guarantee” ให้จ่ายเงินหลังได้รับสินค้า มีกล่องเมสเสจให้ผู้ซื้อกับผู้ขายสามารถคุยกัน และจัดเวิร์กช็อปเอาผู้ขายเก่งๆมาแชร์เทคนิคการขายออนไลน์

...

ในฐานะซีอีโอบริษัทเทค มีเคล็ดลับบริหารองค์กรอย่างไรไม่ให้เป็นยักษ์หลับ

แม้วันนี้บริษัทเราจะใหญ่ขึ้นมาก มีพนักงานทั่วโลกรวมกันกว่า 30,000 คน และในไทยมีอยู่ 7,000 คน แต่เราก็พยายามรักษาวัฒนธรรมความเป็นสตาร์ตอัพ และวิธีการทำงานแบบ “Agile” ลดขั้นตอนและงานเอกสาร แต่มุ่งเน้นเรื่องการสื่อสารกันในทีมมากขึ้น เพื่อช่วยให้งานเดินหน้าได้เร็วขึ้น องค์กรยุคใหม่ต้องคิดเร็วทำเร็วปรับตัวให้เร็ว บริษัทเราอายุเพิ่ง 10 กว่าปี เรายังต้องปรับโครงสร้างองค์กรอีกเยอะ และพัฒนาน้องๆให้เติบโตไปกับธุรกิจของบริษัทมากขึ้น นกเชื่อในเรื่องสปิริตความเป็นอองเทอเพอเนอร์ และความเป็นสตาร์ตอัพ จะให้โอกาสน้องๆทุกคนได้แสดงผลงานสร้างตัวเอง จะบอกน้องๆว่าแต่ละโปรเจกต์ที่ทำก็คือโปรเจกต์ของคุณ เราอยากให้เขารันด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าของโปรเจกต์จริงๆ นกคุยแค่ว่าอยากได้ไดเรกชันยังไง ส่วนวิธีการไปสู่เป้าหมายให้อิสระคิดกันเอง ขณะเดียวกัน ก็มีกรอบใหญ่ที่ทุกคนจะต้องเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน วิธีการนี้เหมาะกับพนักงานเรา ซึ่ง 90% เป็นคนเจน Z และเจน Y

อะไรคือหัวใจสำคัญของการสร้างทีมที่ดีในวงการเทค

การสร้างทีมที่ดี ไม่ใช่การหาคนเก่งๆมารวมกัน แต่เป็นการหาคนที่ใช่มารวมตัวกัน ซึ่งคนที่ใช่สำหรับนก คือคนที่เราบอกเขาว่าจะไปจุดนี้ แล้วเขามองเห็นเป้าหมายเดียวกับเรา ส่วนจะเดินไปแบบไหนก็แล้วแต่ สุดท้ายค่อยไปเจอกันที่ปลายทาง คนเก่งแค่ไหนก็หาได้ แต่ถ้ามองไม่เห็นไดเรกชันเดียวกัน เข้ามาก็ไม่สามารถทำงานด้วยกันได้ มีเยอะที่อยู่กับเราตั้งแต่เรียนจบ และพัฒนาตัวเองจนขึ้นเป็นเมเนเจอร์ดูแลยูนิตต่างๆ ทั้งที่อายุเพิ่ง 30 ต้นๆ เราให้เวทีให้โอกาสทุกคนเต็มที่ นกเชื่อมากๆเรื่องการเปิดใจกว้าง จะพูดเสมอว่าถ้าน้องอยากโตอยากเก่งก็ต้องโอเพ่นมายด์ เช่นเดียวกับพี่ๆต้องเปิดใจกว้างรับฟังน้องๆ ไม่ใช่บล็อกวิธีทำงานให้เป็นแบบเราตลอดเวลา บริษัทก็จะโตไม่ได้

หลังยุคโควิด–19 อนาคตของธุรกิจเทคจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร

โควิดจะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคถาวร จะมีการใช้ดาต้าเข้ามาต่อยอดธุรกิจมากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงออนไลน์กับออฟไลน์เข้าหากัน อีกเทรนด์อนาคตคือ เราจะเห็นการเพอร์ซันแนลไลเซชันมากขึ้น ยูสเซอร์จะโดนสปอยล์เยอะขึ้น ถ้าแบรนด์ไหนคัสตอมไมซ์ได้ก็จะได้ยูสเซอร์เพิ่มขึ้น สมัยก่อนเราอาจไปร้านที่บริการดี หรือราคาดี ต่อไปพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนเป็นว่า ร้านไหนรู้จักฉันมากกว่ากัน ฉันจะไปอุดหนุนร้านนั้น

รู้สึกยังไงที่การดิสรัปชันของเทคโนโลยี ถูกมองเป็นภัยคุกคามสำหรับหลายอุตสาหกรรม

เทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาทำลายอุตสาหกรรม แต่เข้ามาดิสรัปต์เพื่อทำให้ภาพรวมของหลายอุตสาหกรรมพัฒนาดีขึ้น เช่น ตอนที่ “อี-วอลเล็ต” เข้าไทยใหม่ๆ ทุกคนก็มองว่าเราจะเข้ามาทำลายอุตสาหกรรมธนาคาร แต่ในความจริงเราไม่มีทางแทนที่ธนาคารได้ ยังมีอีกหลายอย่างมากที่ธนาคารทำได้แต่บริษัทเทคทำไม่ได้ เพียงแต่โครงสร้างที่ใหญ่ของธนาคารทำให้ขยับตัวไม่เร็วเท่าบริษัทที่เริ่มจากสตาร์ตอัพ ในฐานะดิจิทัลคอมพานี นกคิดเสมอว่าทำยังไงจะมีส่วนในการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นดิจิทัลเนชันเต็มตัว ทำยังไงจะทำให้คนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียมกัน บริการของเราจึงพยายามให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้คนที่อยู่ต่างจังหวัดก็สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้เต็มที่ แม้กระทั่งธุรกิจเกม เราก็ร่วมกับภาคการศึกษาเพื่อสร้างอาชีพให้คนวงการเกม รวมถึงในช่วงวิกฤติโควิด “Shopee” เข้าไปจับมือกับภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้งานชาวไทยที่ได้รับผลกระทบ ผ่านโครงการ “ShopeeTogether รวมพลัง สู้ไปด้วยกัน” และ “ช้อปปี้ช่วยเปย์” ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ส่งเสริมให้เกิดสภาพคล่องแก่ผู้ใช้งานชาวไทย และกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ มาถึงวันนี้คำถามที่ต้องตอบให้ได้คือจะใช้เทคโนโลยียังไงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากขึ้น และเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกัน.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