นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ซิดนีย์ และองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ในออสเตรเลีย ค้นพบกลุ่มเมฆอิเล็กตรอนที่แปลกประหลาดรอบๆดาราจักรหรือกาแล็กซีในจักรวาลห้วงลึก เมฆกลุ่มนี้อยู่ห่างออกไปราว 1,000 ล้านปีแสง ไม่เคยสังเกตพบมาก่อน ที่น่าสนใจคือรูปร่างของกลุ่มเมฆนี้คล้ายกับภูต 2 ตนกำลังเต้นรำ
กลุ่มเมฆดังกล่าวค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุแอสแคป (Australian Square Kilometer Array Pathfinder ASKAP) ที่สแกนท้องฟ้าในภารกิจของโครงการ Evolutionary Map of the Universe หรือ EMU ซึ่งสำรวจเข้าไปในจักรวาลได้ลึกมากกว่ากล้องโทรทรรศน์รุ่นก่อนๆ ตอนที่เห็นกลุ่มเมฆประหลาดนี้ครั้งแรก นักวิจัยไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่หลายสัปดาห์หลังจากนั้นก็ตรวจพบว่ามีกาแล็กซี 2 แห่ง อยู่ห่างออกไปราว 1,000 ล้านปีแสง ในใจกลางของกาแล็กซีเหล่านั้นมีหลุมดำมวลยิ่งยวด (Supermassive Black Holes) 2 แห่ง และมีการพ่นอิเล็กตรอนออกมาเป็นลักษณะโค้งงอเป็นรูปร่างพิสดารโดยลมระหว่างกาแล็กซี
นักวิจัยเผยว่า ไม่รู้ว่าลมระหว่างกาแล็กซีมาจากไหน ทำไมถึงพันกัน อะไรเป็นสาเหตุของการปล่อยคลื่นวิทยุ แน่นอนว่าต้องใช้เวลาอีกมากในการคลี่คลายปริศนา ต้องอาศัยการสังเกตและการสร้างแบบจำลองเพื่อที่จะเข้าใจมากขึ้น แต่ต้องยกความดีความชอบให้เทคโนโลยีของกล้องโทรทรรศน์แอสแคปที่มีความเร็วในการสำรวจที่สูงมาก และเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ดีที่สุดในโลกสำหรับการทำแผนที่ท้องฟ้าด้วยความยาวคลื่นวิทยุ.
(ภาพประกอบ Credit : Western Sydney University)