การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลไข่ของไดโนเสาร์ หรือไข่เต่าจากยุคครีเตเชียส (Cretaceous) นั้นหายากมาก เนื่องจากลักษณะที่เปราะบางของพวกมันทำให้ยากที่จะอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันแม้จะอยู่ในสภาพที่ดีก็ตามที ทั้งนี้ทั้งนั้น การพบฟอสซิลตัวอ่อนที่ยังคงอยู่ในไข่เป็นเรื่องที่หายากยิ่งกว่า
ทว่าเมื่อเร็วๆนี้ มีการค้นพบฟอสซิลไข่เต่าโดยชาวนาในมณฑลเหอหนานของจีน พวกเขาได้มอบฟอสซิลดังกล่าวให้กับมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งจีนในนครอู่ฮั่น จากนั้นนักวิจัยของจีนและนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยคาลการีในแคนาดา และมหาวิทยาลัยทือบิงเงิน ในเยอรมนี ก็ร่วมกันศึกษาตรวจสอบไข่เต่าโบราณนี้เพื่อดูโครงสร้างภายในด้วยกล้องจุลทรรศน์ภายใน ทีมวิจัยได้สร้างตัวอ่อนขึ้นใหม่ด้วยเทคโนโลยี 3 มิติ ทำให้พบซี่โครงแบนที่เป็นลักษณะเฉพาะของตัวอ่อนลูกเต่ายุคปัจจุบัน พร้อมเผยว่าไข่ฟองนี้เกิดขึ้นในยุคครีเตเชียสช่วง 85 ล้านปีก่อน และระบุว่าเป็นไข่ของเต่าในกลุ่ม Nanhsiungchelyidae ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนบกและเป็นชนิดที่ถูกกวาดไปพร้อมกับการล้างไดโนเสาร์ในเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่
ทีมวิจัยนำเสนอว่าเต่าโบราณไม่น่าจะแตกต่างจากเต่าในปัจจุบันมากนัก เพราะตามกฎแล้วเปลือกไข่จะค่อนข้างบางไม่ว่าจะเป็นไข่นกหรือไข่เต่า แต่ฟอสซิลไข่เต่าตัวนี้มีข้อยกเว้นอย่างหนึ่งคือเปลือกไข่ที่หนามากเกือบ 2 มิลลิเมตร.
(ภาพประกอบ Credit : Yuzheng Ke)