• ตั้งแต่ที่โลกเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 สิ่งหนึ่งที่กลายมาเป็นเทรนด์ในช่วงกักตัวคงหนีไม่พ้น ‘การทำอาหารทานเอง’ รวมถึงธุรกิจอาหารแบบเดลิเวอรี่ที่เติบโตขึ้นหลายเท่าตลอดระยะเวลาปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ซึ่งปัญหาที่ตามมาก็คือ ปริมาณของ ‘ขยะ’ ที่เพิ่มสูงขึ้น

  • แต่ถึงเราจะแยกขยะจนตาลาย, ลดการใช้ถุงพลาสติกเท่าที่ไหว และพกภาชนะแบบ ‘ใช้ซ้ำได้’ จนกระเป๋าตุง ทว่ากับ ‘อาหาร’ ที่เรามองว่าสามารถย่อยสลายได้ง่ายนั้น กลับกลายเป็นเรื่องที่เรามองข้าม และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่คิด

  • เพราะอาหารที่เราทานไม่หมด ทานไม่ทันเพราะต้องรีบไปทำงาน หรือแม้กระทั่งอาหารที่เราทิ้งไป เพราะความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับอายุการเก็บรักษาของมัน ล้วนเป็นสาเหตุของการเกิด ‘ขยะอาหาร’ ด้วยกันทั้งสิ้น -- วันนี้ ผู้เขียนจึงอยากชวนทุกคนมาช่วยกันลดขยะอาหารด้วย 6 วิธีการง่ายๆ


ตั้งแต่ที่โลกเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 สิ่งหนึ่งที่กลายมาเป็นเทรนด์ในช่วงกักตัวคงหนีไม่พ้น ‘การทำอาหารทานเอง’ รวมถึงธุรกิจอาหารแบบเดลิเวอรี่ที่เติบโตขึ้นหลายเท่าตลอดระยะเวลาปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ซึ่งปัญหาที่ตามมาก็คือ ปริมาณของ ‘ขยะ’ ที่เพิ่มสูงขึ้น

แน่นอนว่า เราทุกคนตระหนักถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้นนี้ และหลายคนก็ได้พยายามร่วมมือกันอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะ, การพกถุงผ้าไปช็อปปิ้ง, การนำบรรจุภัณฑ์มารีไซเคิล, การปฏิเสธช้อนส้อมพลาสติก หรือแม้แต่การที่ร้านค้าหลายแห่งหันมาใช้บรรจุภัณฑ์จากกระดาษหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายแทน

แต่ถึงเราจะแยกขยะจนตาลาย (ก่อนหันไปเห็นขยะของบ้านข้างๆ ที่ทิ้งทุกอย่างรวมกัน...), ลดการใช้ถุงพลาสติกเท่าที่ไหว และพกภาชนะแบบ ‘ใช้ซ้ำได้’ จนกระเป๋าตุง ทว่ากับ ‘อาหาร’ ที่เรามองว่าสามารถย่อยสลายได้ง่ายนั้น กลับกลายเป็นเรื่องที่เรามองข้าม และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่คิด

...

องค์การอาหารและการเกษตรประชาชาติ (Food and Agriculture Organization หรือ FAO) รายงานว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่เราทานกันนั้น มักถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะ ขณะที่ยังมีคนทั่วโลกอีก 690 ล้านคน กำลังประสบภาวะหิวโหยอดอยาก โดยเศษอาหารที่ถูกทิ้งทั่วโลกจนกลายสภาพเป็น ‘ขยะอาหาร’ (Food Waste) ในแต่ละปี มีปริมาณมากถึง 1,800 ตัน ซึ่งมากเกินพอที่จะทำให้คนเหล่านั้นได้อิ่มท้อง และยิ่งไปกว่านั้น เศษอาหารทั้งหมดนี้ก็ยังสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลกได้มากถึง 4.4 กิกะตัน หรือเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคคมนาคม และมากกว่าภาคอุตสาหกรรมการบินเสียอีก

จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษในปี 2560 ยังทำให้เรารู้ว่า 64% ของขยะในประเทศไทยเป็นขยะอินทรีย์ คิดเป็นปริมาณ 17.6 ล้านตัน เราจึงพอจะอนุมานได้ว่า คนไทยสร้างขยะอาหารเฉลี่ยปีละประมาณ 254 กิโลกรัมต่อคน ในขณะที่น้ำหนักเฉลี่ยของคนไทยเพศชายอยู่ที่ 68.83 และเพศหญิงอยู่ที่ 57.40 กิโลกรัม ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ในแต่ละปี เราทุกคนกำลังสร้างขยะอาหารหนักกว่าน้ำหนักตัวของเราถึง 4 เท่าเลยทีเดียว

เพราะอาหารที่เราทานไม่หมด ทานไม่ทันเพราะต้องรีบไปทำงาน หรือแม้กระทั่งอาหารที่เราทิ้งไป เพราะความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับอายุการเก็บรักษาของมัน ล้วนเป็นสาเหตุของการเกิด ‘ขยะอาหาร’ ด้วยกันทั้งสิ้น

อาจฟังดูเหมือนขยะอาหารเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน แต่ด้วยความเหนื่อยล้าจากชีวิตประจำวันที่ประดังประเดอยู่แล้วของแต่ละคน ก็อาจทำให้เราท้อใจได้ง่ายๆ -- วันนี้ ผู้เขียนจึงอยากชวนทุกคนมาช่วยกันลดขยะอาหารด้วย 6 วิธีการง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้พลังอะไรมากในแต่ละวัน

1) ทำรายการซื้ออาหารล่วงหน้าก่อนช็อปปิ้ง

สาเหตุหนึ่งของการที่ก่อให้เกิดปัญหาขยะอาหารในครัวเรือน ก็คือการจับจ่ายที่มากเกินพอดี ผู้เขียนก็เคยเป็นคนหนึ่งที่เวลาไปช็อปปิ้งแล้ว พอเห็นวัตถุดิบน่าทานก็ซื้อมาเยอะแยะ หลายครั้งจึงจบลงด้วยการที่ใช้ไม่ทัน และต้องโยนทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย


ต่อมา ผู้เขียนจึงลองทำ ‘รายการซื้ออาหาร’ ไว้ล่วงหน้า แล้วทบทวนดูว่า ในปริมาณการซื้อเท่านี้ เหมาะสมและเพียงพอสำหรับจังหวะการใช้ชีวิตของเราแล้วหรือยัง เพื่อที่จะไม่ต้องทิ้งวัตถุดิบอะไรไปให้ต้องรู้สึกเสียดายทีหลัง

...


2) จัดการวัตถุดิบให้ถูกต้อง เพื่อให้อยู่กันนานๆ

เพราะการจับเอาวัตถุดิบทุกอย่างมายัดใส่ตู้เย็นโดยปราศจากการจัดการที่ดี ก็มักทำให้เราหลงลืมว่า เราซื้ออะไรมาบ้าง และซื้อมันมาเมื่อไหร่กันแน่ ก่อนจบลงด้วยการทิ้งมันลงถังขยะ

ดังนั้น วิธีจัดการวัตถุดิบที่ถูกต้องเป็นระเบียบตั้งแต่แรก ยกตัวอย่างเช่น การจัดระเบียบตู้เย็นด้วยการแพ็กของใส่ทัปเพอร์แวร์ใสๆ ให้มองเห็นได้ชัดเจน, การติดฉลากวันที่ซื้อมา หรือแม้กระทั่งเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ในการจัดเก็บวัตถุดิบ อาทิ การคั้นน้ำมะนาวแช่แข็งเก็บไว้ หรือการห่อผักด้วยกระดาษแล้วเก็บไว้ในช่องแช่ผัก ซึ่งเป็นวิธีที่น่าจะช่วยยืดอายุของวัตถุดิบเหล่านั้นได้นานขึ้น


3) เข้าใจว่า Expiry Date กับ Best Before ต่างกัน


หลายคนอาจจะยังสับสนระหว่าง ‘วันหมดอายุ’ (Expiry Date) กับ ‘ควรบริโภคก่อน’ (Best Before) จึงทำให้วัตถุดิบหลายอย่างต้องถูกทิ้งขว้างไป และกลายเป็นขยะอาหารโดยไม่จำเป็น เราจึงควรทำความเข้าใจกับสองสิ่งนี้เสียใหม่

...


