รู้จักสารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ สารพิษจากโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก มีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจเมื่อสูดดม ระคายเคืองต่อดวงตา และเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม

จากเหตุการณ์คลังเก็บสารเคมีระเบิด เวลา 03.00 น. วันที่ 5 ก.ค. 64 ที่โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซอยกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ผู้จัดการโรงงานให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งมีการเก็บสารเคมีซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก ได้แก่ เพนเทน และสไตรีน โมโนเมอร์ ประชาชนหวั่นสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนที่อพยพออกจากพื้นที่ควรตรวจสอบประกาศจากกรมควบคุมมลพิษ เพื่อวางแผนเดินทางกลับที่อยู่อาศัย

ควันพิษจากสไตรีน โมโนเมอร์ หวั่นกระทบสุขภาพ

ผลกระทบต่อร่างกายจากสารพิษโรงงานกิ่งแก้วระเบิดต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากสารพิษสไตรีน โมโนเมอร์ (Styrene Monomer) ซึ่งเป็นสารที่เก็บไว้ในโรงงานดังกล่าวจำนวนมาก

  • การปฐมพยาบาลเมื่อได้รับ สไตรีน โมโนเมอร์

...

- เมื่อสูดดมโดยตรง ให้ผู้สัมผัสรับอากาศบริสุทธิ์ ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ
- เมื่อสัมผัสทางผิวหนัง ให้ถอดเสื้อผ้าผู้สัมผัสออกทันที ล้างออกด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากๆ เป็นเวลา 15 นาที
- เมื่อเข้าตา ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดไหลผ่านปริมาณมากๆ อย่างน้อย 15 นาทีและไปพบแพทย์
- หากกลืนกิน ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำสะอาดปริมาณมากๆ และรีบพบแพทย์

  • ผลกระทบระยะยาวเมื่อร่างกายได้รับสารพิษ “สไตรีน โมโนเมอร์”

มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าการสัมผัส สไตรีน โมโนเมอร์ (Styrene Monomer) เรื้อรังจะกดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และมีผลต่อระบบต่างๆ ดังนี้

- ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง
- ผิวหนังเกิดแผล ระคายเคือง หรือเกิดอาการแพ้เรื้อรัง
- ผลต่อดวงตา ระคายเคือง เกิดแผลไหม้ ปวด และตาแดง
- เมื่อกลืนกิน เกิดเป็นแผลไหม้ที่ปากและกระเพาะอาหาร ทำให้เจ็บคอ ปวดท้อง ปวดศีรษะ วิงเวียน อาเจียน และเซื่องซึม

เหตุการณ์สไตรีน โมโนเมอร์ระเบิดที่ต่างประเทศ


การรั่วไหลของ “สไตรีน โมโนเมอร์ (Styrene Monomer)” เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง และเนื่องจากสารตัวนี้เป็นสารผลิตพลาสติกที่สำคัญในโรงงานอุตสาหกรรม จึงมีข้อกำหนดควบคุมกับหน่วยงานความปลอดภัยเพื่อป้องกันและใช้งานในระดับสากล ตัวอย่างเหตุการณ์รั่วไหลของสารนี้ เช่น

  • สไตรีน โมโนเมอร์ระเบิดที่สหรัฐอเมริกา

เหตุเกิดวันที่ 28 สิงหาคม 2548 ณ พื้นที่รอการขนส่ง สนามบินลังเกน (Lunken) รัฐโอไฮโอ (Ohio) ประเทศสหรัฐอเมริกา คาดว่ามาจากวาล์วนิรภัยของถังบรรจุเปิดออก เนื่องจากความดันสูงภายในถัง จากปฏิกิริยาโพลีเมอไรเซชัน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาคายความร้อน ในเหตุการณ์ครั้งนั้นทางรัฐสั่งปิดสนามบินชั่วคราว และออกคำสั่งให้อพยพประชาชนรัศมี 0.5 ไมล์ และประกาศเป็นเขตควบคุมตลอดรัศมี 1 ไมล์ มีตำรวจ 2 นายสูดดมสารนี้เข้าไปมากขณะตรวจสอบเหตุการณ์ และถูกนำส่งโรงพยาบาล

  • การป้องกันสไตรีน โมโนเมอร์รั่วไหล

...

ตัวอย่างเหตุการณ์สไตรีน โมโนเมอร์รั่วไหลที่สนามบินลังเกนครั้งนั้น ผู้เกี่ยวข้องต้องเข้ารับการฝึกซ้อมสวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัยให้เหมาะสมก่อนเข้าใช้งานพื้นที่ปฏิบัติการ และตรวจสอบการจัดเก็บถังสไตรีนให้มีความปลอดภัย

ในถังบรรจุสไตรีน โมโนเมอร์ ต้องไปเป็นตามข้อกำหนดการขนส่งสินค้าอันตราย และควรมีการตรวจสอบอุณหภูมิและระดับความดันของสไตรีน โมโนเมอร์ภายในถัง
สไตรีน โมโนเมอร์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบและกำหนดให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย และแจ้งการดำเนินการเมื่อมีการผลิต นำเข้า การส่งออก และมีไว้ในครอบครอง

ในประเทศไทย มีโรงงานที่ผลิตสไตรีน โมโนเมอร์ และมีการใช้งานสไตรีน โมโนเมอร์ การนำเข้า ส่งออก มีไว้ในครอบครอง ต้องแจ้งตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามแบบ วอ./อก.5 เพื่อออกใบรับแจ้งเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2551

ระวังประทุซ้ำ ลมพายุก่อ "ฝนกรด" จากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ก่อผลเสียระยะยาว

...

