การเปิดตัวเกม Piggy Run ของ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection) เมื่อไม่นานมานี้ แม้จะเป็นเพียงแค่เกม แต่สัญญะของการบอกกล่าวกลับเป็นเรื่องการชักชวนให้ผู้คนในโลกเห็นความสำคัญของการยกระดับสวัสดิภาพของเหล่าสัตว์น้อยใหญ่ ทั้งไก่ หมู วัว ในฟาร์มอุตสาหกรรมที่ยังต้องทนทุกข์ทรมานจากวิธีการเลี้ยงอันน่าสะพรึงกลัว ไม่ว่าจะเป็นการใช้กรงขังคอกทั้งชีวิต หรือการตัดตอนอวัยวะอย่างเจ็บปวด รวมไปถึงการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาลในสัตว์ ซึ่งนำไปสู่การเกิดวิกฤติเชื้อดื้อยาที่เป็นปัญหาใหญ่ในโลก ไม่ใช่แค่สัตว์แต่ยังลามมาถึงมนุษย์ในระบบห่วงโซ่อาหารด้วย

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก บอกว่า Piggy Run เป็นการจำลองให้เห็นว่าสัตว์ในฟาร์มต้องเจออะไรบ้าง โดยการบอกเล่าผ่านหมูน้อย Piggy ที่ผู้เล่นต้องเผชิญความท้าทายด้วยการขยับหัวเพื่อช่วยให้หมูรอดจากภัยต่างๆ สถานการณ์ในเกมจำลองมาจากปัญหาการเลี้ยงหมูในฟาร์มอุตสาหกรรมที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะแบบเกินความจำเป็น

...

เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกมานานกว่าทศวรรษ ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 38,000 ราย หรือราว 1 คนในทุกๆ 15 นาที

มีข้อมูลว่า ในปี 2558 ปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เพื่อเป็นอาหารของทั่วโลกนั้นมีปริมาณมากถึง 57 ล้านกิโลกรัม โดยพบว่ายาปฏิชีวนะถูกใช้ไปกับปศุสัตว์มากกว่ามนุษย์ เช่น ในสหรัฐอเมริกา 70% ของยาปฏิชีวนะประเภทเดียวกับที่ใช้รักษาโรคสำคัญในมนุษย์ถูกใช้ไปกับสัตว์ เช่นเดียวกับในประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเผยว่า ปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์อยู่ที่ 4,688,000 กิโลกรัม (ในคนอยู่ที่ 2,162,000 กิโลกรัม) แต่ที่ยังไม่รู้ก็คือปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะเหล่านี้มีการตกค้างในสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน เพราะยาปฏิชีวนะสามารถเล็ดลอดรั่วไหลจากระบบการผลิตอาหารลงสู่ดินและแหล่งน้ำ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อม ทำลายระบบนิเวศอันเปราะบางของจุลชีพ

ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในสัตว์ หากใช้อย่างไม่ถูกวิธีสามารถตกค้างในระบบทางเดินอาหารของสัตว์และขับถ่ายออกมาทางมูล มูลสัตว์เป็นแหล่งที่มาสำคัญของการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการนำเอามูลสัตว์มาใช้เป็นปุ๋ย หรือการชำระล้างโรงเรือนหรือกระบวนการของโรงฆ่าสัตว์ที่มีส่วนทำให้แบคทีเรียดื้อยาที่อาศัยในทางเดินอาหารเล็ดลอดออกมาสู่ดินและแหล่งน้ำได้ หรือแม้แต่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของคนที่สัมผัสโดยตรง

รายงานที่ศึกษาโดย University of York สหราชอาณาจักร ได้ทดสอบการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในแหล่งน้ำ 711 สายทั่วโลก ใน 72 ประเทศ พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะมากถึง 65% ของแหล่งน้ำที่ทดสอบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือแม่น้ำเจ้าพระยา

ขณะที่รายงานจากองค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration-FDA) เมื่อปี 2554 เผยว่า การใช้ยาปฏิชีวนะที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของคนนั้น ถูกนำไปผสมในอาหารสัตว์และน้ำในการเลี้ยงสัตว์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA, 2011) โดยองค์กร Review on Antimicrobial Resistance ที่ตรวจสอบและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานยาปฏิชีวนะได้เผยข้อมูลในรายงาน Antimicrobials in Agriculture and the Environment : Reducing Unnescessary Use and Waste เมื่อปี 2558 ว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า 75-90% ของประเภทยาปฏิชีวนะทั้งหมด มีการตรวจพบว่าไม่ได้ถูกดูดซึมในตัวสัตว์ และมีการเล็ดลอดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะผ่านการปล่อยน้ำเสีย หรือการนำมูลสัตว์ไปใช้เป็นปุ๋ยสำหรับพืชผักต่อ

...

ทั้งนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) และองค์การอนามัยโลก WHO ก็ยังระบุถึงความจำเป็น เร่งด่วน ในการจัดการกับปัญหาเชื้อดื้อยาตั้งแต่ต้นทางก่อนที่จะเป็นวิกฤติ เพราะภัยจากเชื้อดื้อยากำลังกลายเป็นวิกฤติที่เป็นปัญหาสุขภาพระดับโลก และหนึ่งในสาเหตุที่ทวีความรุนแรงของปัญหาคือการใช้ยาปฏิชีวนะในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทุกวันนี้แบคทีเรียไม่ใช่ภัยร้าย แต่ที่ร้ายคือเชื้อดื้อยา การลดและควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์อย่างไม่ถูกต้องให้ได้มากที่สุดจึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องดำเนินการก่อนที่จะเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจของปรเทศ