ช่วงหน้าฝนสัตว์มีพิษมักจะอพยพหนีน้ำเข้าไปมายังพื้นที่บริเวณบ้าน โดยเฉพาะ "ตะขาบ" ที่หลายคนพบบ่อยเมื่อฝนตกหนักๆ พวกมันมีเขี้ยวคู่หน้าเป็นอาวุธ หากตะขาบกัดลงบนผิวหนังแล้ว มักมีอาการปวดแสบปวดร้อนตามมา บางคนอาจแพ้รุนแรงถึงขั้นติดเชื้อ มาเช็กอาการและวิธีรักษาเบื้องต้น เพื่อจะได้มีแนวทางสำหรับการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี

วิธีสังเกตแผลและอาการ ถูกตะขาบกัดทําไงดี อันตรายไหม?

หากสงสัยว่าถูกตะขาบกัด ในเบื้องต้นให้สังเกตว่าผิวหนังบริเวณดังกล่าวมีรอยเขี้ยว 2 รอยหรือไม่ โดยจะมีลักษณะเป็นจุดเล็กๆ มีเลือดซิบ อาการของแต่ละคนจะแตกต่างกัน บางคนไม่แพ้ ในขณะที่บางคนก็อาจจะแพ้พิษของตะขาบอย่างรุนแรงได้เช่นกัน โดยหลังตะขาบกัด จะมีอาการดังต่อไปนี้

  • รู้สึกปวดร้อนบริเวณแผล
  • รู้สึกชาบริเวณแผล
  • แผลอักเสบ
  • แผลบวมแดง
  • ปวดหัว
  • เวียนศีรษะ
  • หายใจลำบาก
  • ใจสั่น
  • มีไข้ต่ำๆ
  • อาเจียน
  • ชัก
  • หมดสติ

แม้ตะขาบจะเป็นสัตว์มีพิษรุนแรงมากกว่าการโดนแมลงกัด แต่ไม่ได้เป็นพิษร้ายแรงถึงแก่ชีวิต ผู้ที่ถูกตะขาบกัด มักมีอาการปวดร้อนและบวมแดงบริเวณแผล ส่วนรายที่แพ้รุนแรงอาจติดเชื้อ ใจสั่น วิงเวียน และช็อกหมดสติได้เช่นกัน หากหลังถูกตะขาบกัดแล้วรู้สึกอาการไม่ดี ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

...

วิธีรักษาหลัง "ตะขาบกัด" ทําไงให้หายปวด?

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นหลังจากถูกตะขาบกัด สามารถรักษาได้ง่ายๆ ด้วยยาสามัญประจำบ้าน มีวิธีง่าย ๆ ดังนี้

1. ใช้น้ำสะอาดทำความสะอาดบริเวณแผล และล้างด้วยสบู่อ่อนๆ
2. ใช้ผ้าพันแผล พร้อมประคบน้ำอุ่นประมาณ 15-20 นาที (ห้ามใช้น้ำร้อน)
3. กินยาพาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการปวด
4. ห้ามเกาแผลเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดอักเสบและติดเชื้อ
5. สามารถใช้ยาหม่อง หรือยาทาแก้แมลงสัตว์กัดต่อย ทาเบาๆ บริเวณแผลได้

ทั้งนี้ หากอาการไม่ดีขึ้น หรือรู้สึกปวดบวมมากกว่าเดิม ร่วมกับมีอาการแน่นหน้าอก หายใจหอบ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นไปได้ว่าแพ้พิษตะขาบ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ตะขาบกัด กี่วันหาย?
- อาการปวดบวมหลังถูกตะขาบ จะค่อยๆ หายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง

ตะขาบกัด ใช้น้ำมะนาวรักษาได้ไหม?
- มักมีการส่งข้อความต่อๆ ในการสื่อโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับการใช้น้ำมะนาวทาบริเวณแผลที่ถูกตะขาบกัด เพื่อลดอาการอักเสบ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่วิธีรักษาที่ถูกต้อง และการใช้น้ำมะนาวไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการใดๆ จากการถูกตะขาบกัด จึงควรหันมาใช้วิธีที่ปลอดภัยจะดีกว่า.