เมื่อพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับผลการยืนยันจากสถานพยาบาลแล้ว คนในหมู่บ้าน สถานที่อยู่อาศัยในชุมชน ก็ต้องช่วยกันระแวดระวัง คัดแยกกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะหมู่บ้านจัดสรรที่ยังมีนิติบุคคลช่วยดูแลอยู่ ก็ต้องเป็นเสาหลักที่พึ่งพาให้แก่คนในชุมชน ด้วยการเตรียมความพร้อมรับมือโควิดรอบด้าน ด้วยวิธีการดังนี้

วิธีดูแลลูกบ้านให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ก่อนกลายเป็นคลัสเตอร์แพร่เชื้อ

โควิด-19 เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ หากในพื้นที่ชุมชนมีบอร์ดประชาสัมพันธ์ควรใช้ข้อมูลจากภาครัฐและสถานพยาบาลมาติดประกาศ และหากมีลูกบ้านเป็นชาวต่างชาติก็ต้องทำป้ายประกาศเป็นภาษาอื่นด้วย นิติบุคคลควรศึกษาวิธีการดูแลคนในชุมชนเบื้องต้น เพื่อซ้อมรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตที่อาจพบลูกบ้านติดโควิด-19 ดังนี้

1. ตรวจสอบลูกบ้าน และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน

นิติบุคคลควรตรวจสอบลูกบ้านในพื้นที่ ด้วยช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แบบสอบถามกระดาษ หรือแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อทราบจำนวนผู้พักอาศัยในชุมชนอย่างคร่าวๆ เพื่อประเมินการจัดการตามความรุนแรงของการระบาดในลำดับถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันจากสถานพยาบาลแล้ว ก็ควรเปิดช่องทางให้ลูกบ้านได้แจ้งมายังนิติบุคคลด้วย ตัวอย่างข้อมูลเบื้องต้นที่ควรทราบ

  • ผู้ติดเชื้อมีความรุนแรงของอาการเป็นอย่างไร (ดูจากค่า CT ในผลตรวจ ยิ่งมีค่าสูง ยิ่งบ่งบอกโอกาสแพร่กระจายเชื้อสูง)
  • ผู้ติดเชื้อได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือยัง เพื่อจะได้ช่วยเหลือดำเนินการต่อไป
  • มีสมาชิกอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อกี่คน เพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยงสังเกตอาการ 14 วัน
  • ผู้ติดเชื้อใช้พื้นที่ส่วนกลางบริเวณใดบ้าง
  • ผู้ติดเชื้อและครอบครัวต้องการความช่วยเหลืออื่นๆ อีกหรือไม่

...

2. ติดต่อกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

นิติบุคคลควรประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อขอรับข้อมูลข่าวสาร และช่องทางการควบคุมโรคระบาดจากส่วนกลางอย่างชัดเจน และเมื่อพบผู้ป่วยติดโควิด-19 ในชุมชน ก็ต้องแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตามประกาศของกระทรวง

3. ตรวจสอบกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ

แยกคัดกรองความเสี่ยงผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อโดยตรง ให้เฝ้าระวังกักตัวสังเกตอาการ 14 วัน ตามคำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้มีความเสี่ยงระดับต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข เพราะหากไม่ช่วยดูแลสอดส่องผู้เสี่ยงติดเชื้อ อาจนำไปสู่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทวีขึ้นมากมาย หลายคอนโดมีเจ้าหน้าที่คอยส่งอาหารให้ที่ประตูหน้าห้องแก่ผู้ที่กักตัว

4. ทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง และพื้นที่เสี่ยงสัมผัส

เมื่อพบผู้ติดเชื้อในชุมชนแล้ว พื้นที่ส่วนกลาง และจุดเสี่ยงสัมผัสร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ปุ่มลิฟต์ บานประตู ทางเดิน ยิ่งเป็นพื้นที่รองรับผู้คนจำนวนมาก จะต้องเว้นระยะเวลาทำความสะอาดถี่ๆ เช่น ทุก 15 นาที หรือ 30 นาที ตามความเหมาะสม

วิธีผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19

นิติบุคคลควรจัดให้มีการทำความสะอาดอุปกรณ์ และบริเวณที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยใช้สัดส่วนการผสม ดังนี้

  • 1. น้ำยาฆ่าเชื้อโควิดสูตรน้ำยาฟอกขาวผสมน้ำสะอาด ใช้น้ำยาฟอกขาวเข้มข้น 6% 1 ส่วน ผสมน้ำสะอาด 99 ส่วน
  • 2. แอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป ไม่ต้องผสมน้ำเปล่าและสารอื่นๆ

5. แยกขยะติดเชื้อ แจ้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้มาจัดเก็บขยะติดเชื้อ

...

เมื่อมีผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อพักอาศัยอยู่ในชุมชน ควรให้ความรู้เรื่องการฆ่าเชื้อโรคก่อนมัดถุงขยะ และจัดให้มีพื้นที่พักขยะติดเชื้อในหมู่บ้าน รวมถึงแจ้งไปยังหน่วยงานท้องถิ่นให้มาจัดเก็บเพื่อไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดยเลือกพื้นที่ปลอดภัย ห่างไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และระมัดระวังสัตว์กัดแทะถุงขยะ ป้องกันการแพร่เชื้อ

6. ติดตามผลกลุ่มเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อ 14 วัน

เมื่อมีกลุ่มเสี่ยงพักอาศัยในหมู่บ้าน คอนโด อพาร์ตเมนต์ หอพัก ฯลฯ นิติบุคคลควรสอบถามอาการในช่วงกักตัว 14 วัน และให้ลูกบ้านรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่พนักงานควบคุมโรคในท้องถิ่น ตามประกาศควบคุมโรคของจังหวัด

7. เมื่อผู้ป่วยกลับจากโรงพยาบาล ให้กักตัว 14 วัน พร้อมให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ถ้าจำเป็น

ผู้ติดเชื้อที่กลับจากโรงพยาบาลแล้วก็ต้องให้กักตัวอยู่ในที่พัก 14 วัน เช่นกัน ระหว่างนี้ควรสอบถามความช่วยเหลืออื่นๆ เช่น การซื้อหาของกินของใช้ รวมถึงธุระอื่นๆ ที่พอจะช่วยเหลือกันได้ตามความเหมาะสม เพื่อลดการเดินทางของผู้ป่วยที่เพิ่งรักษาตัวหาย

...

8. สร้างช่องทางประชาสัมพันธ์ข่าวสารแก่ลูกบ้าน

เนื่องจากแต่ละชุมชนมีผู้อยู่อาศัยที่หลากหลาย ควรเลือกช่องทางประชาสัมพันธ์หลายด้านให้ครอบคลุม อาทิ ป้ายประกาศ เพจเฟซบุ๊ก LINE Official และช่องทางอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าคนในชุมชนจะรับทราบข้อมูลการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในช่วงเวลาที่พบโรคระบาดนี้

9. เปิดช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้ความช่วยเหลือแก่ลูกบ้าน

สร้างช่องทางที่ให้ลูกบ้านสามารถติดต่อกับนิติบุคคลได้สะดวก อาทิ เบอร์โทรศัพท์ส่วนกลาง ช่องทางออนไลน์ หรือจัดเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เมื่อพบผู้ติดเชื้อจะได้ช่วยเหลือกันได้ทั่วถึง

10. ปฏิบัติตามคำสั่งตามประกาศของจังหวัดและท้องถิ่น

จังหวัดต่างๆ พบการระบาดรุนแรงต่างกัน โดยจะมีประกาศปิดสถานที่ และมาตรการขอความร่วมมือ นิติบุคคลควรประชาสัมพันธ์ให้ลูกบ้านปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงชี้แจงโทษของการฝ่าฝืน เพื่อให้ข้อมูลแก่ลูกบ้านได้อย่างทันเหตุการณ์

แม้ว่าในแต่ละพื้นที่จะพบความรุนแรงของการระบาดต่างกัน แต่นิติบุคคลควรซ้อมรับมือกับโควิดไว้ เพื่อเป็นแนวทางดูแลชุมชน ช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับการรักษา และช่วยป้องกันการระบาดในชุมชนของเรา 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

...