สู้โควิด สุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย, เหว่ยเหวย หวง และ สุเทพ เตมานุวัตร์ มอบเงินสนับสนุนในการจัดซื้อชุดตรวจโควิด-19 จำนวน 800 ชุด ให้โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร โดยมี นพ.องอาจ จริยาสถาพร เป็นผู้รับมอบ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย วันก่อน.
สามัคคีร่วมแรงร่วมใจต้านภัยวิกฤติโควิด
หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ยักษ์ใหญ่สารพัดสี จำหน่ายมากที่สุดของประเทศ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม 2564
“ธนูเทพ” ประจำการรับใช้ท่านผู้อ่าน...ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไวรัสมรณะโควิด-19 แผลงฤทธิ์ระบาดหนักในประเทศไทย ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงกว่าวันละ 1 หมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 100 ราย ติดกันมาหลายวัน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ต้องเพิ่มมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ พื้นที่สีแดงเข้ม เพิ่มจาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส...
...
พร้อมออกข้อกำหนดที่เข้มงวดมากขึ้นใน พื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด 14 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. จนถึงวันที่ 2 ส.ค.2564 อาทิ ห้ามประชาชนออกจากเคหสถาน ตั้งแต่ เวลา 21.00–04.00 น. ยกเว้นบุคคลที่ได้รับอนุญาต, เลี่ยง จำกัด หรืองดเดินทางออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น ยกเว้นการเดินทางเพื่อซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค การพบแพทย์ และรับวัคซีน, หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ และเอกชน ให้ เวิร์กฟรอมโฮม 100% ยกเว้นการบริการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข การควบคุมโรค ระบบสาธารณูปโภค การจราจร การบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย หรืองานที่ได้กำหนดเวลา นัดหมายล่วงหน้าไว้แล้ว หากจำเป็นต้องปฏิบัติงานนอกที่พักต้องขออนุญาตตามที่กำหนด, ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนที่จากพื้นที่สีแดงเข้มไปยังจังหวัดอื่น, ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มเกิน 5 คน, ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามรับประทานในร้าน ให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น เปิดได้ถึง 20.00 น., ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะแผนกซุปเปอร์มาร์เกต ยาและเวชภัณฑ์ และพื้นที่การให้บริการฉีดวัคซีน หรือบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขอื่นๆของภาครัฐ, โรงแรมเปิดได้ปกติ แต่ให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา หรือการจัดเลี้ยง, ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด ปิดตั้งแต่ 20.00-04.00 น., โรงเรียน สถานศึกษา สถาบันการศึกษา เรียนออนไลน์ ห้ามใช้สถานที่จัดการสอน เป็นต้น...
การล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม สั่งปิดกิจการบางอย่าง มีทั้ง คนที่เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย เพราะการใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน กิจการ ร้านค้า คนทำมาหากินได้รับความเดือดร้อนกันไปทั่ว แต่ในมุมการป้องกันโรคระบาด ที่มีผู้ติดเชื้อแต่ละวันทะลุ หมื่นราย เสียชีวิตแต่ละวันมากกว่า ร้อยราย และยังมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเพราะ เชื้อกลายพันธุ์ ก็ถือเป็นความจำเป็นในสถานการณ์วิกฤติ ที่จะต้องใช้มาตรการ ล็อกดาวน์ สกัดการแพร่ระบาดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้าง...เจ็บรอบนี้จะจบหรือไม่ยังไม่รู้ แต่ถ้าลดการเสียชีวิตของประชาชนได้ ถือเป็นอานิสงส์
อืม...เมื่อวันก่อน นายกฯประยุทธ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึงความจำเป็นในการออกมาตรการล็อกดาวน์ 13 จังหวัด พร้อมทั้งเน้นย้ำสงครามของโลกกับโควิด ยังไม่จบสิ้นการต่อสู้ของไทยรอบนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้ง 13 จังหวัดถือเป็นสมรภูมิรบที่เราจะต้องเอาชนะ และยึดพื้นที่คืนกลับมาจากไวรัสร้ายนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเจ็บป่วยล้มตายไปมากกว่านี้ แต่การศึกครั้งนี้รัฐไม่สามารถเอาชนะได้ด้วยเพียงลำพังแต่ต้องเกิดจากความสามัคคีของคนในชาติ ทั้งนี้ ตนเองและคณะแพทย์ เชื่อว่าหากเราล็อกดาวน์ตัวเองได้จริงๆ สถานการณ์ควรจะต้องเห็นผลดีขึ้นภายใน 14 วัน และเราจะผ่านพ้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไปได้อีกครั้ง แต่มาตรการใดๆก็ตามจะไม่มีความหมายเลย หากไม่สามารถควบคุมให้เป็นไปตามนั้นได้
...
