จะเรียกว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ก็ไม่ผิด แต่เป็นนวัตกรรมมัจจุราชที่กำลังคุกคามวัยรุ่นนักสูบทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่าให้เข้าใจผิด ด้วยการบิดเบือนข้อมูลว่า อันตรายน้อยกว่าและสามารถทำให้เลิกบุหรี่ได้

JULL คือ นวัตกรรมที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “บุหรี่ไฟฟ้า” เวอร์ชันใหม่ ที่ออกแบบบางเบา ลักษณะคล้ายทัมบ์ไดรฟ์ ที่มองเผินๆจะไม่รู้เลยว่านี่คืออุปกรณ์ยาสูบที่อันตรายที่สุด เพราะสามารถทำให้นิโคตินลอยฟุ้งเป็นละอองฝอยจิ๋ว เจาะตรงเข้าเม็ดเลือดและปอด ส่งผลต่อหัวใจและสมองทั้งคนสูบและเหยื่อที่ต้องสูดควันบุหรี่ทั้งๆที่ไม่ได้สูบ ที่เรียกว่าบุหรี่มือสอง หรือ Second Smoker

การประชุมบุหรี่หรือสุขภาพเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 13 (13th Asia Pacific Conference on Tobacco or Health: APACT 2021 Bangkok) มีการหยิบยกและแลกเปลี่ยนเรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า” ชนิดใหม่ ที่ชื่อว่า JULL ที่มีการออกแบบรูปลักษณ์ให้เป็นแท่งสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่มองเผินๆแทบไม่รู้เลยว่านี่คือ “บุหรี่ไฟฟ้า” เป้าหมายเพื่อเจาะตลาดนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น และกำลังครองส่วนแบ่งตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าเกือบจะมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา

...

ดร.สแตนตัน แกลนซ์ (Stanton Glanz, PhD) ผอ.ศูนย์วิจัยและศึกษาด้านการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ให้ข้อมูลน่าสนใจว่า บุหรี่ไฟฟ้ากำลังเติบโตอย่างมากทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยความพยายามของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่พยายามพัฒนารูปแบบ และวางกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อโน้มน้าวดึงดูดใจนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน

“สิ่งที่ทำให้ตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าเติบโตอย่างก้าวกระโดด อย่างหนึ่งเป็นเพราะหาซื้อง่ายทั้งจากร้านค้าและในอินเตอร์เน็ตไม่มีการควบคุมการจัดจำหน่าย ส่งผลให้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นสารเสพติดตัวใหม่ที่เข้าถึงกลุ่มนักสูบหน้าใหม่มากขึ้น” ดร.แกลนซ์บอก

ผอ.ศูนย์วิจัยและศึกษาด้านการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ยังบอกด้วยว่า ช่วงแรกของการวางตลาด JULL ไม่ใช่สินค้าที่สะดุดตาเยาวชนมากนัก แต่เพราะการทำการตลาดที่ชาญฉลาด ทำให้ JULL เจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และผู้ผลิตเองก็เลือกที่จะสื่อสารแนะนำสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มเน็ตไอดอลหรือวัยรุ่นผ่านการสื่อภาพลักษณ์ถึงความเท่ ทันสมัย

ดร.แกลนซ์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ JULL ว่า เป็นบุหรี่ไฟฟ้าประเภท Liquid E Cigarette หรือ e-cigs เป็นการนำ “นิโคติน” เข้าสู่ร่างกายผ่านการทำให้เป็นไอแทนการเผาไหม้ มีการพัฒนาสูตรโดยใช้เกลือนิโคติน ซึ่งต่างจากบุหรี่ไฟฟ้าทั่วไปที่ใช้ Freebase Nicotine หรือนิโคตินบริสุทธิ์ ทำให้มีค่าความเป็นกรดน้อย ผู้สูบสามารถหายใจได้ง่ายขึ้น ไม่แสบคอ นี่คืออีกเหตุผลว่าทำไมผู้ใช้ใหม่อย่างเด็กๆถึงติดบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น บุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่นี้ยังถูกปรุงแต่งด้วยรสชาติและกลิ่นหลากหลายที่ยิ่งเสริมการนำนิโคตินเข้าสู่ร่างกายได้ในปริมาณที่สูงกว่าบุหรี่ทั่วไป นั่นหมายความว่า ผู้เสพมีโอกาสที่จะได้รับสารนิโคตินที่เข้มข้นมาก

“มีงานวิจัยที่พบว่าเยาวชนที่เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการที่จะหันมาสูบบุหรี่เมื่อเปรียบเทียบกับเยาวชนที่ไม่ได้เริ่มด้วยบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีเรื่องน่ายินดี ว่า FDA และสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกากำลังพิจารณาตัดสินใจที่จะจำกัดการจำหน่าย หรือเป็นไปได้ที่อาจมีการยกเลิกการจำหน่าย JUUL แบบเสรีหรือถูกกฎหมาย

“ดร.แกลนซ์” บอกพร้อมกับทิ้งท้ายว่า การสูบบุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภทมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคหอบหืด รวมทั้งโรคปอด และโรคมะเร็ง ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าอาจมีอันตรายมากกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิม เพราะมีอนุภาคขนาดเล็กมากที่สามารถเข้าสู่กระแสเลือด สมอง และเซลล์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก มากไปกว่านั้น ด้วยอนุภาคที่ละเอียดมาก อาจเป็นการยากที่จะกำจัดและอนุภาคเหล่านี้ อาจส่งผลต่อการเกิดมลพิษทางอากาศซึ่งจะส่งผลต่อกลุ่มคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ที่เรียกว่า Second Smokers ด้วย

