ดัชนีชี้วัดผลกระทบของโควิดมีผู้เชี่ยวชาญประเมินในทุกส่วนทุกภาคและทุกระดับทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งการลงทุนและอื่นๆอีกมากมาย
แต่ช่วงโควิดนี้ถ้าพูดคำว่าวิกฤติ คนไทยทุกคนคงสามารถพรรณนา หรือบรรยายความวิกฤติในทุกบริบทในทุกด้านได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน โดยไม่ต้องอาศัยตัวเลขหรือสถิติอย่างอื่นมาอ้างอิง
แต่ตัวชี้วัดที่ดีที่สุดคือ ระบบสาธารณสุขในด้านการรักษา ที่ส่งผลถึงการรองรับคนป่วยโควิดโดยตรง และตัดโอกาสคนป่วยโรคอื่นๆที่ ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาบริบาลด้วย
ของจริงจากอายุรแพทย์ คุณหมอ Walaigorn Kumkiew จากเฟซบุ๊ก ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ที่เข้าไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนามบุษราคัมก็คือ
เข้าไปแค่ครั้งละ 10 คน/เวร (เมื่อเทียบกับจำนวนคนไข้ทั้งหมด 3,700 ปอดอักเสบติดเชื้อที่ต้องเจาะเลือด 1,500 คน) ต้องใส่ชุดที่มีออกซิเจน อยู่ได้มากสุดประมาณ 3-4 ชั่วโมง ทำหัตถการเจาะเลือดฉีดยา คนละไม่ถึง 1 นาที ตกเฉลี่ย 1 : 50-100 คนต่อครั้ง/เวร (คำนวณพี่พยาบาล 10 คน ทำการรักษาได้มากสุด 500-1,000 คน/เวร)
...
เกณฑ์การคัดเลือกจากอาสาสมัครและบังคับเพราะงานส่วนอื่นเต็ม เป็นส่วนที่เหลือค้างจากการสมัครทีมอื่นไม่ทัน ระยะเวลาที่ถูกส่งมาจากต้นสังกัด 2 สัปดาห์ ได้อยู่เวรติดกันทุกวัน แบบไม่มีวันหยุด เวรติดกันวันละ 2 เวรตลอด
ค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัย ที่สำคัญ วัคซีนได้เท่ากับคนอื่นๆที่ไม่ได้สัมผัสผู้ป่วย...แบบนี้ยุติธรรมแล้วหรือกับชีวิตทีมนี้?
แอบคิดเอง หรือนี่คือความตั้งใจที่อยากให้เกิดการคัดเลือกตามธรรมชาติ (Natural selection) ใครอ่อนแอก็ตายไป ไม่ว่าจะเป็นคนไข้เอง หรือบุคลากรทางการแพทย์
ความตั้งใจที่แท้จริงของคนก่อตั้ง คงต้องการ แค่ให้เป็น รพ.สนามจริงๆ สำหรับสีเขียว หาใช่ ICU หรือน้องๆ ICU หรือ ICU รอง จึงได้กลายเป็น รพ.สนามมากกว่าที่เป็นศูนย์รองรับภาวะวิกฤติ (หรือ critical care) ที่อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือไม่ได้พร้อมมากแบบในปัจจุบันนี้
มีเคสหนักที่ต้องใส่สอดท่อหายใจมากกว่า 10 ราย ต้องใช้ออกซิเจนอัตราไหลสูง ไฮโฟลว์ high flow มากกว่า 200 ราย
มีคนเสียชีวิต อยู่ๆก็ไปพบว่านอนตายบ้างก็มี คนสูงอายุ หูตึง ตาฝ้าฟาง ติดเตียงก็เยอะ ต้องนอนจมกองขี้กองเยี่ยว จนเตียงกระดาษยุบพังลง จนใช้การไม่ได้ พื้นเจิ่งนองด้วยปัสสาวะ สิ่งปฏิกูลก็มีให้เห็นอยู่ประปราย
ตอนแรกอยากช่วยเป็นกระบอกเสียงหนึ่งช่วยเรียกร้อง
1.ขอเพิ่มอัตรากำลังคน เพื่อให้คนไข้สามารถรับการรักษาได้อย่างครบถ้วน และเป็นไปตามจรรยาบรรณที่ควรจะได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งควรได้รับ
2.ขอเพิ่มค่าตอบแทนค่าเสี่ยงภัยให้ทีมพยาบาล ทีมรักษา ผู้ที่ได้สัมผัสคนไข้จริงๆ
3.เน้น SAVE ทีมเผชิญเพื่อ SAVE ชีวิตคนไข้ SAVE ใจบุคลากรการแพทย์ที่หมดแรงหมดใจ burnout จากการพยายามสั่งการรักษาแต่คนไข้กลับไม่ได้รับมัน
แต่...แต่...แต่...พอทำงานไปก็มีเรื่องจุกๆตามมาอีกมากมาย ยิ่งกว่านั้น คือ...วันนี้ ณ ทีมรับเคลื่อนย้าย loading มีคนไข้มาถึง และหมดชีพจรที่นั่น ได้โลงศพกลับบ้าน ก่อนที่จะมีโอกาสได้เข้ารับการรักษา หรือแม้แต่วัดสัญญาณชีพด้วยซ้ำ!
