สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่กับเรามานานเป็นปี สร้างผลกระทบให้แก่สังคมไทยทั้งในภาคธุรกิจและในครัวเรือน ทุกคนล้วนต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤติโควิด ที่โหมกระพือมาเป็นระลอกๆ วิกฤติครั้งนี้ได้สร้างทั้งรอยแผลที่บาดลึกและบทเรียนให้แก่ทุกๆคน รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้แก่ผู้บริหารรุ่นใหม่ ในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จะได้ใช้วิสัยทัศน์ของคนยุคดิจิทัลมารับมือปรับธุรกิจของตนให้อยู่รอด!!

คุณแจน-รชกร นันทวิสัย ทายาทคนโตของ “คุณวรรณ-วิภาวรรณ เหล่าธนาสิน” เจ้าของรีสอร์ตชื่อดัง “เดอะ ทับแขก กระบี่ บูทีค รีสอร์ต” ในจังหวัดกระบี่ ซึ่ง คุณแจน-รชกร ได้เข้ามาช่วยคุณแม่บริหารในฐานะ ผู้จัดการ เดอะ ทับแขก กระบี่ บูทีค รีสอร์ต บอกถึงการรับมือกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ว่า เรารับมือกับสถานการณ์โควิดมาปีกว่าแล้ว ที่คิดว่าปีที่แล้วหนักแล้ว แต่ปีนี้กลับหนักที่สุด หนักกว่าเยอะเลย ที่ผ่านมาเราก็ปรับตัวกันเยอะเรื่องของพนักงาน เราไม่ได้ปลดแต่ให้สลับกันมาทำงาน คนที่อยู่จังหวัดอื่นอยากกลับบ้านก็กลับไปก่อนได้ ให้คนกระบี่วนกันมาทำงาน แล้วมีการให้พนักงานไปทำอย่างอื่น อย่างผู้ชายจะเกณฑ์ให้ไปซ่อม ไปขัดไม้ ทาสี โดยมีทีมช่างมาช่วยสอนเทคนิคการทำ

...

“สิ่งหนึ่งที่แจนคิดว่าเราต้องทำคือ ต่อให้สถานการณ์มันแย่ลง โรงแรมเราต้องไม่หายไปจากโซเชียลมีเดีย ตอนนี้ยังเดินทางมาไม่ได้ แต่ถ้ามาได้เมื่อไหร่ เขาต้องคิดถึงเรา ทับแขกก่อน แจนคิดว่ามาร์เกตติ้งคีย์ ตรงนี้สำคัญมาก เราต้องไม่หายเงียบไปเลย ต้องอัปเดตให้แขกทราบ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ ข่าวสารปัจจุบันอัปเดตให้ทางแฟนเพจทราบ รวมทั้งมีบรรยากาศทะเลปัจจุบันให้คนที่ติดตามได้ชม ว่ามีบรรยากาศแบบนี้รอเขาอยู่ พร้อมทำโปรโมชันเตรียมเอาไว้ รอจังหวะกระบี่เปิดเมื่อไหร่ ขอให้นึกถึงทับแขก เป็นแห่งแรก” ผู้บริหารเดอะ ทับแขก กระบี่ บูทีค รีสอร์ต บอกถึงการรับมือในวิกฤตินี้

คุณแจน-รชกร ยังบอกอีกว่า ตอนนี้การให้กำลังใจในการทำงานสำคัญมาก เพราะว่าหลายๆคนเริ่มจะท้อ มันเริ่มนานแล้ว การทำงานโรงแรม คนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด เพราะว่าเราทำงานกับคน เมื่อไหร่ที่เขาเชื่อมั่นในตัวโรงแรม ตัวบริษัท หรือผู้บริหาร เขาก็จะมีความมั่นใจที่จะอยู่กับเรา และเมื่อไหร่การเดินทางพร้อมที่จะเปิด เราจะสามารถเปิดได้ทันที พนักงานเราก็ฉีดวัคซีนแล้ว ตอนนี้ก็ให้กำลังใจตัวเองด้วยการคิดบวกมองสถานการณ์ด้วยความเข้าใจว่า ไม่ใช่เราคนเดียวที่อยู่ในสถานการณ์นี้ คือทุกคนไม่ว่าอยู่ในอาชีพไหน จะทำอาชีพอะไรในโลกนี้ โดนกระทบหมด ในเมื่อทุกคนเจอเหมือนกัน เราก็ต้องหาทางออกไปด้วยกัน

ธนวิชญ์ หงษ์คู แพนฟู้ด
ธนวิชญ์ หงษ์คู แพนฟู้ด

ส่วนผู้บริหารรุ่นใหม่ “คุณทอย-ธนวิชญ์ หงษ์คู” ที่มารับไม้ต่อจากผู้เป็นพ่อ “กุลวัชร หงษ์คู” ผู้บุกเบิกธุรกิจอาหารแช่แข็งและอาหารแปรรูปในชื่อ “แพนฟู้ด” คุณทอย-ธนวิชญ์ กรรมการบริหาร บริษัท แพนฟู้ด จำกัด บอกถึงการปรับตัวในวิกฤติ ครั้งนี้ว่า เราขายอาหารให้แก่ร้านอาหาร และโรงแรม แน่นอนต้องกระทบโดยตรง แต่ก็ยังดีที่ธุรกิจเป็นอาหาร อย่างไรคนก็ต้องกินต้องใช้ รายได้จากช่องทางหลักลดลง แต่เราได้มีการโฟกัสไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ ส่วนหนึ่งคือลูกค้าตามบ้านครัวเรือนต่างๆผ่านช่องทางออนไลน์ เฟซบุ๊ก ไลน์แอด ดูข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ หรือไอจี pan food อีกช่องทางหนึ่ง คือซุปเปอร์มาร์เกตที่ผู้คนยังสามารถไปจับจ่ายใช้สอย จึงไปโฟกัสตรงจุดนี้มากขึ้น

...

