จากซีพี นพ.ชัยยศ เด่นอริยะกูล รับมอบเงินจำนวน 1,551,928 บาท จากโครงการ “ซีพีร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด–19” เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อถังก๊าซออกซิเจนเหลวพร้อมฐานราก โดยมี วรวิทย์ เจนธนากุล และ สมวุฒิ เหราบัตย์ เป็นตัวแทนมอบ ที่อาคาร ซี.พี. ทาวเวอร์ สีลม วันก่อน.
พิสูจน์ม้าด้วยระยะทางพิสูจน์คนที่ผลงาน..........หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ยักษ์ใหญ่สารพัดสี จำหน่ายมากที่สุดของประเทศ ฉบับประจำวันเสาร์ที่ 25 กันยายน 2564....
“ธนูเทพ” ประจำการรับใช้ท่านผู้อ่าน...ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกยังเผชิญการแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด–19 ถึงแม้หลายประเทศจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันให้แก่ประชากรเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สามารถยับยั้งโรคระบาดครั้งนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในขณะเดียวกันสถานการณ์โควิดยังพ่นพิษฉุด เศรษฐกิจโลกตกต่ำ ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าทุกประเทศ...เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ในเวทีการประชุม สุดยอดว่าด้วยการยุติการแพร่ระบาดของโควิด–19 และการฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เป็นระบบการประชุมทางไกล โดยมี โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นประธานการประชุม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้าร่วมประชุมด้วย...ทั้งนี้ นายกฯประยุทธ์ ได้กล่าวต่อที่ประชุมแสดงความเชื่อมั่นในความร่วมมือเพื่อยุติการแพร่ระบาดของ โควิด–19 และเตรียมพร้อมสำหรับภัยคุกคามทางสุขภาพในอนาคต โดย รัฐบาลไทย ได้ร่วมดำเนินการตามเป้าหมาย กำหนดให้การฉีดวัคซีนเป็น วาระแห่งชาติ ครอบคลุมประชาชน ร้อยละ 70 ภายในปีนี้ พร้อมลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตวัคซีนภายในประเทศ สนับสนุนการเพิ่มกำลังการผลิตเวชภัณฑ์และวัสดุการแพทย์ และเห็นด้วยกับการสร้างความเข้มแข็งในการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อโรคระบาดในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับสากล รวมทั้งสนับสนุน องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำลังจัดทำตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยโรคระบาด ที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้สอดคล้องกับกฎอนามัยระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น
...
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายกฯประยุทธ์ ยังได้เข้าร่วม การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 76 และ การประชุมที่เกี่ยวข้อง แบบทางไกล โดยร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมที่สำคัญ ระหว่างวันที่ 23-25 ก.ย. ได้แก่ การประชุมสุดยอดว่าด้วยระบบอาหาร โดยร่วมแสดงวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” สร้างความมั่นคงทางอาหาร และขับเคลื่อนโมเดล BCG เป็นทศวรรษแห่งการทำงาน พลิกโฉมระบบอาหารให้มีความยั่งยืนและสมดุล การประชุมระดับสูงด้านพลังงาน แสดงวิสัยทัศน์เรื่องการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของไทย โดยมุ่งจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ขับเคลื่อนภาคพลังงานของไทยสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ และการลดก๊าซเรือนกระจก และ การประชุมอภิปรายทั่วไป ร่วมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ โลกหลังยุคโควิด–19...แม้ยามนี้ นายกฯประยุทธ์ ต้องเผชิญ ปัญหาโควิด และ ปัญหาการเมือง ในประเทศรุมเร้า แต่ก็ยังมี บทบาทโดดเด่นโลดแล่นบนเวทีโลกนะจ๊ะ
อืม...จากกรณีการลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจตรวจสถานการณ์น้ำ และแผนบริหารจัดการน้ำของ นายกฯประยุทธ์ ที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี และการลงพื้นที่ตรวจการบริหารจัดการน้ำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันก่อน ที่ถูกจับตาวิพากษ์วิจารณ์เป็นการลงพื้นที่ประชันกัน เพื่อวัดพลังทางการเมือง โดยเน้นไปที่การนับจำนวน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ไปร่วมต้อนรับ โยงกับปัญหาความแตกแยก แบ่งค่ายแบ่งมุ้งภายในพรรค...แม้ นายกฯประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร จะออกตัวบอกปัดว่า เป็นเรื่องของการช่วยกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน ไม่ใช่การวัดพลังขุมข่าย ส.ส.สนับสนุน แต่ก็ยังไม่วายถูกตีความกันไปต่างๆนานา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมี ส.ส.ไปต้อนรับ นายกฯประยุทธ์ น้อยกว่ากลุ่ม ส.ส.ในสายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่แห่รอต้อนรับ พล.อ.ประวิตร
...
...
