เมื่อดาวฤกษ์มวลมากสิ้นอายุขัยก็จะระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวา สิ่งที่เหลืออยู่จะกลายเป็นหลุมดำหรือดาวนิวตรอน ซึ่งจัดเป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีความหนาแน่นที่สุด มีมวลราว 1.4 เท่าของขนาดดวงอาทิตย์ แม้จะสังเกตเห็นได้ทางดาราศาสตร์แต่ยังไม่ค่อยมีใครรู้เกี่ยวกับดาวนิวตรอนนัก ล่าสุด ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐฟลอริดา ในสหรัฐอเมริกา นำเสนอมุมใหม่ที่ทำให้ต้องหวนกลับมาคิดถึงขนาดโดยรวมของดาวนิวตรอน
การวัดขนาดของดาวนิวตรอนวิธีใหม่อาศัยการวัดความหนาแน่นของผิวนิวตรอนของตะกั่ว นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่านิวเคลียสของอะตอมประกอบด้วยนิวตรอนและโปรตอน ถ้านิวตรอนมีจำนวนมากกว่าโปรตอนในนิวเคลียส ก็จะมีนิวตรอนอยู่ด้านนอกรอบๆ ศูนย์กลางของนิวเคลียส ชั้นของนิวตรอนตรงนี้เองที่เรียกว่า “ผิวนิวตรอน” ซึ่งการวัดนี้จะนำมาเปรียบเทียบแทนค่าความยาวจากจุดศูนย์ กลางถึงเส้นรอบวงของวงกลมดาวนิวตรอนได้ โดยก่อนหน้านี้มีการทดลองเกี่ยวกับผิวนิวตรอนตามทฤษฎีอื่นๆ เปรียบเทียบพบว่าขนาดเฉลี่ยของดาวนิวตรอนอยู่ที่ประมาณ 10-12 กิโลเมตร
แต่จากการวัดความหนาแน่นของผิวนิวตรอนของตะกั่วแบบใหม่ พบว่าค่าความยาวจากจุดศูนย์กลางถึงเส้น รอบวงของวงกลมดาวนิวตรอนมีระยะโดยเฉลี่ย 13.25-14.25 กิโลเมตร ทั้งนี้ ความหนาของผิวนิวตรอนตะกั่วนั้นสำคัญต่อการศึกษาขนาดและโครงสร้างโดยรวมของดาวนิวตรอน รวมถึงผลักดันพรมแดนแห่งความรู้เพื่อนำไปสู่การไขปริศนาว่าเรามาจากไหน จักรวาลสร้างมาจากอะไร และอะไรคือชะตากรรมสุดท้ายของจักรวาล.
ภาพ Credit : NASA