...

ผู้บริหารรุ่นใหม่ของแพนฟู้ดบอกอีกว่า ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิดรอบแรก เราได้มีการเตรียมตัวอยู่แล้ว ว่าการขายออนไลน์ การขายตามบ้านต้องมา ซึ่งวิกฤติโควิดเป็นปัจจัยเร่งให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนเร็วขึ้น เราจึงได้รองรับตั้งแต่ตอนต้น และได้โฟกัสการขายออนไลน์ที่เป็นช่องทางสามารถเข้าถึงผู้บริโภคตามบ้านได้เลย และเรามีระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งรองรับอยู่แล้ว “วิกฤติครั้งนี้หนักจริง เราเป็นธุรกิจอาหาร ยังพอประคองตัวไปได้ บทเรียนที่เราได้รับคือ การปรับตัวและเราต้องมีความเข้าใจ มีการสื่อสารระหว่างทีมงาน วิกฤติครั้งนี้เราได้เห็นว่าพนักงานมีใจรักบริษัท ช่องทางไหนที่เขารู้ ที่เขาช่วยได้ เขายินดีที่จะสนับสนุนบริษัท เพราะเราเป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่มีใครเอาตัวรอดคนเดียว บริษัทจะเป็นอย่างไร ไม่สน นอกจากนี้ เราสื่อสารให้คนในบริษัทมั่นใจได้ว่าเราไม่นิ่งนอนใจและไม่ทอดทิ้งใคร เราพร้อมเดินได้ต่อ สู้ต่อ ถ้าผมพูดคนเดียว หัวหน้างานพูดคนเดียว มันเดินต่อไม่ได้อยู่แล้ว ผมประทับใจในพนักงานบริษัท ที่เขามีใจที่จะอยู่กับเรา สู้กันต่อไปครับ”

...

พิมพ์ดาว สุขะหุต Sretsis
พิมพ์ดาว สุขะหุต Sretsis

อีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง “คุณเอ๋ย-พิมพ์ดาว สุขะหุต” ครีเอทีฟ ไดเรกเตอร์ และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Sretsis บอกถึงการรับมือว่า สิ่งที่เราทำได้คือการปรับตัว ยืดหยุ่นและเตรียมพร้อมการทำงานแบบใหม่ เราต้องคิดหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และต้องอัปเดต ตามสถานการณ์จริงกันทุกอาทิตย์ ถ้าเมื่อไหร่ที่โรงงานผลิตมีผู้ติดเชื้อและต้องปิดก็ทำให้ต้องเลื่อนการส่งสินค้า ทำให้มีผลกระทบกับยอดขาย พร้อมค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่สูงขึ้น และเราปิดหน้าร้านตามมาตรการของรัฐบาล แม้เราจะมีช่องทางขายออนไลน์ และมียอดขายที่เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยอดขายโดยรวมก็มีผลกระทบได้ชัดจากโควิด-19 เพราะไลฟ์สไตล์และทัศนคติที่เปลี่ยนทำให้คนต้องอยู่บ้าน ไม่สามารถไปสังสรรค์ หรือเดินทาง และไม่ใช้จ่ายกับเสื้อผ้าเท่าที่เคย ส่วนตัวมองว่าจริงๆแฟชั่นไม่ใช่เรื่องฉาบฉวย การที่เราพิถีพิถันในการแต่งตัว มันก็เป็นรูปแบบนึงในการแสดงออกการเป็นตัวตนของเรา เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่ทําให้เกิดขึ้นได้ในทุกๆวัน แต่นักออกแบบก็ต้องปรับตัว เพื่อทำสิ่งที่เหมาะกับสถานการณ์และยุคสมัย สําหรับแบรนด์ Sretsis ในตอนนี้เรามุ่งเน้นถึง Sustainability ในดีไซน์ คือเสื้อผ้าที่ยั่งยืน ด้วยงานฝีมือที่ประณีตในการออกแบบและตัดเย็บที่สามารถสวมใส่ได้นานไร้กาลเวลา

“นอกจากนี้ เราได้มีการนำเสนอประสบการณ์การช็อปปิ้งแบบใหม่ผ่าน Sretsis White Glove Service ไอเดียนี้เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เป็นการแก้ปัญหาในช่วงร้านปิด และลูกค้าไม่อยากออกไปข้างนอก จึงนำเสนอประสบการณ์การช็อปปิ้งแบบใหม่ที่เอกซ์คลูซีฟและปลอดภัย โดย Sretsis จะนําเอาตัวอย่างผ้าที่คัดสรรมาแล้ว พร้อมแบบเลานจ์แวร์คลาสสิกของแบรนด์ไปนำเสนอ โดยลูกค้าสามารถเลือกสั่งออกแบบลายที่ชอบ หรือสั่งปักชื่อย่อได้ตามต้องการ รวมทั้งสามารถเลือกรีเควสขอดูสินค้าจากทุกแบรนด์ในเครือ โดยจะไปบริการถึงบ้านลูกค้าด้วย Sretsis Pink Truck รวมทั้งล่าสุดได้เพิ่มแบรนด์ Floétique และได้มีการต่อยอดแฟชั่นไปในสินค้าไลฟ์สไตล์กับแบรนด์ Sretsis Parlour และ Sretsis Table ของตกแต่งบ้านและตกแต่งโต๊ะอาหารอีกด้วย” ผู้บริหาร Sretsis บอกถึงการปรับตัว.