- ทุกคนต้องไปตรวจโควิด-19 ในทันทีเลยไหม? ชนาธิป ไชยเหล็ก แพทย์ผู้ศึกษาด้านระบาดวิทยา บอกเล่าจากประสบการณ์ว่า ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลก่อน และใครบ้างที่ยังไม่จำเป็น
ผมเข้าใจเลยว่าการรอผลการตรวจหาเชื้อมันนานแค่ไหน ไม่นับว่าหลายคนต้องยืนรอนานมากกว่าจะถึงคิวแยงจมูกเก็บตัวอย่างด้านหลังโพรงจมูกไปตรวจ
โรงพยาบาลไหนรับตรวจโควิด-19 บ้าง? ต้องเตรียมเงินไปจ่ายเท่าไร? แต่รัฐบอกว่าตรวจฟรีไม่ใช่เหรอ? ตรวจเสร็จแล้วเมื่อไรจะรู้ผล? และอีกหลายความสงสัย บทความนี้ไม่มีคำตอบครับ อ้าว! แยกย้ายกลับบ้าน
แต่ช้าก่อน... เราเคยสงสัยไหมครับว่าทำไมถึงอยากไปตรวจโควิด-19
ผู้ที่มีประวัติเสี่ยง
โอเค ถ้าท่านมีประวัติเสี่ยง เช่น เพิ่งไปเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อ หรือทำงานอยู่ในสถานบันเทิงที่พบผู้ป่วย ท่านควรได้รับการตรวจหาเชื้อ ว่าแล้วก็ไปที่โรงพยาบาลรัฐใกล้บ้าน หรือตามสิทธิ์การรักษา หาก ‘มี’ อาการท่านจะได้ตรวจฟรี แต่หาก ‘ไม่มี’ อาการจะเข้าเกณฑ์การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ซึ่งควรได้รับการตรวจฟรีที่โรงพยาบาลเช่นกัน แต่ขึ้นกับนโยบายของโรงพยาบาลนั้นๆ เพราะถ้าผมเข้าใจไม่ผิดการเบิกค่าใช้จ่ายจะเป็นคนละส่วนกัน
หากไม่สามารถตรวจได้ ผมแนะนำอย่างนี้ครับว่า สังเกตอาการไปก่อน ถ้ามีอาการถึงค่อยไปขอรับการตรวจอีกที ซึ่งจะได้ตรวจทันทีเลย
แล้วอย่างนี้จะไม่แพร่เชื้อเหรอ? ก็อาจเป็นไปได้ เพราะผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่อาการเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการ ท่านที่มีประวัติเสี่ยงก็อาจแพร่เชื้อได้ แต่ถ้าท่านกักตัวเองที่บ้านจนครบ 14 วัน ไม่ออกไปไหน หรือถ้าออกจากบ้านก็สวมหน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น อย่างนี้ คนอื่นก็จะไม่ได้รับเชื้อต่อจากเรา
...
