น้ำตาเล็ดในที่นี้ อาจจะเป็นในรูปโศกนาฏกรรมที่ไม่สามารถที่จะใช้ยาสมุนไพรหรือยาอื่นๆที่ปกติกำหนดให้ใช้ในโรคหรือสภาวะอื่น แต่ทั้งนี้กลไกน่าจะใช้ได้ในคนป่วยที่ติดเชื้อโควิดได้ แม้หลักฐานจะไม่ถึงกับครบถ้วนกระบวนความเต็ม 100 ก็ตาม

แต่บางคนเมื่อฟังเรื่องนี้แล้วน้ำตาที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะหัวเราะขบขันหรรษาว่า ทำไมเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นได้ทั้งๆที่ยาไม่ได้แพงนัก และดูจะปลอดภัยพอสมควรด้วยซ้ำ ทำไมไม่ได้ใช้

ในยามคับขัน มีความจำกัดในเรื่องการตรวจ การรักษาโควิด จากทั้งจำนวนบุคลากร เตียง อุปกรณ์ต่างๆมากมาย ทั้งนี้ในความเป็นจริง เมื่อเริ่มตัน การรักษาช้า เนิ่นนานออกไป ไวรัสตั้งตัวในตัวมนุษย์ได้ ก็จะเริ่มจุดชนวนกระบวนการทำสงครามกับร่างกายเราอย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งการกระตุ้นระบบภูมิที่เอื้อให้เกิดการอักเสบซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้ระบบเลือดแปรปรวน ทั้งเม็ดเลือดขาวและเลือดข้น เกิดลิ่มเลือดต่างๆนานา (กรุณาดูกลไกต่างๆในสุขภาพหรรษา)

เมื่อโรคดำเนินไป จะเป็นการยากที่จะทำการเยียวยารักษาเนื่องจากไหนจะต้องใช้ยาต้านไวรัสทั้งกิน และในปัจจุบัน เกือบต้องใช้แบบฉีดเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆคือ ยาเรม-เดซิเวียร์ และควบรวมกับยาต้านการอักเสบชนิดต่างๆ รวมทั้งยาพิเศษ เช่น ยาต้านสารอักเสบ IL-6 โดยที่สเตียรอยด์ ในรูปฉีดเอาไม่อยู่

...

แนวการรักษาแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่เมื่อเริ่มรู้ว่าติดหรือมีอาการแม้แต่น้อยนิด จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ไม่ให้โรคยกระดับขึ้นและข้อสำคัญก็คือ ถ้าเป็นไปได้ที่จะใช้ยาที่สามารถเข้าถึงประชาชนทุกคน และราคาถูก หรือแม้แต่สามารถที่จะรับได้ฟรีจากทางการ จะเป็นเครื่องแบ่งเบาภาระกับงบประมาณและระบบสาธารณสุขของประเทศ

ตัวอย่างที่เห็นในประเทศต่างๆก็คือ การใช้ยาแก้ปวดข้ออักเสบเกาต์ในปริมาณน้อยซึ่งมีข้อมูลชัดเจนว่าใช้ป้องกันการอักเสบที่เกิดขึ้นที่ทำให้เส้นเลือดหัวใจตัน ทั้งนี้ โดยผ่านกลไกที่คล้ายกับที่เห็นใน โควิด-19 หรือการใช้ยารักษามาลาเรียคือ ยาคลอโรควิน เป็นต้น

แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย นั่นก็คือ สมุนไพรที่คนไทยรู้จักและใช้กันมาเนิ่นนานพอสมควรก็คือ ฟ้าทะลายโจร ทั้งนี้ มีการใช้ในโรคการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจที่คล้ายไข้หวัดเล็กหรือไข้หวัดใหญ่ เมื่อใช้ตั้งแต่เริ่มแรกจะทำให้สบายและหายเร็วขึ้น และในกรณีของโควิด มีการทดสอบทั้งในหลอดทดลองและในสถานการณ์จริงในคนไทย ก็พบว่าช่วยได้ ผ่อนหนักเป็นเบา แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าเวลานี้เป็นเวลาสงคราม

ดังนั้น การที่จะทำการวิจัยทางการแพทย์เต็มรูปแบบอย่างที่เราเรียกว่า RCT โดยมีการควบคุมรัดกุม ในจำนวนคนป่วยที่เหมาะสมและมีการติดตามทั้งอาการและความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่ชี้บ่งว่า มีการตอบสนองในทางดีขึ้นหรือเลวลง รวมทั้งจำนวนไวรัสด้วยจะเป็นไปด้วยความยากลำบากและไม่ทันเวลา

