นับตั้งแต่ ทาเคชิ คุวาบาระ ถูกตัดสินให้มีความผิดฐานฆาตกรรม นางริเอะ อิโซฮาตะ คู่รักของเขา แต่ประเด็นฆาตกรรมกลับไม่ใช่ประเด็นที่ผู้คนสนใจ ประเด็นที่น่าสนใจกว่า คืออาชีพของ คุวาบาระ ที่ถูกระบุว่า เขาเป็น “วะคะเระซาเซยะ” (wakaresaseya) หรือ อาชีพรับจ้าง “พัง” ชีวิตคู่ ที่สามีของนางอิโซฮาตะ ว่าจ้างให้มาเป็นมือที่สาม ช่วยให้การสมรสของพวกเขาจบลงในชีวิตจริง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า มีอาชีพนี้เกิดขึ้นจริงๆในโลก..!!

คุวาบาระ แต่งงานและมีลูกอยู่แล้ว เขามีอาชีพที่ช่วยให้คู่รักแยกทางจากกันโดยไม่มีการเผชิญหน้าที่รุนแรง โดยกรณีของนางอิโซฮาตะ เขาได้วางแผนการในการพบและทำความรู้จักกับเธอที่ซุปเปอร์มาร์เกตแห่งหนึ่ง โดยอ้างตัวเองเป็นพนักงานด้านไอที

การสวมแว่นตาและภาพลักษณ์แบบหนุ่มเนิร์ด ของ คุวาบาระ ช่วยดึงดูดความสนใจจากนางอิโซฮาตะได้จริง ตามข้อมูลที่สามีของนางโออิตะให้ไว้ และใช้เวลาไม่นานทั้งคู่ก็เริ่มแอบคบหากัน จนนำไปสู่การมีความสัมพันธ์ที่จริงจัง โดยทุกกิจกรรมและอิริยาบถในระหว่างความสัมพันธ์นั้น จะมีทีมงานของคุวาบาระรับหน้าที่ ถ่ายรูปทั้งสองขณะเข้าโรงแรม เพื่อให้สามีของนางอิโซฮาตะนำไปใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องหย่า

ทำไมนางอิโซฮาตะจึงถูกฆ่า...

...

ไม่ใช่เรื่องเหนือการคาดเดา เพราะเมื่อเธอรู้ความจริงว่าตนเองถูกหลอกลวง อิโซฮาตะ โกรธมาก และพยายามตัดความสัมพันธ์กับ คุวาบาระ แต่เขาไม่ยอมเลิก กลับใช้เชือกรัดคอเธอจนเสียชีวิต จนถูกตัดสินจำคุก 15 ปีในความผิดดังกล่าว

ธุรกิจ วะคะเระซาเซยะ ได้รับความสนใจนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 10 ปีแล้วก็ตาม มากไปกว่านั้น ธุรกิจนี้มีการโฆษณาอย่างเปิดเผยทางออนไลน์และมีมูลค่าเพิ่มของการใช้บริการสูงมากขึ้นกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน

เรื่องราวของธุรกิจ วะคะเระซาเซยะ กลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในระดับโลก ราวกลางปีที่แล้วมีนิยายทริลเลอร์เล่มหนึ่งออกวางจำหน่าย ชื่อ What's Left of Me Is Yours เขียนโดย สเตฟานี สก๊อตต์ นักเขียนชาวอังกฤษ นำโครงเรื่องบางส่วนมาจากคดีฆาตกรรมนางริเอะ อิโซฮาตะ โดยค้นคว้าข้อมูลร่วมกับสมาคมกฎหมายญี่ปุ่นแห่งอังกฤษ เพื่อให้ได้เรื่องราวเชิงลึกมาแต่งนิยายเล่มนี้

จากคดีฆาตกรรมเมื่อสิบปีก่อน กลับมาอยู่ในสายตาของคนทั่วโลก เช่นเดียวกับธุรกิจรับจ้างเป็น “มือที่สาม” เพื่อทำให้ชีวิตแต่งงานจบลง โดยที่คู่สามี-ภรรยาไม่ต้องเผชิญหน้ากัน

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีธุรกิจทำนองนี้ไม่น้อย ส่วนใหญ่ซ้อนทับอยู่ในสำนักงานนักสืบเอกชน ซึ่งต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้สำนักงานนักสืบเอกชนต้องมีใบอนุญาตทำธุรกิจวะคะเระซาเซยะอย่างถูกต้อง

ผ่านไปสิบปีแล้ว ธุรกิจ วะคะเระซาเซยะ นอกจากจะไม่ตาย (เพราะความกลัว) ยังกลับมาเฟื่องฟูในโลกออนไลน์ มีโฆษณาให้บริการของบริษัทรับจ้างทำให้คู่รักเลิกรากันมากกว่า 200 แห่ง ส่วนใหญ่ผูกอยู่กับบริษัทนักสืบเอกชน และค่าบริการก็สูงมากๆ

สนนราคาต่ำสุดนั้นอยู่ที่หลักแสน ถ้าเป็นคนมีชื่อเสียงก็จะแพงถึงหลักล้าน แต่ก็มีคนใช้บริการเรื่อยๆ เพราะช่วยลดปัญหาการเผชิญหน้า ไม่ต้องปวดหัวใจกับการทะเลาะทุ่มเถียงกัน

การสำรวจชิ้นหนึ่งพบว่า มีโฆษณาให้บริการของบริษัทรับจ้างทำให้คู่รักเลิกรากัน 270 แห่งทางออนไลน์ หลายแห่งเป็นธุรกิจที่ผูกอยู่กับบริษัทนักสืบเอกชน โดยค่าบริการสูงพุ่งถึง 20 ล้านเยน หรือประ-มาณ 5.9 ล้านบาท และ ราคาอาจเพิ่มขึ้นสองถึงสามเท่าหากลูกค้าเป็นนักการเมือง หรือบุคคลมีชื่อเสียง ซึ่งต้องการให้ดำเนินการเป็นความลับในระดับสูง

...

สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงส่งเสริมให้ผู้หญิงญี่ปุ่นมีบทบาทมากขึ้น และก็ทำให้คนญี่ปุ่นหย่าร้างกันมากขึ้น มีการเก็บสถิติพบว่า คู่ที่หย่าร้างนั้นส่วนมากเป็นพวกที่อยู่ด้วยกันมาเกิน 20 ปีแล้วทั้งนั้น

แต่ญี่ปุ่นไม่นิยมเผชิญหน้ากันตรงๆ เพื่อเคลียร์ปัญหาระหว่างสามี-ภรรยา ต่างจากวัฒนธรรมตะวันตกที่ทำเรื่องนี้กันเปิดเผย โดยผ่านตัวแทนที่เป็นทนายความ
อาชีพวะคะเระซาเซยะจึงมิเพียงทำหน้าที่เป็นมือที่สามในกรณีเคสผู้หญิง แต่ยังรับจ้างภรรยาไปล้วงความลับสามีที่แอบไปมีกิ๊ก โดยใช้นักสืบผู้ชายเข้าไปตีสนิท และประกบตัวกิ๊กโดยใช้นักสืบหญิงเข้าไปสืบว่ากิ๊กชอบผู้ชายแบบไหน จากนั้นนักสืบชายก็จะปลอมตัวเข้าไปตีสนิทด้วยข้อมูลที่สืบมาได้ เพื่อทำให้กิ๊กกับตัวเขามีความสัมพันธ์กัน ผลที่ได้คือตัวสามีตกหลุมพราง ทั้งเรื่องมีกิ๊ก แถมยังโดนกิ๊กไปมีกิ๊กต่ออีกที

เรียกว่า ซับซ้อนแบบทับซ้อน...

และเพราะความซับซ้อนซ่อนเงื่อนในความสัมพันธ์แบบนี้นี่เอง ที่ทำให้ธุรกิจวะคะเระซาเซยะมีราคาแพงลิบลิ่ว เพราะเป็นการลงทุนที่ต้องใช้ “สายลับ” หลายคนเพื่อให้เป้าหมายติดกับดัก และยังต้องใช้เวลาขุดหลุมพรางอยู่นานหลายเดือน

ตอนแต่งงานก็ว่าแพงแล้ว ตอนจะพังชีวิตคู่ก็ยังแพงพอกัน!