ไทยพบเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดียแล้ว 2 ตัว คือ B.1.617.1 และ B.1.617.2 ในสถานกักตัวผู้เดินทางข้ามประเทศ แต่ยังไม่พบการระบาดในระดับชุมชน บทเรียนที่น่ากลัวจากอินเดียคือการรวมตัวของประชาชน ไม่เว้นระยะห่าง สร้างยอดผู้ติดเชื้อกว่า 4 แสนคนต่อวัน

วันที่ 10 พ.ค. 64 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รายงานพบเชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งพบจากหญิงไทยที่เดินทางมาจากปากีสถาน และกักตัวอยู่ใน State Quarantine ซึ่งรายงานว่าเป็นสายพันธุ์ B.1.617.1 อย่างไรก็ดี ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ก็รายงานพบเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย แต่เป็นตัว B.1.617.2 จากตัวอย่างที่ส่งมาตรวจ

โควิดสายพันธุ์อินเดีย ต่างจากสายพันธุ์เบงกอลอย่างไร

โควิดสายพันธุ์อินเดีย กับ โควิดสายพันธุ์เบงกอล มีความแตกต่างกันตรงตำแหน่งที่กลายพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียตื่นตัวกับการค้นหารหัสพันธุกรรมของสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่มาก โดยแลกเปลี่ยนผลวิเคราะห์ขึ้นทวิตเตอร์ เกิดเป็นข้อมูลที่บุคคลทั่วไปก็ติดตามเข้าถึงได้ ซึ่งโควิดสายพันธุ์อินเดีย B.1.617 นี้ ได้กลายพันธุ์เป็น 3 สายพันธุ์ย่อยแล้ว มีชื่อว่า B1, B.1.617.1, B.1.617.2, B.1.617.3 (พบการกลายพันธุ์ 2 ตำแหน่ง) แตกต่างจากสายพันธุ์เบงกอลที่มีชื่อว่า B.1618 (พบการกลายพันธุ์ 3 ตำแหน่ง) ชื่อที่ตั้งบ่งบอกถึงตำแหน่งที่กลายพันธุ์ แต่ไม่มีข้อบ่งชี้ถึงความรุนแรงอย่างชัดเจน

...

  • ไวรัสโควิดสายพันธุ์อินเดีย B.1.617.1 กลายพันธุ์ตำแหน่งที่ E484Q แต่ขาด N501Y
  • ไวรัสโควิดสายพันธุ์อินเดีย B.1.617.2 ไม่พบกลายพันธุ์ตำแหน่งที่ E484Q แต่ขาด N501Y
  • ไวรัสโควิดสายพันธุ์อินเดีย B.1.617.3 กลายพันธุ์ตำแหน่งที่ E484Q
  • ไวรัสโควิดสายพันธุ์อินเดีย-เบงกอล B.1.618 มีการกลายพันธุ์ถึง 3 ตำแหน่ง คือ S145-, S146-, S484K และ S614G

โควิดสายพันธุ์อินเดียอันตรายแค่ไหน

องค์การอนามัยโลก (WHO) พิจารณาให้โควิดสายพันธุ์อินเดียเฉพาะ B.1.617.1 จัดเป็นการกลายพันธุ์ระดับเพียงควรเฝ้าระวัง (Variant of Interest : VOI)

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี อธิบายข้อมูลโควิดสายพันธุ์อินเดียว่า B.1.617 มาจากตระกูล G (GISAID Clade) ระบาดตั้งแต่ปี 2563 และผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาพบว่าไวรัสสายพันธุ์อินเดียอาจไม่ร้ายกาจหรือสร้างปัญหาเท่ากับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ บราซิล และอังกฤษ พบการระบาดต่ำๆ จำกัดวง และอาจไม่สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายเหมือนกับสายพันธุ์เคนต์ B.1.1.7 ที่กำลังระบาดในอังกฤษและหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย แต่สิ่งที่เราต้องเฝ้าระวัง รอดูข้อมูลกันต่อไป คือ