ผศ.ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำวิชาภาคฟิสิกส์จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคำนวณทางฟิสิกส์ ก็เป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์ในแง่มุมทางฟิสิกส์ว่า

“ควันจากการระเบิด เป็นควันจากการระเบิดและเผาไหม้สารเคมีเป็นผลจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ และมีสารพิษปะปน ถ้าเหตุเกิดตอนฝนตกจะมีโอกาสนำสารพิษจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์สู่แม่น้ำลำคลอง ตอนนี้ทิศทางลมเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ลมจะพาควันกระจายออกไป เป็นความหวังของเราอยู่ว่าหากลมพัดกระจายเป็นวงกว้าง จะเจือจางความเข้มข้นของสารพิษ เมื่อระดับความเข้มข้นในอากาศต่ำลงกระจายฝุ่นออกไปไกล จะส่งผลต่อความเป็นกรดของน้ำฝนน้อยลง ความเข้มข้นของสารเจือปนเจือจางลงจนถึงระดับที่ปลอดภัย

สถานการณ์ตอนนี้คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันพยายามกำจัดควันให้มากที่สุด ไม่ให้ปะทุระเบิดขึ้นมาอีก เรามีประสบการณ์หลายครั้งทั้งที่ คลองเตย และมาบตาพุด

เมื่อสอบถามถึงอันตรายต่อประชาชน อ.สธน เตือนว่า “ตอนนี้เป็นอันตรายต่อคนที่เป็นหอบหืด คนที่เป็นจะแสบจมูก แสบตา ใครที่มีอาการเหล่านี้อยู่ก็ควรติดตามข้อมูลทิศทางลม วันนี้ลมกำลังพัดไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นจังหวัดฉะเชิงเทราและนครนายก ส่วนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอฟังผลจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ลงไปตรวจคุณภาพน้ำ เก็บตัวอย่างน้ำฝน รวมถึงการติดตามสถานการณ์ทางภูมิอากาศได้จาก GISTDA"

ภาพถ่ายดาวเทียม GISTDA เตือนกลุ่มควันสีดำ

...

ข้อมูลจาก GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) จากการใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม Sentinel-2 ของวันที่ 5 ก.ค. 64 ตรวจสอบพื้นที่โดยรอบเวลา 10.35 น. พบว่าสภาพพื้นที่โดยรอบของจุดเกิดเหตุที่ประกอบด้วยชุมชนกว่า 994 แห่ง และโรงงานอีกกว่า 1,120 แห่ง

ภาพจากดาวเทียมเมื่อช่วงสายที่ผ่านมา ยังแสดงให้เห็นถึงกลุ่มควันสีดำที่มีทิศทางพัดไปทางทิศตะวันออก ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนของ อบต.ราชาเทวะ และบริเวณโดยรอบบางส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ทิศทางลมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงๆ คาดการณ์ว่าช่วงเวลา 19.00-21.00 น. จะมีการพัดเปลี่ยนแปลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงดังกล่าวติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด จาก GISTDA คลิกที่นี่

งดรองน้ำฝนดื่มอุปโภคบริโภค

ผู้ที่ที่รองน้ำฝนไว้ดื่มไว้ใช้ ต้องงดการนำน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาดื่ม ส่วนความปลอดภัยของน้ำกินน้ำใช้ในครัวเรือนนั้นต้องติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษเผยค่าความเข้มข้นสไตรีน สารพิษจากโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกย่านกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ โดยใช้ Box Model คำนวณร่วมกับสภาพอุตุนิยมวิทยา พบค่าความเข้มข้นของสารสไตรีน ดังนี้

  • รัศมี 1 กิโลเมตร มีค่า 1,035.47 ppm
  • รัศมี 3 กิโลเมตร มีค่า 86.43 ppm
  • รัศมี 5 กิโลเมตร มีค่า 51.77 ppm

คำอธิบายในประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง ค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลัน กำหนดค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลันของสารสไตรีนไว้ 3 ระดับ ได้แก่

  • ระดับที่ 1 มีค่า 20 ppm : ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
  • ระดับที่ 2 มีค่า 130 ppm : ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไม่ร้ายแรง
  • ระดับที่ 3 มีค่า 1,100 ppm : ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต

 
ผู้ได้รับผลกระทบหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นและเข้ารับการรักษา ผู้อยู่อาศัยในรัศมีอันตรายควรติดตามปฏิบัติตามประกาศจากกรมควบคุมมลพิษ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :