ภาพครอบครัว “นกแก้วโม่ง” น่ารักๆ ตามธรรมชาติถือเป็นสิ่งที่พบเห็นยาก เนื่องจากแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของนกแก้วนั้นถูกรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ ครอบครัวของนกแก้วโม่งอยู่ด้วยกัน 8-10 ตัว อยู่ร่วมกันเป็นฝูง และแม่นกแก้วโม่งออกไข่ปีละ 3-4 ฟองเท่านั้น จึงเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ 

นกแก้วโม่ง สัตว์เลี้ยงของจักรพรรดิ

“นกแก้วโม่ง” มีชื่อภาษาอังกฤษคือ Alexandrine Parakeet เป็นนกพื้นเมืองที่พบได้ทุกภาคในประเทศไทยยกเว้น ภาคใต้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Palaeornis eupatria จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ค่อนข้างหาพบยากแล้ว


ชื่อสามัญของนกแก้วโม่งนั้นตั้งขึ้นเป็นเกียรติแด่ อเล็กซานเดอร์มหาราช จักรพรรดิแห่งอาณาจักรมาซิโดเนีย ผู้นำนกแก้วโม่งจากเอเชีย ไปเลี้ยงจนเป็นที่รู้จักของชาวทวีปยุโรป นกแก้วโม่งนั้นมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปเอเชียตะวันตก และเอเชียตะวันออก และหมู่เกาะอื่นๆ ในอันดามัน นกแก้วโม่งแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ ตามสีสัน เรียกกันว่า นกแก้วโม่งอินเดีย นกแก้วโม่งพม่า นกแก้วโม่งไทย

ขนาดของนกแก้วโม่งไทยอยู่ที่ 50-51 เซนติเมตร น้ำหนัก 200-300 กรัม กินผลไม้ที่มีเปลือกนุ่ม และเปลือกแข็ง รวมถึงเมล็ดธัญพืชต่างๆ

...

นกแก้วโม่ง มีนิสัยอย่างไร 

นกแก้วโม่งเป็นนกที่ร้องเสียงดัง นกแก้วโม่งพูดได้เมื่อนำมาเลี้ยงให้เชื่อง มักหากินเป็นฝูงใหญ่ 8-10 ตัว เกาะตามยอดไม้ ใช้ปากเกาะเกี่ยวเคลื่อนตัวไปตามกิ่งไม้ได้ดี นกแก้วโม่งผสมพันธุ์ในช่วงรอยต่อฤดูหนาวถึงฤดูร้อน ในระหว่างเดือนธันวาคมถึงเมษายน ทำรังอยู่ตามโพรงไม้ วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง โดยพ่อและแม่นกจะช่วยกันอนุบาลลูกอ่อน ระยะเวลาฟักไข่ใช้เวลาประมาณ 19-21 วัน   

ความเชื่อเกี่ยวกับการเลี้ยงนกแก้วโม่งในอดีต จัดให้เป็นนกที่มีราคา ถือว่าเป็นนกที่เลี้ยงไว้ดูเล่นของขุนนาง พระราชา หรือจักรพรรดิ ตามความเชื่อของคนสมัยก่อน ปัจจุบันนกแก้วโม่งไทยตามธรรมชาติเหลือน้อยมาก ผู้ที่รักนกแก้วชนิดนี้ไม่ควรจับนกมาเลี้ยงเอง และไม่ควรรบกวนแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติ ควรช่วยกันรักษาและอนุรักษ์ไว้ให้นกแก้วโม่งอยู่คู่ท้องถิ่นเราไปนานๆ

ที่มา : เว็บไซต์สวนสัตว์ดุสิต