งานประกาศผลรางวัลออสการ์ของทุกๆ ปี นับเป็นเวทีที่ทรงเกียรติ และยิ่งใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อีกทั้งยังเป็นงานที่บรรดาคอหนังทั่วโลก เฝ้าจับตามองว่า ภาพยนตร์ นักแสดง และผู้กำกับคนใด จะคว้ารางวัล Oscar 2021 ในสาขาต่างๆ ไปครอง
ทว่าท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนักทั่วโลก ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทำให้ “กระแส” และ “บรรยากาศ” ของเทศกาลออสการ์เงียบเหงากว่าทุกๆ ปี โดยในปีนี้ มีกำหนดขึ้นใน ช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 26 เมษายน (ตามเวลาในประเทศไทย)
รายชื่อหนังเข้าชิง Oscar 2021 ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 93 รวมถึงจำนวนคนออกจากบ้านไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ ไม่ได้ครึกครื้นเหมือนทุกๆ ปี อีกทั้งเทรนด์การดูหนังที่บ้านผ่านระบบสตรีมมิงต่างๆ ที่ตอบโจทย์ผู้คนในยุคนี้ ยังเข้ามาช่วงชิงพื้นที่โรงภาพยนตร์อย่างเห็นได้ชัด
อาจไม่ใช่แค่ “โควิด-19” ที่ส่งผลให้บรรยากาศงานออสการ์เงียบเหงา
...
ไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยประเด็นดังกล่าวกับ คุณภาณุ อารี ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการจัดหาหนังต่างประเทศมาฉายในไทย เขาเดินทางไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศมานับไม่ถ้วน หนังผ่านสายตามานับพันเรื่อง รวมถึงยังได้เห็นการพัฒนา และความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมนี้ผ่านช่วงเวลาต่างๆ อีกมากมาย
ภาณุ มองว่า บรรยากาศเซื่องซึมของเทศกาลงานออสการ์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ส่งสัญญาณมาสักระยะแล้ว แน่นอนว่าเป็นผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้หนังฟอร์มยักษ์ ทุนสร้างใหญ่ หรือหนังที่มีความหลากหลายต้องหยุดชะงักลง ขณะเดียวกัน การเข้ามาของระบบหนังสตรีมมิงก็มีส่วนทำให้กระแสหนังออสการ์ถูกลดบทบาทลงตามไปด้วย
"จริงๆ ออสการ์เริ่มส่งสัญญาณว่ามันดูซึมๆ ไม่ค่อยมีอะไรที่น่าตื่นเต้นในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาค่อนข้างชัด ก่อนหน้านี้ออสการ์อาจจะแอนตี้หนังจากสตรีมมิง แต่ระยะหลังเริ่มยอมรับหนังจากสตรีมมิงมากขึ้น มันก็เลยทำให้กระแสความความรู้สึกตื่นเต้นกับหนังลดน้อยลง ไม่เหมือนกับ 5-6 ปีที่แล้ว ก่อนที่สตรีมมิงจะเข้ามามีบทบาท"
"ปีที่แล้วตั้งแต่โควิด-19 เริ่มส่งผล ก็ยิ่งทำให้โมเมนตัมของช่องทางสตรีมมิงแข็งแรงมากขึ้น เมื่อคนออกไปดูในโรงไม่ได้ ก็ต้องดูผ่านสตรีมมิง มันยิ่งทำให้ความคึกคัก ความตื่นตัว ความรู้สึกที่ว่าหนังออสการ์ควรเป็นหนังที่ฉายในโรงภาพยนตร์ลดบทบาทลง"
ฟ้าหลังฝนรอวันสดใส! เชื่อคอหนังยังรอวันหวนคืนโรงภาพยนตร์
แม้ว่าปัจจัยชั่วคราวจากการระบาดโควิด-19 จะส่งผลให้ค่ายหนัง และโรงภาพยนตร์ กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ ที่ทำให้ต้องปรับตัว และปรับแผนการโปรโมตให้เข้ากับสถานการณ์ แต่ในมุมมองของภาณุ เขายังเชื่อว่า คนจำนวนมากยังคงรอที่จะกลับมายังโรงภาพยนตร์ เพราะสถานที่แห่งนี้ยังคงเป็นพื้นที่สำหรับฉายหนัง สอดคล้องกับประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา และกรณีศึกษาในหลายๆ ประเทศ
"ความเห็นส่วนตัว ผมเชื่อว่าสุดท้ายก็ต้องรอให้สถานการณ์ดีขึ้น แล้วคนดูจะกลับมา โรงภาพยนตร์ยังเป็นที่ที่หนังควรต้องฉาย เป็นสถานที่ที่คนรอจะกลับไป อย่างกรณีของจีน ตั้งแต่เจอโควิด-19 ไปจนถึงช่วงที่เริ่มผ่อนคลาย คนก็กลับไปดูแบบทะลักล้น หนังหลายเรื่องทำสถิติดีมาก"
โดยมีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาในประเทศเกาหลีใต้ หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 รายได้ในอุตสาหกรรมลดลงประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2019 แต่ทันทีที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการ มีการฉายหนังเรื่อง Train To Busan อีกครั้ง ตามมาด้วย Alive และ Peninsula คนก็กลับมาแห่เข้าโรงภาพยนตร์ หรือในประเทศญี่ปุ่น ที่มีแอนิเมชันเรื่อง "ดาบพิฆาตอสูร" เข้าฉาย แล้วสามารถสร้างสถิติใหม่ทันที
"ทั้งในอเมริกาและวงการฮอลลีวูด ก็กำลังรอโมเมนต์ตรงนี้อยู่ แต่อาจจะยังไม่ถึงเวลา ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลกที่ผ่านมา เวลามีสงคราม ทันทีที่สงครามสิ้นสุดลง คนก็มองหาความบันเทิง และสถานที่ที่คนจะเข้าไปแสวงหาความสุข ได้ประสบการณ์ของการดูหนังด้วย มันก็ต้องเป็นโรงภาพยนตร์นะครับ ผมเชื่อว่าอาจจะต้องอดทนรอนิดนึง แต่เมื่อถึงเวลานั้น คนก็คงกลับไปเข้าโรงภาพยนตร์อีกครั้ง"
...
ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทำให้ไทยไม่มีวัฒนธรรมการดูหนังอย่างจริงจัง
รู้หรือไม่ว่าตั๋วหนังในประเทศไทย มีราคาแพงติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก โดยเฉลี่ยแล้วราคาอยู่ที่ 250-300 บาท ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาตั๋วหนังอยู่ที่ราว 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300 กว่าบาท แต่กลับสมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่สูง ทำให้คนอเมริกันนิยมออกไปดูหนังในโรงภาพยนตร์
ในขณะที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจของไทย ส่งผลให้ไม่มีวัฒนธรรมการดูหนัง หรือ "Film Culture" อย่างจริงจัง และยิ่งเมื่อประสบปัญหาการระบาดของโควิด-19 อีก ก็ส่งทำให้สถานะทางเศรษฐกิจของคนไทยส่วนใหญ่ ไม่เอื้ออำนวยกับการออกไปดูหนัง คนไทยจึงมองว่า หนังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดของชีวิต
ภาณุกล่าวว่า "ผมสังเกตว่าคนไทย จะมองการดูหนังตามเงื่อนไขของเศรษฐศาสตร์ หมายความว่าเขาจะดูหนัง ก็ต่อเมื่อมันคุ้มกับค่าตั๋ว 250-300 บาท ซึ่งก็จะมีหนังประเภทเดียวที่ตอบโจทย์ให้เขาไปดู ก็คือหนัง The Avengers หรือหนัง Blockbuster ที่มีทุนสร้างสูง สเปเชียลเอฟเฟกต์เยอะๆ เขามีความรู้สึกว่า ถ้าฉันจะออกจากบ้านไป เพื่อเสียเงิน 250 บาท มันก็ต้องคุ้ม"
...
นอกจากนี้ การเข้ามาของ Netflix ก็มีส่วนทำให้คนไทยเลือกที่จะไม่ดูหนังต้นทุนกลาง-ต่ำ ในโรงภาพยนตร์ เนื่องจากมองว่า อีกไม่นานก็จะได้ชมผ่าน Netflix หรือแผ่นดีวีดี ซึ่งอาจเป็นอีกปัญหาสำคัญที่ไทยยังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมการดูหนังเหมือนในต่างประเทศได้
ทำความรู้จัก "อาชีพจัดซื้อหนังต่างประเทศ" ผู้คัดเลือกหนังคุณภาพเข้ามาฉายในไทย
เมื่อปี 2562 วงการฮอลลีวูดฮือฮากับภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีเรื่อง "Parasite" ผลงานของผู้กำกับ บง จุนโฮ ที่โด่งดังในระดับโลก หลังสร้างสถิติเป็นหนังเกาหลีเรื่องแรกที่คว้ารางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม มาครองได้สำเร็จ ซึ่งในปีนั้น คนไทยก็มีโอกาสได้ชมหนังเรื่องนี้ ในโรงภาพยนตร์เช่นเดียวกัน
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการคัดเลือก Parasite เข้ามาฉายในประเทศไทย ก็คือ "คุณภาณุ อารี" และทีมงานจากสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งกระแสของหนังเรื่องนี้ ทำให้เกิดปรากฏการณ์บอกต่อ ทั้งปากต่อปาก และการเขียนวิจารณ์หนังบนโลกออนไลน์ ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมการวิเคราะห์ตีความในหมู่คนดูหนัง
...
"ตั้งแต่ Parasite ฉายที่เทศกาลหนังต่างประเทศ ผมก็ติดตามมาเรื่อยๆ ตอนที่ได้ดูก็ชอบหนังมาก เชื่อว่าหนังมันพิเศษมากๆ เลยตัดสินใจเสนอราคาซื้อไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าตอนนั้น ไม่คิดว่า Parasite จะประสบความสำเร็จขนาดนี้ พูดตามตรงคาดหวังไว้ที่ 3-4 ล้าน เพราะมันไม่ใช่หนังแนวปกติแบบที่ตลาดชอบ ปรากฏพอฉายจริงๆ กลับทำรายได้ประมาณ 20 กว่าล้าน หนังอาจตอบโจทย์ความรู้สึกของคนดู ประเด็นที่ถูกนำเสนอ แม้หนังจะพูดในวิธีที่หนัก แต่วิธีการนำเสนอมันดูสนุก และก็คาดเดาไม่ถูก ซึ่งมันก็คือหนังทริลเลอร์ดีๆ เรื่องหนึ่ง ที่มีประเด็นทางสังคมแข็งแรง ก็เลยทำให้คนพูดถึงกันเยอะ ทำให้เราได้ประสบการณ์ในการจับเซนส์หนังประเภทนี้"
เป็นเวลากว่า 23 ปี นับตั้งแต่ภาณุ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และภาพนิ่ง เขาได้เข้ามาทำงานในธุรกิจภาพยนตร์ สำหรับหลักพิจารณาในการเลือกหนัง หลักๆ คือการใช้ความชอบของตัวเองเป็นที่ตั้ง ผสมกับการรับฟังความคิดเห็นของทีมและผู้บริหาร เพื่อคัดเลือกหนังที่คิดว่าเหมาะสมกับตลาดหนังและคนดูชาวไทยมากที่สุด
"การมีความชอบก็ดีนะครับ แต่บางทีมันก็สร้างภาพลวงตา เหมือนเราชอบอะไรสักอย่างมากๆ บางทีเราจะลืมจุดบกพร่อง หรือจุดอ่อนของหนังเรื่องนั้นไป โดยหลักการบาลานซ์ที่ดีที่สุดคือ รับฟังความคิดเห็นของทีม แล้วเอากลับมาคิดว่ามีจุดบกพร่องจริงไหม ยกเว้นบางกรณี เราชอบมันจริงๆ แล้ว เรารู้สึกว่าไม่อยากให้พลาด เราก็ต้องโน้มน้าวให้เต็มที่ อาจต้องยกเหตุผล ยกข้อมูลประกอบ แต่ส่วนใหญ่เราก็พยายามรับฟังถกเถียงจนได้ข้อสรุปที่เป็นกลาง เราต้องหาหนังที่เรารู้สึกว่ามันต้องสนุก และเชื่อมโยงกับความรู้สึกของคนทั่วไปด้วย"
"Cinema Paradiso" หนังที่อยากย้อนเวลากลับไป นำเข้ามาฉายให้คนไทยได้ชม
ในฐานะที่ภาณุทำงานเบื้องหลังในธุรกิจภาพยนตร์ไทยมาเป็นเวลานาน หนังที่ถูกเสนอให้นำเข้ามาฉายในไทย เพื่อให้คนไทยได้ชมกันหลายๆ เรื่องก็มาจากเขา ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ยังมีหนังเรื่องไหนที่ภาณุรู้สึกเสียดายว่าไม่มีโอกาสได้นำเข้ามาฉายในประเทศไทย หรือคิดว่ามีคนไทยจำนวนน้อยที่ได้ชมหนังเรื่องนี้ คำตอบของเขาคือ Cinema Paradiso หนังอิตาเลียน ที่ออกฉายเมื่อปี 1988
"Cinema Paradiso พูดถึงความทรงจำเกี่ยวกับหนัง เสียดายว่าหนังออกฉายก่อนที่ได้เข้ามาทำงานตรงนี้ ผมคิดว่าหากนำหนังเรื่องนี้เข้ามาฉายในเมืองไทย มันสามารถปั้นได้ ให้เกิดกระแสปากต่อปาก แม้ในยุคนั้นจะยังไม่มีอินเทอร์เน็ตก็ตาม ผมเชื่อว่าคนจะพูดถึงกันเยอะ ซึ่งมันก็พิสูจน์จริงๆ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว หอภาพยนตร์จัดฉาย Cinema Paradiso ที่สกาล่า คนมาดูจนล้นโรง ถ้ามีโอกาสได้ย้อนเวลากลับไปในเวลานั้น และได้นำหนังเรื่องนี้มาฉาย มันน่าจะเป็นหนังที่สร้างปรากฏการณ์ในเมืองไทยได้ครับ"
ทุกมุมมองและสายตาของ "ภาณุ อารี" ที่มีต่อกระแส Oscar 2021 และทิศทางอุตสาหกรรมภาพยนตร์ สะท้อนประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่ในวงการนี้มานานหลายปี ซึ่งจริงๆ แล้ว ทุกอย่างอาจเริ่มต้นขึ้นในวันที่เขาได้ดู Cinema Paradiso เป็นครั้งแรกก็ได้ เพราะบางครั้งแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ มักเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัว
"หนังเรื่องนี้ ทำให้ผมอยากเข้ามาทำงานที่เกี่ยวข้องกับวงการหนัง ผมเชื่อว่าถ้ามันได้ฉายในโรงภาพยนตร์ ก็น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่หลายคน ที่อยากเข้ามาในวงการหนัง หรืออุตสาหกรรมหนังได้เลย"
ผู้เขียน : ตติยา แก้วจันทร์
กราฟิก : Sriwon Singha