นอกจากนี้ ถ้ารีบตรวจเร็วไป อาจตรวจไม่เจอเชื้อก็ได้ ระยะเวลาที่เหมาะสมคือหลังจากท่านมีประวัติเสี่ยงไปแล้ว 5 วันขึ้นไป
ผู้มีประวัติเสี่ยง แต่ยังไม่ได้ตรวจ
แล้วอย่างนี้ถ้าติดเชื้อตายขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ? เดี๋ยวๆ จะแช่งให้ตัวเองตายเลยเหรอครับ ก่อนที่จะไปถึงขั้นเสียชีวิต ผู้ป่วยจะเริ่มต้นจากอาการเล็กน้อยก่อน เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ผมจึงแนะนำว่าถ้ามีอาการแล้ว ถึงค่อยไปตรวจก็ได้ และผู้ป่วยที่เสียชีวิตมักเป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว
เช็กลิสต์คือ ถุงลมโป่งพอง หอบหืด หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบ ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ น้ำหนักเกิน 90 กก. ตับแข็ง และภูมิคุ้มกันบกพร่อง ถ้าเป็นข้อใดข้อหนึ่งจะถือว่าเป็นกลุ่มที่ความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง หากมีอาการจะได้รับยาต้านไวรัสทันที
ส่วนการ ‘ติดเชื้อตาย’ ตอนนี้ความเสี่ยงของไทยลดลงเหลือเพียง 0.3% (ทุกๆ ผู้ป่วย 1,000 ราย จะมีผู้เสียชีวิต 3 ราย) และต่ำกว่าของทั้งโลก ซึ่งเท่ากับประมาณ 2%
ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีประวัติเสี่ยง ถ้ามีอาการควรได้รับการตรวจหาเชื้อในวันนั้น แต่ถ้ายังไม่มี สามารถกักตัวที่บ้านและสังเกตอาการไปก่อน เพราะผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายได้เอง และถ้ารีบตรวจเร็วไปก็อาจไม่เจอเชื้อ ซึ่งหากระหว่างนี้มีอาการให้รีบไปโรงพยาบาล
ผู้ที่ไม่มีประวัติเสี่ยง
สำหรับผู้ที่ไม่มีประวัติเสี่ยง ควรสวมหน้ากากก่อนออกจากบ้าน อยู่ในที่แออัดก็สวมตลอด มือก็ล้าง ทำงานในย่านทองหล่อ แต่ไม่เคยเข้าไปในสถานบันเทิงเลย อย่างนี้ถือว่าไม่มีประวัติเสี่ยง
แล้วถ้าผู้ป่วยเข้ามาซื้อของที่ร้านล่ะ? ท่านสวมหน้ากาก ผู้ป่วยก็น่าจะสวมด้วย เจอกันไม่นาน ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำครับ
ในเมื่อท่าน ‘ไม่มีความเสี่ยง’ = ไม่ได้รับเชื้อ จึงไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ ส่วนท่านที่ได้รับการประเมินว่าเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด ‘เสี่ยงต่ำ’ ควรได้รับการตรวจหาเชื้อเมื่อมีอาการ เพราะโอกาสติดเชื้อต่ำ (สบายใจได้ระดับหนึ่ง) แต่ถ้ามีอาการป่วยก็ควรตรวจหาเชื้อ เพื่อยืนยันว่าไม่ใช่โควิด-19
แล้วถ้ามีอาการที่สงสัยโควิด-19 ล่ะ? ไข้ ไอ เจ็บคอ ยังอาจเกิดจากไวรัสชนิดอื่นได้ แต่ถ้ามีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หรือปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ แพทย์จะเริ่มสงสัยและขอเก็บตัวอย่างจากการแยงจมูกไปตรวจหาเชื้อ ซึ่งกรณีนี้ก็ "ฟรี" เหมือนกัน เพราะเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค
ในภาวะที่มีการระบาดเป็นวงกว้าง การจัดลำดับว่าใครควรได้รับการตรวจก่อนเป็นเรื่องสำคัญ เข้าใจว่าทุกคนกังวล แต่ถ้าตรวจไปเรื่อยๆ น้ำยาหมด ผู้ที่มีประวัติเสี่ยงก็จะไม่ได้รับการวินิจฉัย หรือตัวอย่างกองพะเนินอยู่ที่ห้องแล็บ เจ้าหน้าที่ตรวจไม่ทัน ผู้ติดเชื้อก็จะได้รับการรักษาล่าช้า
ขณะเดียวกันรัฐก็จะต้องตรวจหาเชื้อให้ครอบคลุมทั้งผู้ที่มีประวัติเสี่ยง และผู้ที่ไม่มีประวัติเสี่ยงแต่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เพราะการระบาดอาจไปไกลกว่าที่รู้ก็เป็นได้
อ้างอิง:
แนวทางการดำเนินงานคัดกรอง เฝ้าระวัง และสอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับ 4 ธันวาคม 2563
แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุง 28 มกราคม 2564
...