ศ.เจฟฟรีย์ ที ฟง ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ประเทศแคนาดา ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าผู้ตรวจสอบหลักของโครงการประเมินนโยบายการควบคุมยาสูบระหว่างประเทศ (โครงการ ITC) ได้ทำการสำรวจเรื่อง ความเชื่อของผู้สูบบุหรี่เกี่ยวกับอันตรายและเหตุผลของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ใน 24 ประเทศ ของเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีผู้ใช้ยาสูบราว 2 ใน 3 ของโลก ผลการสำรวจพบว่า ยังมีประเทศใหญ่ๆ ที่ประชากรส่วนใหญ่เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา คือ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และจีน ส่วนประเทศที่ระดับความเชื่อเริ่มเปลี่ยน คือ คนส่วนใหญ่เริ่มเชื่อแล้วว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายมากกว่าหรือเท่าๆกันกับบุหรี่ธรรมดา คือ เกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย และบังกลาเทศ และความเชื่อเรื่องอันตรายมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า

...

ด้าน ดร.ชี ปัง เวน (Chi Pang Wen) จาก National Health Research Institue Founder, Taiwan Medical Alliance for the Control of Tobacco บอกว่า ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามีนักเรียนระดับไฮสกูลที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าในอังกฤษ ถึงสามเท่า หรือประมาณ 20% ขณะที่ในอังกฤษมีเพียง 6% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการแพร่หลายของ “JUUL” นั่นเอง

“บุหรี่ไฟฟ้าเริ่มเข้ามาในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2007 แต่ใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 4-5 ปี เด็กเยาวชนนักเรียนหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 900% นั่นเพราะ JUUL” ดร.เวนกล่าวและว่า “มีข้อมูลว่า บุหรี่ไฟฟ้าที่จำหน่ายในอเมริกามีส่วนผสมนิโคตินสูงถึง 59 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ขณะที่ในยุโรปมีเพียง 20 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร” ดร.เวนบอกและว่า จากรายงานของหน่วยงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ระบุว่า ที่ผ่านมา JUUL ครองตลาดบุหรี่ไฟฟ้าถึง 72% ซึ่งลูกค้ากลุ่มหลักที่แทนที่จะเป็นผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ตามเป้าหมาย กลับกลายเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนมากกว่า

ดร.เวนยังบอกด้วยว่า แท้จริงแล้วนิโคตินที่อยู่ใน JUUL นั้นปริมาณสูงแทบไม่ต่างกับบุหรี่ชนิดมวน โดยใน “JUUL Pods” นั้นมีนิโคตินเข้มข้นพอๆกับบุหรี่หนึ่งซอง หรือการสูบกว่า 200 ครั้ง และ JUUL กำลังเผชิญกับการฟ้องร้องคดีความถึงกว่า 2,339 คดีในอเมริกา โดยจ่ายชดเชยไปแล้วถึง 40 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯในรัฐนอร์ท แคโรไลนา ในข้อหาจำหน่ายสินค้าให้กับเยาวชน

...

การถูกเพ่งเล็งจากทางรัฐและสังคม ทำให้ JUUL พยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างบทบาทเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการสกัดกั้นจากภาครัฐ โดยอ้างอิงข้อมูลวิชาการว่าผลิตภัณฑ์ตนเองนั้นสามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้จริงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา มีการตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับ JUUL ในวารสาร Health Behavior จำนวนถึง 13 บทความ รวมกว่า 200 หน้า โดยพยายามให้ข้อมูลวิจัยว่า JUUL ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริง แต่ต่อมาภายหลังกลับพบว่า มีการจ่ายเงินมากกว่า 51,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อได้ลงบทความเหล่านี้

กลับมาที่ประเทศไทยก็น่ากลัวไม่แพ้กัน ข้อมูลจาก รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะรองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย บอกว่า ประเทศไทยมีการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบในประเทศ แต่ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าก็มีความพยายามที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายใหม่ที่เป็นเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ด้วยการใช้กลยุทธ์การตลาดมากมาย ทั้งการออกแบบเพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์มีรูปลักษณ์ของบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้มีสีสันและรูปลักษณ์ที่โดนใจวัยรุ่น อีกทั้งสามารถหาซื้อผ่านโซเชียลมีเดีย ร้านค้าออนไลน์

“แม้จะมีการแบน หรือห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายโดยสิ้นเชิงในประเทศไทย แต่กลับพบว่าจำนวนผู้ที่หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้ากลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่น โดยพบว่านักศึกษามีอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 60%” นอกจากนี้ จากการสำรวจนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและระดับปริญญากว่า 2,000 คน พบว่า 1 ใน 3 หรือกว่า 30% เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างน้อย 1 ครั้ง

“เราใช้กฎหมายในการจัดการปัญหาบุหรี่ แต่ยังประสบปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่น การกำกับใช้กฎหมายไม่สามารถทำได้กับการซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่กำลังแพร่หลายอย่างมาก เหล่านี้ยังเป็นช่องว่าง เราพบกระทั่งว่านักเรียนนักศึกษายังจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าให้เพื่อนกันเองในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย สิ่งที่เราอยากพยายามผลักดัน คือการห้ามการซื้อขายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในสถานศึกษาที่เป็นสาธารณสุข” รศ.นพ.สุทัศน์กล่าว.

...