และคนไข้ที่นอนๆอยู่ได้ออกซิเจนอัตราไหลสูง ทุกคนต่างพานิ่งเขียว บ้างก็น้ำลายฟูมปาก บ้างก็เลือดกบปาก บ้างก็เอามือทุบอกทุรนทุราย ตามด้วยเรียกไม่รู้สึกตัว แน่นิ่งไป จนบางคนไปเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครทราบได้
มุมมองในด้านการเต็มที่ การจัดเต็มในทุกด้านการรักษา ก็เริ่มเปลี่ยนไป...
...
เมื่อได้สอบถามทางทีมอาจารย์ คณะดูแล และบริหาร ในประเด็นแรกเรื่องการเพิ่มบุคลากรในทีมรักษา พบว่าได้มีการแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มค่าเวรสองเท่า มีความคิดจ้างวานกลุ่มคนจากภายนอก แต่...ไม่มีคนจริงๆ ไม่มีใครจริงๆ (แล้วจะเปิดโรงพยาบาลเพิ่มได้จริงๆหรือ อย่าสักแต่เปิด ต้องให้มันมีคุณภาพด้วย หรือไม่งั้นก็ตั้งจุดประสงค์ให้ชัดๆไปเลยว่าเป็นที่ที่ไม่ทำให้มีข่าว เสียชีวิตที่บ้านแค่นั้น)
ถึงขั้นคนไข้สีเขียวมาช่วยกันเป็นอาสาสมัคร ช่วยคัดกรอง วัดสัญญาณชีพ ออกซิเจน และช่วยดูแลผู้ป่วยสูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยที่อาการหนักกว่า เพื่อช่วยเหลือกัน และช่วยแบ่งเบาบุคลากรทางการแพทย์แบบพวกเรา
เนื่องจากขณะนี้ในทุกที่ทั่วประเทศ ทุกโรงพยาบาลก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เนื่องจากจำนวนคนไข้เยอะมากเกินต้านทาน และกว่าจะเข้าถึงสถานพยาบาลได้แต่ละที่ ก็มีอาการหนักมากแล้ว ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง... ที่ต้องอาศัยบุคลากรและทรัพยากรอย่างมากมาย (ในชีวิตจริงจะหาที่ไหนได้ทันโรคระบาดนี้ พูดถึงจุดนี้ พูดอีกก็เจ็บใจอีก เห้อออ)
ดังนั้น ทางทีมจึงได้เริ่มมีความสนใจในเรื่อง Advanced care plan หรือ Palliative care อย่างจริงจัง ได้มีการนำตัวอย่างจากแต่ละโรงพยาบาลมานำเสนอ เพื่อให้สามารถปรับเป็นรูปแบบที่เหมาะสมตามสถานการณ์จริงในปัจจุบัน
...
เห้อออออ เราถึงจุดที่ต้องเลือก ชีวิตแลกชีวิต แล้วจริงๆหรือ?
เสมือนกำลังเข้าสู่ยุคของ...พายุ ใบไม้ร่วง ปริมาณมหาศาล เฉกเช่น อินเดีย/อิตาลี ยาต่างๆ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ที่ใช้ร่วมเวลาคนป่วยใส่ท่อหายใจ nimbex ยานอนหลับ sedate ออกซิเจนไฮโฟลว์ เริ่มทยอยหมด หรือแม้กระทั่งมอร์ฟีนที่ใช้ในผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็เช่นเดียวกัน
ดังที่เห็นพี่หมอคนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ประเทศนี้ แค่เลือกจะตายอย่างสงบ ยังทำไม่ได้เลย”.
หมอดื้อ