แน่นอน ถ้ามองใน มุมการเมือง เป็นหลัก ก็สามารถจับโยงให้เห็นถึงความมีบารมีในพรรคได้ ที่ก็แน่นอนอยู่แล้ว ว่าความสัมพันธ์ระหว่าง ส.ส.ลูกพรรค กับคนที่เป็น หัวหน้าพรรค ย่อมมีความสนิทสนมใกล้ชิดกันมากกว่าคนเป็น นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรในพรรค... ประเด็นนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่ประการใด เว้นแต่ต้องการจะชี้ให้เห็นร่องรอยของความแปลกแยก นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง
แต่ประสา “ธนูเทพ” ยังมองถึงมุมการทำงาน โดยเฉพาะในห้วงที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน ร่องมรสุมพาดผ่าน เกิดสถานการณ์น้ำท่วม น้ำหลาก ในหลายพื้นที่หลายจังหวัด ส่งผลให้ประชาชน และพี่น้องเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบซ้ำเติม ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ที่อ่วมอรทัยจากพิษสถานการณ์โควิดอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอ ปัญหาน้ำท่วม น้ำหลากโถมเข้ามาอีก ยิ่งเดือดร้อนสาหัสเป็นทวีคูณ ดังนั้น การที่ นายกฯประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ขยับแยกย้ายกันลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ วางแผนบริหารจัดการน้ำ สั่งการและให้การสนับสนุนสรรพกำลังต่างๆ เพื่อป้องกันสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ถือได้ว่าเป็นเรื่องดี เพราะอย่างน้อยก็ได้รับทราบปัญหาและอุปสรรคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่จะส่งผลโดยตรงในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจาก ปัญหาน้ำท่วม...ในมุมนี้ถือว่าประชาชนได้ประโยชน์เต็มๆ
...
ที่แน่ๆ...วันที่ 26 ก.ย.นี้ นายกฯประยุทธ์ พร้อมคณะชุดใหญ่ จะลงพื้นที่ จ.สุโขทัย เพื่อติดตามสถาน การณ์น้ำและแผนการป้องกันน้ำท่วม ที่เกิดปัญหาซ้ำซากทุกปี งานนี้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม พร้อมทั้ง ส.ส.ในสังกัดเตรียมต้อนรับเต็มที่ และหลังจากนี้ นายกฯประยุทธ์ ยังวางคิวลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา และ จ.นครศรีธรรมราช...เน้นทำงานเป็นหลัก พร้อมถือโอกาสพบปะ ส.ส. และ พี่น้องประชาชน แถมเช็กเรตติ้งคะแนนนิยมเป็นผลพลอยได้ เพื่อวางแผนการเมืองในอนาคตอันใกล้
ผ่างๆ...หลังจาก คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ระบุหลังเข้าพบหารือ พ.ท.หญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ ส.ว.รัฐอิลลินอยส์ ที่ทำเนียบขาว ว่าไทยยังไม่เซ็นเอกสารรับวัคซีนไฟเซอร์ 1 ล้านโดส ที่สหรัฐฯบริจาค...ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข แจกแจงว่า การสนับสนุนวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสให้กับไทย เมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา สถานทูตสหรัฐฯ ได้มีเอกสารทางการทูตถึง กระทรวงการต่างประเทศ ของไทย ว่ารัฐบาลสหรัฐฯแสดงความประสงค์ที่จะมอบวัคซีนมาช่วยเหลือป้องกันโควิด และรัฐบาลได้มอบหมายให้ กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมควบคุมโรค จัดทำแผนการฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และดำเนินการฉีดตามแผนเรียบร้อยแล้ว ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่มีข่าวจะบริจาคเพิ่มอีก 1 ล้านโดส จากการประสานข้อมูลกับ กระทรวงการต่างประเทศ ทราบว่าขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสารทางการทูตจาก รัฐบาลสหรัฐฯ แจ้งเรื่องการสนับสนุนวัคซีนให้กับไทยเพิ่มเติม ดังนั้นข่าวดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริง...งานนี้ต้องตามพิสูจน์ ใครพูดจริง ใครบิดเบือน
บรรทัดนี้ “ธนูเทพ” ขอแสดงความยินดีกับ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ที่กรมสรรพากรได้รับรางวัลเลิศรัฐยอดเยี่ยม ประจำปี 2564 โดยเป็นรางวัลที่ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ยกย่องเชิดชูหน่วยงานที่มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนสำเร็จเป็นเลิศแห่งหน่วยงานภาครัฐทั้งปวง โดยปีนี้ กรมสรรพากร สามารถคว้ารางวัลเลิศรัฐยอดเยี่ยม เป็นปีที่สองต่อเนื่องกัน ทั้งนี้ การได้รับรางวัลเลิศรัฐยอดเยี่ยม หน่วยงานนั้นจะต้องได้รับรางวัลระดับดีเด่น ครบทั้ง 3 สาขา ภายในปีเดียวกัน ประกอบด้วย สาขารางวัลบริการภาครัฐ รางวัลบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ...ต้องยกนิ้วให้ทั้งระดับ ผู้บริหาร และ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ขอให้รักษามาตรฐานการทำงาน ในการบริการประชาชนต่อไป
สังคมทั่วไป...ศพ น.ท.นพ.เดชา สุขารมณ์ อดีต ส.ส.กาญจนบุรี และ รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย ตั้งสวดศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทร์ 18.00 น. ถึง 28 ก.ย. และบรรจุศพ
“ธนูเทพ”