การปะทุขึ้นเป็นระลอกที่ 3 ของสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 สร้างความน่าสะพรึงกลัว ทั้งสำหรับผู้บริหารประเทศ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และประชาชนทั่วไป

ขณะที่ผู้บริหารประเทศยังคงสาละวนอยู่กับการซื้อ กระจาย ฉีดวัคซีน และสร้าง รพ.สนาม ปัญหาอีกอย่างที่ต้องเตรียมการรองรับอย่างดี ในเวลานี้ ก็คือ ปัญหา “ขยะติดเชื้อ”

อย่ามองว่า ขยะ เป็น เรื่องขยะ

เพราะจริงๆแล้ว ขยะ เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในเวลานี้

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ผู้ป่วยหรือผู้กักตัว 1 คน จะผลิตและสร้างมูลฝอยติดเชื้อต่อคนต่อวัน 0.7-0.9 กิโลกรัม หรือเฉลี่ยเป็นตัวเลขกลมๆก็คือ วันละ 1 กิโลกรัมต่อคน

ข้อมูลจากกรมอนามัย รายงานว่า ประเทศไทยมีสถานพยาบาล ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีอนามัยคลินิก ทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชนจำนวนมากกว่า 37,000 แห่ง มีจำนวนเตียงประมาณ 140,000 เตียง สถานพยาบาลเหล่านี้ มีการผลิตขยะติดเชื้อ ประมาณวันละ 65 ตัน เป็นมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประมาณวันละ 20 ตัน ที่เหลือเกิดขึ้นในสถานพยาบาลในส่วนภูมิภาคอีกประมาณ 45 ตัน

...

เรียกว่าในเวลาปกติ “ขยะติดเชื้อ” ก็มีปริมาณมากอยู่แล้ว ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ข้อมูลจากกรมอนามัยในปี 2563 ช่วงท่ีมีการล็อกดาวน์ ประเทศไทยมีอัตราการก่อมูลฝอยติดเชื้อราว 147,700 กิโลกรัมต่อวัน สูงขึ้นจากช่วงเวลาปกติราว 2,000 กิโลกรัม

ขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ หน้ากากอนามัย ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Research Institute ; TDRI) ชี้ว่า โรคระบาดโควิด-19 ทำให้คนหันมาใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นจาก 800,000 ชิ้น เป็นราว 1,500,000 ชิ้น ต่อวัน ไม่รวมขยะติดเชื้ออื่นๆ เช่น ถุงมือยางแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ชุดป้องกันตนเอง (Personal Protective Equipment ; PPE) หลอดยา เข็มฉีดยา และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกัน

มีตัวอย่างที่น่าเอาอย่างในประเทศจีน ซึ่งเริ่มต้นพบการระบาดครั้งแรก ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย นอกจากรัฐบาลจีนจะสร้าง โรงพยาบาลเฉพาะกิจหัวเสินซาน (Huoshenshan Hospital) เสร็จภายในเวลาเพียง 10 วันเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อแล้ว จีนยังสร้างโรงกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มอีกด้วย เนื่องจากโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยทั้งหมดสร้างขยะมากกว่าช่วงเวลาปกติถึง 600% โดยมีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ เฉลี่ยสูงถึง 240 ตันต่อวัน

กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม (MEE) ของจีน เผยว่า การแพร่ระบาดของโรคติดต่อครั้งนี้ สร้างปริมาณภูเขามูลฝอยติดเชื้อในจีนมากกว่าปกติที่เกิดขึ้นวันละ 40 ตัน เป็น 240 ตัน ซึ่งจีนใช้วิธีให้รัฐบาลกลางส่งรถโรงกำจัดขยะทางการแพทย์เคลื่อนที่ 46 คันไปช่วยกำจัดขยะทางการแพทย์ถึงที่ และปรับปรุงโรงกำจัดขยะอันตรายให้สามารถกำจัดขยะทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ถึงแม้จะไม่ใช่คนป่วย แต่การประกาศให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสก็เป็นการเพิ่มจำนวนของขยะทางการแพทย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

...

ตู้ หัวเจิ้ง (Du Huanzheng) ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจรีไซเคิลแห่ง มหาวิทยาลัยถงจี้ (Tongji University) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คือตัวเร่งให้เกิดการเพิ่มขึ้นของขยะและของเสียทางการแพทย์ และการเผายังคงเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการควบคุมจำนวนขยะที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับความกังวลในเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเองที่ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Oceans Asia องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อมในฮ่องกงรายงานว่า พบหน้ากากอนามัยจำนวนมากถูกพัดเข้าชายฝั่งในหมู่เกาะโซโก ซึ่งน่าจะมาจาก ประชากรกว่า 7 ล้านคนของเกาะฮ่องกง ใช้หน้ากากอนามัยวันละ 1-2 ชิ้น ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกที่ประมาณว่า มีการใช้หน้ากากอนามัยเดือนละ 129,000 ล้านชิ้น และถุงมือเดือนละ 65,000 ล้านชิ้น

สเตอไรไซเคิล (Stericycle) บริษัทรีไซเคิลในสหรัฐฯ ระบุว่า การเตรียมการรับมือกับปริมาณขยะที่จะเข้าสู่ระบบรีไซเคิล หรือการกำจัดอย่างถูกวิธี เป็นเรื่องจำเป็น สิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกาต่างกังวลมากกว่าขยะมูลฝอยจากโรงพยาบาล คือ การระบาดที่อยู่นอกสถานพยาบาล ชัดจากกรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีอาการไม่รุนแรง และรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน ที่สมาชิกในบ้านอาจไม่ทราบว่า ขยะที่เกิดขึ้นสามารถปนเปื้อนเชื้อโรคได้ และขยะดังกล่าวจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อไปสู่คนทำงานเก็บขยะ หรือคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกำจัดขยะต่อไป

...

ในประเทศไทย สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการสร้างมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 5 เท่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 1 คน จะมีอัตราการเกิดขยะมูลฝอยติดเชื้อได้ประมาณ 2.85 กิโลกรัมต่อเตียง ต่อวัน ซึ่งจะทำให้ประเทศต้องดูแลระบบติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มเป้าหมายนี้ โดยมูลฝอยติดเชื้อทั่วไป ที่มีต้นทุนจัดเก็บกิโลกรัมละ 15 บาท และขยะอันตรายทางการแพทย์ซึ่งเป็นขยะที่เสี่ยงปนเปื้อนโรคยิ่งกว่า มีต้นทุนจัดเก็บกิโลกรัมละ 50 บาท

มูลฝอยติดเชื้ออาจไม่ใช่แผลใหม่จากอุบัติโรคระบาด แต่เป็นการเปิดแผลเก่าที่มีมานานแล้ว และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของรัฐบาลไทยว่าเพียงพอที่จะดูแลสังคมให้ปลอดภัยจากโรคที่อาจแทรกซ้อนมากับปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นหรือไม่.