ศ.นพ.พรชัย สิมะโรจน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รับมอบเงินบริจาคจำนวน 245,919 บาท จาก ธันยนันท์ กิจรักษ์สุวาณิช เพื่อสมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดี ในโครงการป้องกันสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ วันก่อน.
ภายใต้วิกฤติไวรัสมรณะต้องใช้มาตรการเข้ม หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ยักษ์ใหญ่สารพัดสี จำหน่ายมากที่สุดของประเทศ ฉบับประจำวันศุกร์ ที่ 2 กรกฎาคม 2564
“ธนูเทพ” ประจำการรับใช้ท่านผู้อ่าน...ยังต้องติดตามข่าวสารกันอย่างใกล้ชิด สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ในเมืองไทย หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการสถานการณ์โควิด-19 ประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด พร้อมทั้งใช้ยาแรง สั่งปิดแคมป์คนงาน และ ห้ามรับประทานอาหารที่ร้าน ในพื้นที่ 6 จังหวัดสีแดงเข้ม หวังสกัดไวรัสมรณะที่แพร่ระบาดหนัก แต่ผลที่ตามมากลายเป็นว่า มีคนงานจำนวนมากชิงหนีกลับต่างจังหวัด ส่อเป็นพาหะแพร่เชื้อกระจายไปในภูมิภาค ขณะที่มาตรการห้ามนั่งกินอาหารในร้าน ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร ขาดทุน ขาดรายได้ จนต้องปิดร้าน ลูกจ้างตกงาน ทำให้ รัฐบาล ต้องออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยากันอีกรอบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน...แต่ก็เป็นชนวนให้ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ กลุ่มมวลชน ที่จ้อง ล้มรัฐบาล ได้ทีขยายผล ตีปี๊บเป็นความล้มเหลวในการบริหารจัดการแก้ปัญหาวิกฤติโควิด ปลุกกระแสออกมาขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์
...
ประสา “ธนูเทพ” มองแบบกลางๆ ภายใต้สถานการณ์ที่โควิดระบาดถึงขั้นวิกฤติ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 4,000-5,000 คน มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 50 ราย ต่อวัน เตียงรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามเต็มหมด ก็ถือเป็นความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการเข้ม เพื่อสกัดยับยั้งการแพร่ระบาด เพราะถ้าไม่ใช้มาตรการเข้ม ระบบสาธารณสุข อาจถึงขั้นล่มสลาย แต่เมื่อใช้มาตรการแรง กึ่งล็อกดาวน์ ก็ต้องมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญการออกมาตรการของ ศบค. ก็พิจารณาจากข้อเสนอของ บรรดาอาจารย์แพทย์ ที่ห่วงว่าอาจจะเกิดการระบาดระลอก 4...ภายใต้สถานการณ์ที่วิกฤติโควิดขั้นสูงสุดรุกคืบเข้ามา ถ้าไม่มีมาตรการใดๆสกัดยับยั้ง คนที่จะต้องเดือดร้อนที่สุดจากเชื้อไวรัสมรณะก็คือ ประชาชนทั้งประเทศ...แน่นอน ในภาวะอารมณ์ของคนที่เดือดร้อนชิงชัง ความถูกต้อง กับ ความถูกใจ มักไปกันคนละทาง แต่การป้องกันรักษาความปลอดภัย ด้านสาธารณสุข ให้แก่ สังคมส่วนรวม และ ผู้คนส่วนใหญ่ ของประเทศ ถือเป็นหน้าที่ และสิ่งจำเป็นสูงสุดที่ รัฐบาล ต้องทำ
ขณะที่ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการ สมช. ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. ออกมาเน้นย้ำถึงกรณีปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ทำให้มีคนงานหนีกลับต่างจังหวัด ได้ทำความเข้าใจกับ สมาคมผู้ประกอบการก่อสร้าง และ นายกสมาคมภัตตาคารไทย ก่อนออกคำสั่ง แต่การสื่อสารอาจจะไม่ทั่วถึง ต้องขออภัยที่ทำให้เกิดความเดือดร้อน แต่เมื่อ คณาจารย์แพทย์อาวุโส คณบดีแพทย์ศิริราช และ มหาวิทยาลัยต่างๆ เสนอแนะ ศบค. ก็ต้องรับฟังและพยายามหาจังหวะที่เหมาะสม และดำเนินการอย่างรอบคอบ ส่วนที่มีผู้ติดเชื้อโควิดจากแคมป์คนงานกระจายไปตามต่างจังหวัด กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงสาธารณสุข แจ้งให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ควบคุมคนที่เดินทางไปจาก กทม.เข้ารับการกักกัน ควบคุม สังเกตอาการ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไว้แล้ว...คุมอยู่หรือไม่ สกัดได้รึเปล่า อีกครึ่งเดือนได้รู้กัน
...
อืม...แต่ในท่ามกลางวิกฤติโควิดล้อมเมือง ก็ยังพอมีมุมดีๆให้ใจชื้นขึ้นมาหน่อย เพราะเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา นายกฯประยุทธ์ ไปเป็นประธานเปิด โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่เป็นโครงการนำร่องเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ตามนโยบาย เปิดประเทศภายใน 120 วัน โดยการเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ วันแรกนี้ มีเที่ยวบินเดินทางเข้ามา 4 เที่ยวบิน นักท่องเที่ยวจำนวน 249 ราย จากหลายประเทศ อาทิ อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ โดยทุกคนเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว และดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ หากนักท่องเที่ยวรายใดจะเดินทางออกนอก จ.ภูเก็ต จะต้องพักอยู่ที่ภูเก็ตเกิน 14 วัน โดยต้องตรวจหาเชื้อซ้ำอีก 2 รอบ เพื่อความปลอดภัยตามมาตรการสาธารณสุข...ส่วน ธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ระบุจากการที่สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ของไทยทั่วโลก เปิดลงทะเบียนเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. มีนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทย ลงทะเบียนแล้ว 4,100 คน โดย กรมควบคุมโรค ตรวจเอกสารการฉีดวัคซีนและอนุมัติไปแล้วกว่า 500 ราย...เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
...
...
ฮัดชิ้ว...มหากาพย์ปัญหาทุจริตข้าว ในยุค รัฐบาลเพื่อไทย ยังส่งผลต่อผู้เกี่ยวข้องไม่จบ ล่าสุด นิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิด กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ไม่สั่งการให้ตรวจสอบกรณี องค์การคลังสินค้า (อคส.) เลือก บริษัทสยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้ องค์การสำรองอาหาร (BULOG) ประเทศอินโดนีเซีย โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ กิตติรัตน์ ไม่ได้ใช้อำนาจในฐานะ รมว.พาณิชย์ สั่งการตรวจสอบเพื่อแก้ปัญหา ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า กิตติรัตน์ มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 รวมทั้ง อดีตผู้บริหาร อคส. 3 คน และ บริษัท สยามอินดิก้าฯ มีมูลความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดย ป.ป.ช. จะส่งเรื่องให้ อัยการสูงสุด พิจารณาส่งฟ้องต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อไป...งานนี้คงต้องไปต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม บทสรุปจะออกมาอย่างไร ต้องตามลุ้นกันยาวๆ
สังคมทั่วไป...สวดพระอภิธรรมอัฐิ คุณแม่วิจิตร โพธิ์วิจิตร ศาลา 12 วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน 18.00 น. ถึง 3 ก.ค.
"ธนูเทพ"