ถึงจะชื่อ “หมีน้ำ” แต่อย่าเพิ่งนึกว่าเป็นหมีตัวโตๆ อย่างที่คุ้นเคย เพราะ “หมีน้ำ” นี้คือสัตว์ที่มีชื่อว่า ทาร์ดิเกรด (Tardigrade) ตัวเล็กกะจิริดจัดอยู่ในไฟลัมทราดิกราดา (Tradigrada) คือกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งชาติญี่ปุ่น รายงานว่าประสบความสำเร็จในการฟื้นคืนชีวิตให้ “หมีน้ำ” ที่ถูกแช่แข็งมานาน 30 ปี

ย้อนอดีตไปเมื่อปี พ.ศ.2526 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบทาร์ดิเกรดหรือหมีน้ำตัวเล็กๆ ยาวเพียง 1 มิลลิเมตรจากตะไคร่น้ำในทวีปแอนตาร์กติกา มันถูกนำออกมาและเก็บไว้ที่อุณหภูมิลบ 20 องศาเซลเซียส ซึ่งถูกละลายจากการแช่แข็งได้สำเร็จในเดือน พ.ค.2557 นักวิทยาศาสตร์เผยว่าไข่และตัวสัตว์ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง จากนั้นก็เริ่มเคลื่อนไหวและกินอาหารหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ มันฟักไข่ที่มีอยู่ทั้งหมด 19 ฟอง โดย 14 ฟองฟักได้สำเร็จ ไม่มีรายงานข้อบกพร่องหรือความผิดปกติในตัวอ่อนหมีน้ำแรกเกิดที่ฟักออกมา จริงๆแล้วก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ก็เคยชุบชีวิตหมีน้ำได้สำเร็จหลังจากผ่านไป 9 ปี แต่ครั้งใหม่นี้ถือเป็นตัวอย่างแรกของการชุบชีวิตหมีน้ำที่ประสบความสำเร็จหลังจาก 30 ปี

อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษารายละเอียดเพิ่ม โดยใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณด้วยการจำลองแบบมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขการควบคุมต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มความเข้าใจในกลไกและเงื่อนไขที่เป็นพื้นฐานของการเก็บรักษาชีวิตและการอยู่รอดของสัตว์ชนิดนี้ในระยะยาว.

ภาพ Credit : Wikipedia