ในที่สุดกระทรวงสาธารณสุขก็ได้อนุมัติให้มีการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด เพื่อใช้ในการรักษาในระยะแรกเริ่ม แต่ทั้งนี้ยังมีข้อสงสัยอยู่บ้างว่า ควรที่จะใช้เป็นสารสกัดจำเพาะ หรือจะเป็นในรูปแบบของสมุนไพร ซึ่งผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดมีทั้งสองรูปแบบ ทั้งนี้ โดยผลที่ได้จากการสังเกตติดตามจากหลายคณะในชุมชน พบว่าได้ผลไม่แตกต่างกันนัก โดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะอนุโลมให้ใช้ได้

แต่ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นการกินทุกวันแต่เป็นการกินเพื่อรักษาเมื่อเริ่มมีอาการใหม่ๆ โดยที่ถ้ากินทุกวันอาจจะเกิดผลร้ายได้ต่อตับไต เป็นต้น และไม่น่าจะผิดถ้าจะกินร่วมกันกับขิง กระชายขาวที่มีหลักฐานในหลอดทดลอง และจากการสังเกตติดตามในชุมชน

นอกจากสมุนไพรที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมียาอีกตัวหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันมานานและใช้ได้ในมนุษย์ โดยเป็นยาสำคัญที่รักษาพยาธิชนิดที่มีปัญหามาก โดยเฉพาะในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่มีชื่อว่า สตรองจิรอยด์

โดยที่มีการศึกษาชัดเจนว่าสามารถกินครั้งเดียวและได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก และยังมีการศึกษาต่อเนื่องในการนำมาใช้รักษาโรคไข้เลือดออกที่เกิดจากไวรัสเดงกี ซึ่งเป็นไวรัส RNA เช่นกัน แต่ผลที่ได้ไม่ชัดเจน แต่อย่างไรก็สามารถมีข้อมูลถึงความปลอดภัยและการที่ไม่มีผลขัดแย้งกับยาอื่นๆมาก

การนำยาฆ่าพยาธิตัวนี้มาใช้ในผู้ป่วย “โควิด–19” มีแพร่หลายในหลายประเทศ เช่น แถบอเมริกาใต้ ในประเทศอินเดีย รวมกระทั่งถึงในประเทศไทย ที่มีการใช้ในหลายโรงพยาบาล แต่ทั้งนี้เป็นการใช้ที่เรียกว่า ใช้นอกเหนือจากข้อบ่งใช้ หรือไม่เป็นไปตามที่ระบุตามมาตรฐานของทางการ (off label) โดยใช้ขนาด 12 มก. วันละครั้ง เป็นเวลา 5 วัน

ผลการศึกษามีข้อสนับสนุนทั้งในด้านหลอดทดลองในมนุษย์ ในสัตว์ทดลองและการใช้ในสถานการณ์จริง และมีการศึกษาในหลายประเทศที่มีระเบียบวิธีวิจัยที่รัดกุม รวมทั้งมีการวิเคราะห์ อภิมาน (meta analysis) จากการรวบรวมหลายรายงานเข้าด้วยกัน

...

แต่แน่นอนมีรายงานอื่นๆเช่นกันที่โต้แย้งหรือขัดแย้งว่าไม่ได้ประโยชน์ ซึ่งคงจะเป็นการยากพอสมควรเนื่องจากผู้ป่วยโควิดมีลักษณะซับซ้อนและมีตัวแปรหรือปัจจัยหลายอย่างที่เอื้ออำนวยให้โรคเลวลง หรือไม่รุนแรงมากขึ้น และทำให้ไม่สามารถที่จะทำการสรุปไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งที่ชัดเจนได้

เหล่านี้ทำให้เกิดข้อโต้แย้งตั้งแต่ต้นปีจนกระทั่งถึงปลายเดือนกรกฎาคม 2564 และมีหัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนประเทศอินเดียที่อนุมัติให้มีการใช้ และแนบความเห็นของบริษัทเมิร์ค ว่ายังไม่มีหลักฐานชัดเจนที่สนับสนุนการใช้ และความขัดแย้งดูจะรุนแรงขึ้นมากจากแพทย์อินเดียที่ต้องรักษาผู้ป่วยที่เห็นว่าควรจัดให้มีการใช้อย่างแพร่หลาย

เช่นเดียวกันที่มีการใช้ในประเทศญี่ปุ่นแต่เป็นการใช้นอกข้อบ่งใช้โดยผู้ป่วยต้องรับทราบความจริงเหล่านี้และต้องเข้าใจสภาพที่ยาฆ่าพยาธิตัวนี้ไม่ได้มีการรับรองจากทางสาธารณสุขของประเทศ

ในบริบทของประเทศไทยที่ยังอยู่ท่ามกลางวิกฤติ และดูจากประโยชน์ที่อาจจะได้รับ โดยที่ถ้าไม่มีโทษและถ้ามีการใช้ถูกต้อง อาจจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะหาทางออกร่วมกัน โดยดูจากคนป่วยเป็นที่ตั้ง.

...

หมอดื้อ