คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้เรียกแทนคำนามที่ผู้พูด หรือผู้เขียนได้กล่าวถึง ใช้แทนชื่อที่เข้าใจกันอยู่แล้ว ไม่ต้องยกมากล่าวซ้ำอีก ซึ่งประโยคสื่อสารต่างๆ ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน ก็มักจะมีคำสรรพนามแทนบุคคลประกอบอยู่ด้วยเสมอ
คำสรรพนามแทนบุคคล ทั้ง 7 ชนิด มีหน้าที่อะไร ใช้อย่างไร?
คําสรรพนาม 7 ชนิด เป็นการแบ่งประเภทชนิดของคำนามในประโยคสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการพูด หรือการเขียน ก็จะช่วยให้การเรียบเรียงประโยคลื่นไหล ไม่จำเป็นต้องเอ่ยชื่อผู้ที่เรากล่าวถึงซ้ำไปซ้ำมา โดยคำสรรพนามแทนบุคคล ทั้ง 7 ชนิด มีดังนี้
1. บุรุษสรรพนาม : สรรพนามที่ใช้ในการพูด
เป็นคำสรรพนามที่ใช้สำหรับพูดจาสื่อสารกัน ระหว่างผู้พูด ผู้ฟัง และผู้ที่ถูกกล่าวถึง แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่
- สรรพนามบุรุษที่ 1 : ใช้แทนผู้ส่งสาร (ผู้พูด) เช่น ดิฉัน ฉัน กระผม ผม ข้าพเจ้า เรา หนู เป็นต้น
- สรรพนามบุรุษที่ 2 : ใช้แทนผู้รับสาร (ผู้ฟัง หรือผู้ที่เราพูดด้วย) เช่น ท่าน คุณ เธอ แก มึง เป็นต้น
- สรรพนามบุรุษที่ 3 : ใช้แทนผู้ที่ถูกกล่าวถึง เช่น ท่าน เขา เธอ มัน แก เป็นต้น
2. ประพันธสรรพนาม : สรรพนามที่ใช้เชื่อมประโยค
เป็นคำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่อยู่ข้างหน้า ใช้เมื่อต้องการจะกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง และสามารถเชื่อมประโยค 2 ประโยคเข้าด้วยกัน เช่น ผู้ชายที่นั่งอยู่ในแท็กซี่ เป็นเพื่อนของฉัน
3. วิภาคสรรพนาม : สรรพนามบอกความชี้ซ้ำ
เป็นคำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่อยู่ข้างหน้า เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเอ่ยซ้ำอีก และสามารถแสดงความหมายแยกออกเป็นส่วนๆ ได้ เช่น นักเรียนห้องนั้นต่างแย่งกันตอบคำถาม เป็นต้น
...
4. นิยมสรรพนาม : สรรพนามชี้เฉพาะ
เป็นคำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่กล่าวถึงที่อยู่ โดยเป็นการระบุให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น เธอเป็นนางสาวไทยในปีนี้, บ้านหลังนั้นเป็นของผู้อำนวยการ เป็นต้น
5. อนิยมสรรพนาม : สรรพนามบอกความไม่เจาะจง
เป็นคำสรรพนามที่ใช้แทนนาม กล่าวถึงโดยไม่ได้เจาะจง หรือต้องการคำตอบ เช่น ใครก็ได้ช่วยปิดหน้าต่างหน่อย, อะไรๆ ก็ไม่เป็นไปอย่างที่หวัง เป็นต้น
6. ปฤจฉาสรรพนาม : สรรพนามที่เป็นคำถาม
เป็นคำสรรพนามที่ใช้แทนนาม เพื่อต้องการคำตอบที่ชัดเจน เช่น หนังสือของใครวางอยู่บนโต๊ะ, อะไรอยู่ในกล่องใบนี้, ไหนของที่ฉันฝากซื้อ เป็นต้น
7. สรรพนามที่เน้นตามความรู้สึกของผู้พูด
เป็นคำสรรพนามใช้บอกความรู้สึกของผู้พูด ที่มีต่อบุคคลที่ถูกกล่าวถึงได้ เช่น อาจารย์ท่านเป็นคนมีจิตใจเมตตา, สมศักดิ์มันเป็นคนไม่เอาถ่าน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคำสรรพนาม ซึ่งก็คือ กลุ่มคำที่มีคำสรรพนามนำหน้า ใช้ทั้งเรียกแทนตนเอง เรียกผู้อื่น เรียกสัตว์ และสิ่งของ เช่น
- เราทุกคน รู้สึกยินดีที่ได้มาในวันนี้
- พวกท่านทั้งหลาย เชิญรับประทานอาหารให้เต็มที่
- ท่านอาจารย์ มานานแล้วหรือยัง
- มันทั้งหมด วิ่งเร็วมากๆ
คําสรรพนามทั้งหมดในภาษาไทยมีให้เลือกใช้มากมาย โดยจะต้องคำนึงถึงระดับภาษาให้เหมาะสมแก่กาลเทศะ เช่น การใช้ภาษาระดับทางการ, กึ่งทางการ, ไม่เป็นทางการ รวมถึงภาษาระดับกันเอง การใช้คำสรรพนามได้อย่างถูกต้องเหมาะสมจะช่วยให้การสื่อสารไม่ติดขัด อีกทั้งจะช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ส่ง-ผู้รับสารได้เป็นอย่างดี