1. ไวรัสสายพันธุ์อินเดียแพร่กระจายได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือไม่
2. ก่อให้เกิดอาการของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือไม่ (เช่น การรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น หรือมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น)
3. ปฏิกิริยา Neutralization ในห้องปฏิบัติการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แอนติบอดีที่สร้างขึ้นในระหว่างการติดเชื้อหรือการฉีดวัคซีนครั้งก่อนยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในหลอดทดลองได้ลดลง
4. เมื่อติดเชื้อโควิดจากสายพันธุ์อินเดียแล้ว ยาเดิมที่ใช้รักษาสายพันธุ์ก่อนหน้าจะยังมีประสิทธิภาพหรือไม่
5. การกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์อินเดียจะทำให้ตรวจไม่พบเชื้อในขั้นตอน PCR หรือไม่


E484Q และ L452R เป็นตำแหน่งการกลายพันธุ์บนสายพันธุกรรมของไวรัสโควิดสายพันธุ์อินเดีย B.1.617.1 เป็นที่สนใจมาก เพราะตำแหน่งที่กลายพันธุ์เกิดบริเวณส่วนคำสั่งสร้างโปรตีนหนามบนเปลือกนอกของไวรัส (Spike) แต่ไม่มีหลักฐานว่าเจ้าไวรัสโควิดสายพันธุ์อินเดีย B.1.617.1 ทำให้การฉีดวัคซีนไม่ได้ผล หรือหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกาย


โควิดสายพันธุ์อังกฤษ ยังน่ากลัวกว่าสายพันธุ์อินเดีย

...

ศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า กลุ่มพันธมิตร COVID-19 Network Investigations (CONI) ที่เกิดจากความร่วมมือถอดรหัสโควิดจากทีมวิจัยทั่วโลกได้ขึ้นแจ้งเตือนโควิดสายพันธุ์อินเดีย B.1.617.1 ว่าเป็น “สายพันธุ์ที่น่าจับตามอง (Variants of interest (VOI))” รวมถึงการตรวจเจอโควิดสายพันธุ์อินเดียครั้งนี้พบใน State Quarantine ยังไม่ถือเป็นการระบาดระดับชุมชน

ผู้ป่วยทุกคนที่ติดเชื้อโควิด-19 นั้นไม่ได้รับการตรวจแยกหาสายพันธุ์โดยตรง การตรวจคัดแยกสายพันธุ์จะรับสิ่งส่งตรวจมาจากผู้ที่กักตัวใน State Quarantine เพื่อวางแผนการรักษาและกักกันโรค สายพันธุ์อื่นๆ ไทยเราก็พบเจอมาบ้างแล้ว แต่การกลายพันธุ์ของสายพันธุ์อินเดีย ยังไม่มีข้อบ่งชี้ถึงความรุนแรงของโรค

ดร.วสันต์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่าสายพันธุ์ทองหล่อ พบความรุนแรงมาก ในที่นี้หมายถึงต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนหนึ่งต้องรักษาในห้องไอซียู ก่อนหน้านี้บางสายพันธุ์ไม่แสดงอาการ

ในการระบาด 3 ครั้ง สามารถบ่งบอกสายพันธุ์ที่ระบาดในชุมชนได้ ดังนี้

ระลอก 1 จากสนามมวย ชื่อสายพันธุ์ A.6
ระลอก 2 กลุ่มแรงงานต่างชาติ สายพันธุ์ B.1.36.16
ระลอก 3 จากทองหล่อ สายพันธุ์ B.1.1.7

การระบาดระลอก 2 นั้นพบว่าผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ บางส่วนชะล่าใจจึงทำให้มีผู้ติดเชื้อมาก แต่การระบาดระลอก 3 จากสายพันธุ์อังกฤษนี้พบความรุนแรง ผู้ป่วยมีอาการ ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล เข้าไอซียู และมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูง”

...

บทเรียนจากอินเดีย ควบคุมโควิด-19 ไม่อยู่

บทเรียนจากอินเดียทำให้เราเห็นว่า พฤติกรรมชุมนุมในเทศกาล ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้เชื้อระบาด มีผู้ติดโควิดกว่า 400,000 คนต่อวัน ทั้งที่พบเชื้อสายพันธุ์ใหม่ B.1.617.1 ระบาดมาตั้งแต่ปี 2563 ดังนั้นการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ฉีดวัคซีน และลดความเสี่ยงติดเชื้อจากการสัมผัสของใช้ส่วนตัว ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการป้องกันครั้งนี้

