การใช้ประโยคต่างๆ เพื่อการสื่อสารในภาษาไทย จำเป็นที่จะต้องมี "คำวิเศษณ์" ทำหน้าที่ขยายคำต่างๆ ในประโยค ทำให้ผู้พูด และผู้ฟัง เข้าใจความหมายในสิ่งที่กำลังสนทนาอย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งคำวิเศษณ์แบ่งออกเป็น 10 ชนิด โดยแต่ละชนิดก็มีหน้าที่แตกต่างกัน

คําวิเศษณ์คืออะไร มีหน้าที่อย่างไร ทำไมจึงมีความสำคัญ?

คำวิเศษณ์ คือ คำที่ขยายคำนาม คำกริยา คำสรรพนาม เพื่อบ่งชี้ลักษณะต่างๆ ให้มีความละเอียดชัดเจน และเข้าใจง่ายมากขึ้น เช่น การบอกขนาด รูปทรง จำนวน ปริมาณ สี กลิ่น รส ฯลฯ 

ยกตัวอย่าง : หยิบปากกาให้หน่อย vs หยิบปากกาด้ามสีขาวให้หน่อย
= การใส่คำวิเศษณ์เข้าไปในประโยคจะทำให้ผู้รับสารเข้าใจอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

หน้าที่ของคำวิเศษณ์ ในการขยายคำต่างๆ สามารถแบ่งได้ง่ายๆ ดังนี้
1. คำวิเศษณ์ขยายคำนาม
เช่น คนอ้วนกินข้าวเยอะ, นักเรียนหลายคนเล่นฟุตบอล

2. คำวิเศษณ์ขยายคำสรรพนาม
เช่น พวกเธอทั้งหมดช่วยกันขนของ, ฉันเองที่ทำเรื่องไม่ดีแบบนี้

3. คำวิเศษณ์ขยายกริยา
เช่น ครูสอนศิลปะวาดรูปสวย, พี่สาวร้องเพลงไพเราะ

4. คำวิเศษณ์ขยายคำวิเศษณ์
เช่น ลายมือของเขาสวยมากจริงๆ, บ้านหลังนั้นสวยสุดๆ ไปเลย

5. คำวิเศษณ์ที่เป็นตัวแสดงในภาคแสดง
เช่น เธอสูงกว่าคนอื่นๆ, อาหารจานนี้อร่อย

...

คําวิเศษณ์มีกี่ชนิด แต่ละชนิดใช้อย่างไร?

คำวิเศษณ์แบ่งออกเป็น 10 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีหน้าที่ในการอธิบาย และบอกลักษณะของคำต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป โดยคำวิเศษณ์ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน สามารถจำแนกได้ดังนี้ 

1. ลักษณะวิเศษณ์ 
หมายถึง คําวิเศษณ์บอกอาการ โดยจะบอกลักษณะต่างๆ เช่น สี ชนิด ขนาด รูปทรง กลิ่น รส ความรู้สึกต่างๆ เช่น
- โทรศัพท์มือถืออยู่ในกระเป๋าสะพายสีดำ
- แก้วน้ำใบใหญ่มีความจุมากกว่าแก้วน้ำใบเล็ก

2. กาลวิเศษณ์
หมายถึง คำวิเศษณ์บอกเวลา เช่น เช้า สาย บ่าย เย็น วันนี้ เมื่อวาน ปัจจุบัน อดีต อนาคต เป็นต้น เช่น
- เมื่อวานฉันตื่นสาย
- พรุ่งนี้เป็นวันเกิดของพ่อ 

3. สถานวิเศษณ์
หมายถึง คำวิเศษณ์บอกสถานที่ เช่น เหนือ ใต้ กลาง ออก ตก ซ้าย ขวา บน ล่าง เป็นต้น
- บ้านฉันอยู่ใกล้โรงเรียน
- แมวนอนอยู่ใต้โต๊ะ

4. ประมาณวิเศษณ์
หมายถึง คำวิเศษณ์บอกจำนวน หรือปริมาณ เช่น ตัวเลข มาก น้อย หลาย เยอะ บ่อยๆ เป็นต้น
- น้องได้เงินไปโรงเรียนวันละ 50 บาท
- สมชายแอบงีบหลับในห้องเรียนอยู่บ่อยๆ 

5. ประติเษธวิเศษณ์ 
หมายถึง คำวิเศษณ์ที่แสดงความปฏิเสธ เช่น ไม่ ไม่ใช่ ไม่ได้ เป็นต้น
- เขาไม่ได้ชอบพอกับฉัน
- เธอไม่ใช่คนที่ฉันรัก

6. ประติชญาวิเศษณ์
หมายถึง คำวิเศษณ์ที่ใช้แสดงการขานรับ เช่น ครับ ค่ะ เป็นต้น 
- รับทราบครับ ผมจะทำตามคำสั่งเดี๋ยวนี้
- วันนี้ฉันทำอาหารหลายเมนูค่ะ

7. นิยมวิเศษณ์
หมายถึง คำวิเศษณ์ที่บอกความชี้เฉพาะ เช่น โน่น นี่ นั่น นั้น เป็นต้น
- ที่นั่นขายของที่เธออยากได้
- ผู้ชายคนนั้นเคยก่อคดีลักทรัพย์มาก่อน

...

8. อนิยมวิเศษณ์
หมายถึง คำวิเศษณ์ที่บอกความไม่ชี้เฉพาะ เช่น ใคร ไหน อะไร เป็นต้น เช่น
- เขาอยากจะไปที่ไหนก็เรื่องของเขา
- เธออยากขับรถคันไหนก็ได้

9. ปฤจฉาวิเศษณ์
หมายถึง คำวิเศษณ์แสดงคำถาม และความสงสัย เช่น อะไร อย่างไร ทำไม เมื่อไหร่ เท่าไร เป็นต้น
- คอมพิวเตอร์เครื่องนี้ซื้อมาราคาเท่าไร?
- ทำไมป่านนี้แล้วเขายังไม่มาหาฉัน?

10. ประพันธวิเศษณ์
หมายถึง คำวิเศษณ์ที่เชื่อมคำ หรือประโยคให้มีความเกี่ยวข้องกัน เช่น ที่ ซึ่ง อัน เพื่อให้ เป็นต้น 
- พ่อปลูกต้นไม้เพื่อให้มีร่มเงาในบริเวณบ้าน
- หนังสือเล่มที่พระอาจารย์มอบให้ มีคุณค่าอันหาที่สุดมิได้

นอกเหนือจากคำวิเศษณ์ที่ยกตัวอย่างมาแล้ว ยังมีคําวิเศษณ์ขยายเฉพาะ ที่ทำหน้าที่ขยายคำใดคำหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อบอกลักษณะของคำคำนั้นให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นไปอีก เช่น ราคาแพงหูฉี่ เส้นด้ายยาวเฟื้อย ทาแป้งแดงแจ๋ ถ่านไม้สีดำปี๋ หิมะสีขาวโพลน ฯลฯ คำวิเศษณ์ยังมีอีกมากมายนับไม่ถ้วน ที่เรามักนำมาใช้พูดในชีวิตประจำวัน ถือเป็นความหลากหลายทางภาษาที่ช่วยให้มีคำต่างๆ ใช้อธิบายความหมายได้สมบูรณ์มากขึ้น

...