รู้หรือไม่ ปี 2565/2022 มีโอกาสได้ใช้ “วัคซีนโควิดโดยคนไทย” ลุ้น 2 วัคซีนแรกที่คาดขึ้นทะเบียนช่วงเมษายน 2565 หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการผลิตและเตรียมให้หน่วยงานต่างๆ สั่งจองช่วงกลางปี นวัตกรรมนี้จะเป็นเพียง “ความฝัน” หรือ “ความจริง” ต้องมาลุ้นกันว่าวัคซีนไทยตัวแรกที่จะสำเร็จ คือวัคซีนใด
วัคซีนโควิดไทยจาก 2 หน่วยงานที่น่าจับตามอง คือ “ChulaCov19” โดยศูนย์วัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “NDV-HXP-S” จากองค์การเภสัชฯ ร่วมกับศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ว่าเจ้าใดจะได้ขึ้นทะเบียนก่อน แต่ก็เป็นความหวังของคนไทยว่าปี 2565/2022 เราจะได้ใช้วัคซีนสายเลือดไทย
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Covid19.trackvaccines.org ที่รวบรวมการรับรองวัคซีนทั่วโลก พบว่ามีวัคซีน 452 ผู้ผลิต ที่กำลังอยู่ในช่วงทดสอบ และมีเพียง 7 ผู้ผลิตเท่านั้น ที่ได้รับการรับรองจาก WHO ได้แก่ วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna), วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer/BioNTech), วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Janssen Johnson & Johnson), วัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca), วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm Beijing), วัคซีนซิโนแวค (Sinovac CoronaVac) และวัคซีนโควิชีลด์ (Covishield)
7 วัคซีนที่รับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)
...
ข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน 2564 วัคซีนไทย 2 ตัว ที่ปรากฏชื่ออยู่บน Covid19.trackvaccines.org คือ ChulaCov19 และ NDV-HXP-S นี้ ก็มีความคืบหน้าของรายงานที่นำขึ้นเว็บไซต์ ดังนี้
ChulaCov19 (mRNA Vaccine)
ผู้พัฒนาหลัก : คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม
ChulaCov19 เป็นวัคซีนโควิดที่ออกแบบด้วยการถอดรหัสพันธุกรรม mRNA จากโปรตีนตุ่มหนามของเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 ได้ด้วยฝีมือนักวิจัยไทย จุดเด่นของวัคซีน ChulaCov19 คือเป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี mRNA ที่สามารถผลิตได้เร็ว ทันกับเหตุการณ์สายพันธุ์กลายพันธุ์ในอนาคตโดยที่ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ และปรับแต่งวัคซีนต้นแบบได้เมื่อทราบรหัสพันธุกรรมของเชื้อสายพันธุ์กลายพันธุ์ และจากการทดลองในสัตว์ทดลอง พบว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ทั้งการยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด และมีความปลอดภัยสูง ในหนูทดลองที่ออกแบบมาชนิดพิเศษ
ขณะเดียวกันเรื่องการจัดเก็บรักษาวัคซีน ChulaCov19 ก็สอดคล้องกับสภาพอากาศ เมื่อต้องขนส่งในบ้านเรา ทางทีมวิจัยพบว่าวัคซีน ChulaCov19 นี้ อยู่ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้นาน 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียสได้นาน 2 สัปดาห์ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการจัดเก็บ และบริหารวัคซีน
รายงานความคืบหน้าการพัฒนา ChulaCov19 วัคซีนโควิด-19 โดยศูนย์วัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังอยู่ในระหว่างการสรุปผลทางคลินิกระยะที่ 1/2 (ความหมาย คือ การทดสอบหาขนาดที่ปลอดภัยในการใช้กับมนุษย์ โดยเพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่างทดสอบที่มากกว่าระยะที่ 1) จากกลุ่มตัวอย่างคนไทย 96 คน คาดว่าจะทราบผลการศึกษาในเดือนกันยายน 2564/2021 (อ้างอิง NCT04566276)
NDV-HXP-S (Inactivated Vaccine)
ผู้พัฒนาหลัก : มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) หัวหน้าโครงการวิจัย ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม
NDV-HXP-S เป็นวัคซีนโควิดชนิดเชื้อตาย โดยสามารถเพิ่มจำนวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ในโรงงานขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) เนื่องจากใช้เทคโนโลยีเดียวกับการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่มีโรงงานเดิมอยู่แล้ว ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานใหม่ และได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตวัคซีนจากประเทศเวียดนามและบราซิลจึงได้ทำการทดสอบกับประชากรบราซิลในขนาดประชากรที่มากขึ้น มีโอกาสที่จะพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้จำหน่ายในอนาคต
รายงานความคืบหน้าการพัฒนา NDV-HXP-S วัคซีนโควิด-19 โดย ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กำลังอยู่ในขั้นตอนเก็บข้อมูลทางคลินิกระยะที่ 1/2 จากกลุ่มตัวอย่างคนไทย 460 คน คาดว่าจะทราบผลขั้นต้นในเดือนเมษายน 2565/2022 (อ้างอิง NCT04764422)
...
นอกจากนี้ยังมีการทดสอบทางคลินิกในประชากรบราซิล 5,394 คน โดยสถาบันบูตันตัน (Butantan Institute) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและผู้ผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ สถาบันนี้ตั้งอยู่ที่รัฐเซาเปาโล ประเทศบราซิล คาดจะทราบผลทางคลินิกขั้นต้นในเดือนเมษายน 2566/2023 และสรุปผลได้ในเดือนกันยายน 2566/2023 (อ้างอิง NCT04993209)
...
นอกจาก ChulaCov19 กับ NDV-HXP-S แล้วยังมีวัคซีนไทยที่กำลังอยู่ในขั้นวิจัยอีกหลายวัคซีน ได้แก่
1. วัคซีนโควิเจน ชนิด DNA พัฒนาโดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด
โควิเจน เป็นวัคซีนโควิดชนิด DNA จากฝั่งเอกชน โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ที่กำลังทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ในประเทศออสเตรเลีย สำหรับประเทศไทยมีขั้นตอนอยู่ในระหว่างการยื่นขออนุมัติกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ภายในเดือนตุลาคม 2564
2. วัคซีน BAIYA ชนิด Protein Subunit พัฒนาโดยบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด
วัคซีนใบยา หรือ BAIYA เป็นวัคซีนโควิดชนิด Protein Subunit ผู้พัฒนาหลักคือ บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยก่อนหน้านี้ได้เปิดสมทบทุนร่วมบริจาคกับ CUEnterprise เพื่อหาทุนพัฒนาวัคซีน วัคซีนใบยา Generation 1 วางแผนเริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ในเดือนกันยายน 2564 ส่วน วัคซีนใบยา Generation 2 เตรียมการผลิตเพื่อดำเนินการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 ในเดือนธันวาคม 2564
3. วัคซีนพ่นจมูก Adenovirus พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
สวทช. วิจัยและคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น 1. วัคซีนประเภท Virus-like particle (VLP) 2. วัคซีนประเภท Influenza-based และ 3. วัคซีนประเภท Adenovirus vector-based ซึ่งวัคซีนประเภท Adenovirus vector-based นี้ผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลองและ สวทช.ผลักดันให้เป็นวัคซีนต้นแบบเพื่อทดสอบระยะคลินิกที่ 1 คาดว่าจะได้ทดสอบในมนุษย์ปลายปี 2564 ขึ้นอยู่กับการได้รับอนุมัติการทดสอบประสิทธิภาพจาก อย. และคาดว่าจะทดสอบเฟส 2 ต่อเนื่องได้ในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อผลิตใช้ในกลางปี 2565 อีกด้วย
...
วัคซีนไทย จะได้ใช้เร็วสุดเมื่อไหร่
เมื่อพิจารณาข้อมูลจากภาพรวมแล้ว ChulaCov19 กับ NDV-HXP-S มีโอกาสได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. ได้เร็วที่สุด ไม่เกินช่วงต้นปี 2565 แต่วัคซีนใดจะได้ผลิตออกมาได้ใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมได้ก่อนนั้น ทั้งสองวัคซีนก็กำลังเตรียมความพร้อม ด้าน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์ใน MDCU Podcast ว่า ChulaCov19 กำลังเตรียมความพร้อมรายงานผลเฟส 2 และเตรียมเข้าสู่เฟส 3 และคาดว่าจะมีวัคซีนไทยที่พัฒนาโดยคนไทยสักอย่างน้อย 1 เทคโนโลยีแพลตฟอร์ม ได้ขึ้นทะเบียนในช่วงเดือนเมษายน 2565/2022 ในส่วน ChulaCov19 เอง ได้เตรียมจดทะเบียนบริษัทในรูปแบบองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Social Enterprise) เพื่อรองรับการจัดซื้อในประเทศ และประเทศอื่นๆ ใกล้เคียงไว้ด้วย
คนไทยหลายคนยังรอคอยวัคซีนที่พัฒนาโดยคนไทย ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานกับกลุ่มตัวอย่างประชากรไทยด้วยกันเอง เพราะส่วนหนึ่งเชื่อว่าสภาพอากาศ การใช้ชีวิต อาการการกิน มีผลตอบสนองต่อยา หากโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นที่ต้องฉีดวัคซีนประจำปีเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ การมี “วัคซีนไทย” เพื่อป้องกันโรคนี้ และโรคอื่นๆ ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่าย และช่วยให้การบริหารวัคซีนคล่องตัวได้มากขึ้น
ผู้เขียน : สีวิกา ฉายาวรเดช
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun, Varanya Phae-araya และ Anon Chantanan
อ้างอิง :
1. 2 Vaccines in Clinical Trials in Thailand. : https://covid19.trackvaccines.org/country/thailand/. [สืบค้น 29 ก.ย. 64]
2. อว. เผยความก้าวหน้าของการวิจัยวัคซีนโควิด 19 โดยนักวิจัยไทยความคาดหวังของประเทศ, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม : https://www.mhesi.go.th/index.php/content_page/item/4228-168641.html [เผยแพร่ 15 ส.ค. 2564]
3. ไบโอเทค สวทช. พัฒนาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 แบบพ่นจมูก, สวทช. : https://www.nstda.or.th/home/news_post/adenovirus-based [เผยแพร่ 9 ส.ค. 2564]