ประสา “ธนูเทพ” มองว่าการที่ ผู้นำ เรียกร้องถามหา ความสามัคคีและความร่วมมือจากคนในชาติ เพื่อช่วยกันฟันฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด เป็นเรื่องปกติในยามที่ประเทศเผชิญสถานการณ์วิกฤติ แต่ที่น่าฉงนก็คือ ใน คณะรัฐมนตรี และ พรรคร่วมรัฐบาล เอง มีความสามัคคีร่วมใจ ที่จะทำงานแก้ไขวิกฤตการณ์โควิดมากน้อยแค่ไหน เพราะเห็นๆกันอยู่ พรรคร่วมรัฐบาล ด้วยกันแท้ๆ ยังมีปัญหาขัดแย้งชิงเหลี่ยมทางการเมือง โดยเฉพาะในการแก้ปัญหา ไวรัสโควิด พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคถูกมองว่าแฝงผลประโยชน์จากการนำเข้า วัคซีน ส่งผลให้การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด ทั้งวัคซีนหลัก และวัคซีนทางเลือกล่าช้า และไม่เพียงพอที่จะกระจายฉีดให้ประชาชน จนถูกมองว่าทำงานสะเปะสะปะ ล้มเหลวในการบริหารจัดการ จนเป็นสาเหตุให้มีการแพร่ระบาดหนัก ประชาชนบาดเจ็บ ล้มตายเป็นจำนวนมาก กลายเป็นตราบาปของรัฐบาลชุดนี้
ดังนั้น เมื่อ นายกฯประยุทธ์ ออกมาเรียกร้องความร่วมมือและความสามัคคีจากคนในชาติ ก็ควรต้องแสดงศักยภาพความเป็น ผู้นำรัฐบาล ทำให้ พรรคร่วมรัฐบาล เกิดความสามัคคีร่วมมือ มุ่งมั่นแก้ปัญหาวิกฤติโควิดอย่างจริงจังและเป็นเอกภาพมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่บ่นพึมพำในที่ประชุม คณะรัฐมนตรี “ผมไม่ได้ทำงานคนเดียว เราทุกคนช่วยกันทำงาน ผมไม่คิดว่าเป็นเวลาของการเล่นการเมือง ถ้าท่านจะออกจากผมก็แล้วแต่ ผมก็จะทำงานของผมต่อไป ผมไม่ทิ้งคุณ คุณจะทิ้งผมก็ตามใจ”
...
ฮัดชิ้ว...จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก กระทบทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่ฝ่ายนิติบัญญัติ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุจากการที่ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีดำริให้งดการประชุมสภาฯออกไปอีก 1 สัปดาห์ จากเดิมที่นัดประชุมในวันที่ 29-30 ก.ค. เนื่องจากมีข้อกำหนดของ ศบค. ฉบับล่าสุดให้จำกัดการเคลื่อนย้ายบุคคลในการเข้าออกพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม และมีประกาศของ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ห้ามทำการบินรับส่งผู้โดยสารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.เป็นต้นไป ส่งผลให้การเดินทางมาร่วมประชุมของ ส.ส. และ ส.ว. มีปัญหา อีกทั้ง ส.ส. และ ส.ว. จำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตอาจเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของ ศบค. โดยได้มีการประสานทาง ประธานวิป 3 ฝ่าย ทุกฝ่ายเห็นด้วยเป็นเอกฉันท์...
ร่วมมือปฏิบัติตามข้อกำหนด ศบค. และเพื่อความปลอดภัยของสมาชิก ถ้าดันทุรังอาจเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ติดโควิดกันทั้งสภา
...
ขณะที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ระบุจากสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด ศบค. ยกระดับมาตรการการป้องกัน และมีประกาศระงับเที่ยวบินภายในประเทศใน พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. จนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย ทำให้ต้องเลื่อนการประชุมคณะกรรมาธิการฯ จากวันที่ 27 ก.ค. เป็นวันที่ 4 ส.ค. ที่เป็นการประชุมครั้งที่ 2 โดยจะเสนอกรอบการทำงานประชุม 4 ครั้ง เพื่อจัดทำรายงานคณะกรรมาธิการฯให้แล้วเสร็จ และเสนอ ประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 ทั้งนี้ วันที่ 4 ส.ค. จะพิจารณากรอบการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ และมอบหมายให้ รองประธานกรรมาธิการฯ ตั้งคณะทำงานเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตามคำขอแปรญัตติ โดยวันที่ 6 ส.ค.พิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราตามที่คณะทำงานสรุปเสนอ จากนั้นวันที่ 10 ส.ค. จะเชิญผู้แปรญัตติมาร่วมชี้แจง และสรุปร่างรายงาน และวันที่ 13 ส.ค.จะรับรองรายงานเพื่อเสนอ ประธานรัฐสภา บรรจุวาระพิจารณาวาระที่ 2 ในที่ประชุมรัฐสภา ทั้งนี้คาดว่าจะพิจารณาได้หลังเสร็จสิ้นการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565...วางโปรแกรมไว้ล่วงหน้า ไม่มีการดึงเช็งให้เสียเวลา เพราะงานนี้พรรคการเมืองใหญ่ ต้องการเปลี่ยนมาใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อความได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้า จบข่าว
ศพ สุนีย์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ มารดา สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ตั้งสวดศาลาพ่วงจินดา วัดพระศรีมหาธาตุฯบางเขน 23 ก.ค. คืนสุดท้าย ฌาปนกิจ 26 ก.ค.16.00 น.
"ธนูเทพ"