Expiry Date หรือ ‘วันหมดอายุ’ (EXP/EXD) หมายถึงอาหารที่หมดอายุ ณ วันที่ระบุไว้ข้างฉลาก ไม่ควรนำมารับประทานต่อเพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ส่วน Best Before หรือ ‘ควรบริโภคก่อน’ (BB/BBE) จะหมายถึงการที่อาหารยังมีลักษณะและรสชาติที่ดี รวมถึงมีสารอาหารครบถ้วน จนถึงวันที่ระบุไว้ข้างฉลาก ซึ่งแปลว่า หลังจากนั้น มันยังสามารถนำมาทานได้โดยไม่เป็นอันตราย แต่อาจจะไม่ได้มีคุณสมบัติครบถ้วนเหมือนตอนที่ผลิตใหม่ๆ เท่านั้นเอง


4) ใช้ประโยชน์จากเศษอาหารต่างๆ ให้ได้มากที่สุด

ก่อนที่เราจะทิ้งเศษอาหารให้กลายเป็นขยะ ควรคิดหาวิธีใช้มันให้เกิดประโยชน์เท่าที่ทำได้ดูก่อน เช่น เอาเปลือกมะนาวไปแปรเป็นน้ำยาทำความสะอาด หรือนำชิ้นส่วนของผักบางชนิดมาปลูกใหม่ (Regrow) เพื่อเอามาใช้ต่อในอนาคต

...


5) นำเศษอาหารที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ไปป้อนให้ต้นไม้

แต่ถึงที่สุดแล้ว หากเรายังมีเศษอาหารที่ไม่สามารถใช้ได้แล้วจริงๆ เราอยากแนะนำให้เอาเศษอาหารไปผสมดินแล้วทำเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ที่บ้านเสียเลย โดยอาจถือโอกาสนี้ปลูกผักสวนครัวเล็กๆ ไปด้วย (หากใครมีพื้นที่เพียงพอ) เพื่อให้มีผักที่สดใหม่ปลอดสารพิษไว้ทานเองที่บ้าน


6) ต่อยอดอาหารที่ทานเหลือ มาสร้างสรรค์เป็นเมนูใหม่ๆ

และก็ถึงเวลาที่เราจะได้แสดงฝีมือและความคิดสร้างสรรค์กันแล้ว ด้วยการลองนำอาหารที่ทานเหลือไว้ มาพลิกแพลงเป็น ‘เมนูใหม่’ ดู ไม่แน่ว่าคุณอาจจะได้เมนู ‘สุดว้าว’ ไว้ถ่ายรูปอวดเพื่อนด้วย ...แต่ถ้าใครยังนึกไม่ออก โปรดติดตามเมนูจากของเหลือที่เราจะทำกันในครั้งต่อๆ ไปก็ย่อมได้

ผู้เขียนอยากให้ทุกคนค่อยๆ ทดลองทำตาม 6 วิธีที่กล่าวมานี้ไปทีละนิด เพราะนอกจากเราจะได้ลดขยะอาหารเพื่อเป็นการช่วยโลกแบบเล็กๆ น้อยๆ แล้ว การที่เราไม่ต้องทิ้งอาหารไปเฉยๆ ก็ยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าไปในตัวด้วย -- ซึ่งในโอกาสถัดไป เราจะมาขยายถึงรายละเอียดในแต่ละข้อให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก


อ้างอิง: FAO, WHO, EPA, TDRI (1, 2), UN, Sustainable Jungle, WRI, Size Thailand, Greenpeace