ในความทุกข์ยากของประชาชนอินเดีย ยังมีกลุ่มนักวิจัยจีโนมที่มีความสามารถ ทำให้การสืบค้นการกลายพันธุ์บนข้อมูลรหัสพันธุกรรม ของเชื้อ SARS-CoV-2 พบได้เร็ว อันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างนักวิจัยทั่วโลก ที่ส่งตัวอย่างเชื้อกว่า 1 ล้านตัวอย่าง ขึ้นบนระบบฐานข้อมูล GISAID Genomic Databank ทำให้นักวิจัยชาติอื่นนำผลไปวิเคราะห์เพื่อวางแผนป้องกันการระบาดในประเทศของตนได้ทันท่วงที

พบสายพันธุ์โควิดกลายพันธุ์ แล้วต้องวางแผนจัดการอย่างไร

จากในอดีต บางประเทศไม่มีเทคโนโลยีอ่านรหัสสารพันธุกรรม จะต้องส่งตัวอย่างไปต่างประเทศ ปัจจุบันการระบาดของโควิด-19 ทำให้นักวิจัยและสถาบันต่างๆ ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง และยิ่งทราบรหัสพันธุกรรมเร็วเท่าไร ก็วางแผนจัดการการระบาดได้มีประสิทธิภาพขึ้น

...

เมื่อสอบถามถึงสายพันธุ์อื่นๆ อย่าง South Africa (B.1.351) ดร.วสันต์ ชี้แจงว่าพบจากตัวอย่างที่ส่งมาตรวจ เมื่อพบเชื้อแล้วเราสามารถให้การรักษาผู้ที่กักตัวใน State Quarantine ได้ทัน และวางแผนการรักษาด้านวัคซีนในอนาคตได้ แต่ที่สำคัญตอนนี้คือ เราต้องระวังสายพันธุ์ที่มาจากต่างประเทศไม่ให้ระบาดสู่ท้องถิ่นชุมชน ด้วยวิธีการสุ่มตรวจสายพันธุ์เชื้อ ถอดรหัสพันธุกรรมทุกๆ 2 อาทิตย์ จากพื้นที่การระบาดทั่วประเทศ เฝ้าระวังจากกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ

ชุดน้ำยาที่ใช้ตรวจ สามารถแยกสายพันธุ์ไวรัส SARS-CoV-2 ได้อย่างแม่นยำ ได้แก่

  • สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7
  • สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351
  • สายพันธุ์บราซิล B.1.1.28 หรือ P1
  • สายพันธุ์อินเดีย B.1.617.1, B.1.617.2, B.1.617.3  
  • สายพันธุ์อินเดีย-เบงกอล B.1.618 (Triple mutant variant)
  • สายพันธุ์สมุทรสาคร ปทุมธานี กรุงเทพฯ B.1.36.16 
  • สายพันธุ์อื่นๆ ที่อาจเกิดการระบาดขึ้นในประเทศไทยในอนาคต เช่น สายพันธุ์แคลิฟอร์เนีย B.1.429
สายพันธุ์ที่ชุดน้ำยาตรวจสายพันธุ์โควิด (4-IN-ONE Multi-Purpose SARS-CoV-2 variant assays) ตรวจสอบได้
สายพันธุ์ที่ชุดน้ำยาตรวจสายพันธุ์โควิด (4-IN-ONE Multi-Purpose SARS-CoV-2 variant assays) ตรวจสอบได้

นอกจากนี้ ศูนย์จีโนมทางการแทพย์ รพ.รามาธิบดี กำลังพัฒนาวิธีตรวจโควิดสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617) และอินเดีย-เบงกอล (B.1.618) ให้ทราบผลการตรวจภายใน 24 ชั่วโมง ด้วยเทคนิควิธีการ The MassARRAY ® System for Targeted SNP Genotyping

สรุปได้ว่า ตอนนี้เราเจอโควิดสายพันธุ์อินเดียแล้ว 2 ตัว คือ B.1.617.1 และ B.1.617.2 ในระดับ State Quarantine แต่ยังไม่ถือว่าพบในการระบาดระดับวงกว้าง อย่างไรก็ดีทุกคนอย่าชะล่าใจที่จะป้องกัน เพราะการระบาดระลอก 3 นี้ คือ สายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) ที่มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต และสายพันธุ์ไทยแลนด์ (B.1.36.16) ที่ยังคงระบาดในปทุมธานี สมุทรสาคร ทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน ไม่ควรละเลยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อมีโอกาส.

ผู้เขียน : สีวิกา ฉายาวรเดช

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง