BCG Model โมเดลธุรกิจในยุคนิวนอร์มอล ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในหลายวาระของการประชุม โดยเฉพาะการเป็นส่วนหนึ่งในกรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยโมเดล BCG ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

ล่าสุด สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (Expert Center of Innovative Agriculture: InnoAg) หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ วว. ได้ดำเนิน “โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล” ในปีงบประมาณ 2564 เพื่อยกระดับการผลิตพืชรูปแบบเกษตรสมัยใหม่ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีการใช้สารชีวภัณฑ์เป็นตัวตั้งต้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกระบวนการผลิต ลดปัญหาสุขภาพของเกษตรกร และลดผลกระทบต่อสิ่ง แวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิตตามแนวทาง BCG โมเดล พัฒนาให้เกิดการทำเกษตรแบบปลอดภัยยั่งยืนแข่งขันได้ในระดับโลก

...

การดำเนินการที่สำคัญ คือ การขับเคลื่อน BCG โมเดลใน 4 จังหวัดภาคกลางตะวันตกเป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 10,650,074 ไร่ 3 กลุ่มสินค้าเกษตร ทั้งพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก รวม 7 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง กล้วย ส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม และมะนาว

จากการสำรวจและวิจัยในเบื้องต้น พบว่าเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประสบปัญหาคล้ายๆกัน โดยปัญหาหลักของเกษตรกรในพื้นที่มาจาก 3 ปัจจัย คือ ปัญหาด้านปัจจัยและฐานทรัพยากรการผลิต-ที่ดินทำกิน การเข้าถึงทรัพยากรน้ำ เกษตรกรรายย่อยขาดศักยภาพการผลิต, ปัญหาเรื่องสุขภาวะของผู้ผลิตและผู้บริโภค-เกิดการตกค้างในสภาพแวดล้อม ในดิน รวมถึงตกค้างในผลผลิต ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ถูกต้อง และปัญหาด้านการตลาด-ปัญหาการส่งออกพืชผลทางการเกษตร ราคาผลผลิตตกต่ำ

การแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมคือทางออกที่ชัดเจนที่สุด ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (Innovative Center for Production Industry microorganisms: ICPIM) ที่จัดตั้งโดย วว. จึงได้พัฒนาโพรไบโอติก หรือชีวจุลินทรีย์ 15 สายพันธุ์ จาก 24 สายพันธุ์ โดยการนำความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ที่ถูกจัดเก็บอยู่ในคลังหัวเชื้อกว่า 10,000 ชนิด มาพัฒนาขยายผลในระดับห้องปฏิบัติการ ด้วยกระบวนการคัดสรร จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร พัฒนาให้เป็นโพรไบโอติกคุณภาพสูง และเป็นสายพันธุ์ที่โดดเด่น ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร อาหารเสริม และเสริมความงามทั่วโลก

ปัจจุบันโพรไบโอติกสัญชาติไทยเป็นที่ยอมรับในวงการอุตสาหกรรมที่หลากหลาย โดยในแต่ละปี ทั่วโลกมีมูลค่าการใช้จุลินทรีย์มากกว่า 62,000 ล้านบาท สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมาจำเป็นต้องนำเข้าจุลินทรีย์จากต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเป็นมูลค่ามากกว่า 300 ล้านบาท แต่ด้วยการพัฒนาจุลินทรีย์ เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในประเทศในเชิงพาณิชย์เองได้ จะสามารถชดเชยมูลค่าการนำเข้าได้ถึง 20-30% และภายใน 5-7 ปี จะชดเชยได้ถึง 100% เพื่อความมั่นคงเข้มแข็งของผู้ประกอบการและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

สำหรับโพรไบโอติกเป็นจุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็กซึ่งจัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี สามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ ซุปมิโซะ เป็นต้น โดยเป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิตที่มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง สามารถจับที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้และผลิตสารต่อต้าน หรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น รวมถึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพได้

จุลินทรีย์โพรไบโอติกเป็นสิ่งที่มีอยู่ในร่างกายคนมาตั้งแต่เกิดแต่จะลดจำนวนและปริมาณลงไปเรื่อยๆตามวัย และการดำรงชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป เช่น รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ เราจึงควรที่จะเติมจุลินทรีย์ตัวนี้เข้าไปเพื่อเพิ่มความสมดุล เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย.

...