โรคกลัวรู เป็นโรคแปลกๆ ที่มีอยู่จริง หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกอึดอัด ขนลุก ขยะแขยง และกระอักกระอ่วน ในทุกๆ ครั้งที่มองเห็นวัตถุที่มีรูรวมกันเป็นกระจุก แสดงว่ามีความเป็นไปได้ที่คุณกำลังเป็น "โรคกลัวรู" หรือโรคกลัวรูพรุน เมื่อเกิดความรู้สึกเช่นนี้จะมีวิธีรับมืออย่างไร บทความนี้มีคำตอบ

ทำความรู้จัก "โรคกลัวรู" หากเป็นแล้ว จะมีอาการอย่างไร?

โรคกลัวรู (ภาษาอังกฤษ : Trypophobia) คือ ภาวะความเกลียดกลัว ขยะแขยง เมื่อเห็นพื้นของวัตถุมีลักษณะเป็นรู เป็นหลุม หรือเป็นช่องกลมๆ ตะปุ่มตะป่ำ กระจุกรวมตัวกันเยอะๆ ทำให้รู้สึกขนลุก สะอิดสะเอียน อึดอัดไม่อยากมอง บางคนถึงกับมีอาการคลื่นไส้เมื่อเห็นรูมากมายรวมกัน สำหรับตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในชีวิตประจำวัน เช่น รังผึ้ง ฝักเมล็ดบัว เมล็ดทับทิม รูบนเนยแข็ง ปะการัง ฟองน้ำ ฯลฯ รวมถึงภาพวาด และวัตถุทุกอย่างที่มีลักษณะเป็นรูกระจุกตัวรวมกันนั่นเอง

หมายเหตุ : ในปัจจุบันมีแบบทดสอบมากมาย ทั้งรูปภาพและวิดีโอ เพื่อเช็กดูว่าคุณเป็นโรคกลัวรูหรือไม่ โดยสามารถสืบค้นด้วยคำว่า "Test Trypophobia

...

"โรคกลัวรู" เกิดจากอะไร เป็นความรู้สึกกลัวจริงหรือไม่?

แม้อาการดังกล่าวจะถูกเรียกว่า "โรคกลัวรู" แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ความกลัวเสียทีเดียว เพราะรูเหล่านั้นไม่ได้เป็นอันตรายใดๆ แต่มันเป็นความรู้สึกขยะแขยง กระอักกระอ่วน ไม่อยากเข้าใกล้ และไม่อยากมองมากกว่า

ในทางจิตวิทยาอธิบายว่า ความรู้สึกเกลียดกลัวรูนั้น อาจเชื่อมโยงกับประสบการณ์ในวัยเด็ก ทำให้มีความทรงจำที่ไม่ดีเมื่อเห็นรูเยอะๆ รวมกัน อีกทั้งอาจสัมพันธ์กับความวิตกกังวัลของพ่อแม่ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของลูก รวมไปถึงโรคกลัวรู ก็อาจเกิดจากโรควิตกกังวล, ความผิดปกติทางสมอง และโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน  

ในปัจจุบัน ยังไม่มีผลศึกษาออกมาแน่ชัดว่าโรคกลัวรูเกิดจากอะไร เพราะไม่ใช่โรคที่ต้องเข้ารับการรักษาโดยตรง หากแต่ในบางรายที่โรคกลัวรูส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ก็อาจต้องเข้ารับการบำบัดทางจิตวิทยา

วิธีกับมือกับโรคกลัวรู รักษายังไง?

หากใครที่กำลังรู้สึกว่า "โรคกลัวรู" ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน หรือรู้สึกเหงื่อออก อึดอัด อยากอาเจียนเมื่อเห็นวัตถุที่มีรูเยอะๆ ก็สามารถรับมือกับอาการดังกล่าวด้วยตนเองในเบื้องต้นได้ ด้วยการทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายความวิตกกังวล หากิจกรรมทำคลายเคลียด ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนสักระยะหนึ่งก่อน หลังจากนั้นให้ลองฝึกเผชิญหน้า รับมือ และเอาชนะความรู้สึกกลัว 

อย่างไรก็ตาม หากลองแก้ปัญหาด้วยตนเองแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าอาการของโรคกลัวรูยังไม่ดีขึ้น อาการดังกล่าวเป็นปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน ก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางบำบัดรักษาด้วยวิธีทางจิตวิทยาได้เช่นกัน