เดือนมิถุนายนของทุกปีถือเป็น "LGBT Pride Month" หมายถึง เดือนแห่งความภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ จะเห็นว่ามีผู้คนทั่วโลกออกมาเคลื่อนไหวโบกธงสีรุ้งเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ โดยทุกวันที่ 28 มิถุนายน ถูกจำจดในฐานะวันแห่งการรำลึกเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ LGBT Pride มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ติดตามได้จากบทความนี้

"LGBT Pride" คืออะไร ทำไมใครๆ ก็พูดถึงในยุคนี้

LGBT Pride (แอลจีบีทีไพรด์) คือ การสนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้ได้รับสิทธิและความเท่าเทียมในเรื่องต่างๆ ไม่มีการแบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศภาคภูมิใจในเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง ซึ่งการสนับสนุนกลุ่มทางสังคมเหล่านี้ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนทางสังคม (Social Movement) ที่สำคัญในปัจจุบัน

ประวัติ "LGBT Pride" 28 มิ.ย. จุดเริ่มต้นการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

...

ค่านิยมของสังคมในอดีตไม่ได้เปิดกว้างเหมือนอย่างในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อกลุ่ม LGBT ช่วงทศวรรษ 1960 มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎหมายให้ประชาชนแต่งกายให้ตรงกับเพศสภาพ รวมถึงเข้าควบคุมบาร์เกย์ และสั่งห้ามเปิดให้บริการ ทำให้หลายคนต้องปกปิดตัวตน เนื่องจากถูกรัฐและสังคมกดดันอย่างหนัก

จนกระทั่งวันที่ 28 มิถุนายน 1969 เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าจับกุมตัวผู้ใช้บริการในบาร์เกย์ "สโตนวอลล์ อิน" (Stonewall Inn) พร้อมทั้งใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้มีความหลากหลายทางเพศ สร้างความไม่พอใจให้กลุ่ม LGBT เป็นอย่างมาก

เหตุการณ์ปราบจลาจลในครั้งนั้น กลายเป็นชนวนให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศและประชาชนจำนวนมาก ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิ ความเท่าเทียม และต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกทางตัวตน โดยเริ่มจากการเคลื่อนไหวในมหานครนิวยอร์ก ก่อนจะขยายไปยังเมืองใหญ่อื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา

ที่มาของภาพ : harvard.edu
ที่มาของภาพ : harvard.edu

ยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามมากเท่าไร ฝูงชนก็ยิ่งเดินทางมารวมตัวกันมากขึ้น นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กลุ่ม LGBT ออกมาเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ และยอมรับตัวตนต่อสื่อสาธารณะ นำไปสู่การเดินขบวนประท้วง ขบวนพาเหรด และการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่สื่อถึง "ไพรด์" (Pride) หรือความภาคภูมิใจในตนเอง

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้น ทุกวันที่ 28 มิถุนายน จึงเป็นวันที่ทั่วโลกร่วมกันรำลึกถึงเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) อันเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้แก่กลุ่ม LGBT มาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

กิจกรรมใน "LGBT Pride Month" มีอะไรบ้าง?

การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมดำเนินเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2000 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ของสหรัฐฯ ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายน เป็นเดือน "Gay & Lesbian Pride Month" หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยน 

ต่อมาในปี 2009 สมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือน "Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month" เพื่อให้ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ LGBT Pride Month นั่นเอง

กิจกรรมต่างๆ ของ LGBT Pride Month จะเป็นการเดินขบวนพาเหรดเกย์ไพรด์ (Gay Pride) พร้อมโบกธงสีรุ้งอันเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลาย ขณะเดียวกันก็จะมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้แต่ละประเทศผลักดันกฎหมายที่สนับสนุนสิทธิและเสรีภาพแก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น กฎหมายการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน เป็นต้น

...

เปิดความหมายของธงสีรุ้ง แต่ละสีหมายถึงอะไร?

"ธงสีรุ้ง" คือ สัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ เป็นหนึ่งในภาพจำสำคัญของ LGBT Pride ผู้ออกแบบคนแรกคือ ชาวอเมริกัน "กิลเบิร์ต เบเกอร์" (Gilbert Baker) ซึ่งเป็นนักกิจกรรมคนสำคัญในการขับเคลื่อนสิทธิและเสรีภาพให้กลุ่ม LGBT

เขาเริ่มออกแบบธงสีรุ้งครั้งแรกในปี 1978 โดยใช้สีแถบธงจำนวน 8 สี ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากแถบธงชาติของสหรัฐฯ ต่อมาได้ตัดออก 2 สี ได้แก่ สีชมพู (หมายถึง เพศวิถี) และสีน้ำเงินคราม (หมายถึง ความสามัคคีกลมเกลียว) เนื่องจากในสมัยนั้น 2 สีดังกล่าว ผลิตยากและมีราคาค่อนข้างแพง ทำให้ธงสีรุ้งเหลือเพียง 6 สีเหมือนอย่างเช่นในปัจจุบัน ความหมายของแต่ละสีบนธงสีรุ้ง มีดังนี้

  • สีแดง หมายถึง ชีวิต
  • สีส้ม หมายถึง การเยียวยา
  • สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์
  • สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ
  • สีฟ้า หมายถึง ศิลปะ
  • สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณ

...

กว่าที่สังคมจะเดินทางมาถึงจุดที่หลายฝ่ายตระหนัก และให้การยอมรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็ล้วนต้องผ่านเรื่องราวการต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มคนตัวเล็กๆ มาโดยตลอด ซึ่งในปัจจุบัน LGBT Pride ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญในระดับโลกไปแล้ว