ปฏิเสธไม่ได้ว่าในชีวิตประจำวันยังคงต้องใช้เอกสารสำเนาบัตรประชาชน ตั้งแต่การสมัครเรียน การติดต่อบางหน่วยงาน การขอสินเชื่อ และการมอบอำนาจอื่นๆ อย่างไรก็ดีบนบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน และเอกสารอื่นๆ มีข้อมูลสำคัญเพียงพอที่มิจฉาชีพจะนำไปใช้ มาดู "วิธีการเซ็นสำเนาถูกต้อง" ป้องกันการถูกแอบอ้าง

“สำเนาถูกต้อง” เซ็นอย่างไรป้องกันการปลอมแปลง

  • นอกจาก “ชื่อ” กับ “สำเนาถูกต้อง” ควร “ระบุวัตถุประสงค์การใช้เอกสาร”


ทุกครั้งที่เซ็นสำเนาถูกต้อง ต้องเขียนวัตถุประสงค์ของการใช้เอกสารด้วย หากกลัวเขียนผิด ก็นำกระดาษอื่นๆ มาเขียนเป็นต้นฉบับไว้ เมื่อต้องเซ็นเอกสารหลายใบ ก็เขียนตาม เช่น

“สำเนาถูกต้อง สำหรับสมัครบัตรเครดิตธนาคาร….เท่านั้น”
“สำเนาถูกต้อง สำหรับทำประกันชีวิตกับ….เท่านั้น”
“สำเนาถูกต้อง สำหรับขอสินเชื่อซื้อรถกับธนาคาร….เท่านั้น”
“สำเนาถูกต้อง สำหรับสมัครงานบริษัท….เท่านั้น”
“สำเนาถูกต้อง สำหรับรับรางวัลจากบริษัท….เท่านั้น”

  • ขีดฆ่าทับ

เอกสารที่มี 2 หน้าควรขีดฆ่าทับบริเวณที่สำคัญ แต่ไม่ควรบังใบหน้า หรือตัวเลขจนอ่านเอกสารนั้นไม่ออก ยกตัวอย่างเช่น สำเนาบัตรประชาชนหน้าหลัง, พาสปอร์ต, ทะเบียนบ้าน, ทะเบียนรถยนต์ เพื่อป้องกันการปลอมแปลงตัดต่อ

  • เขียนวันที่กำกับ

นอกจาก “ชื่อสกุล” “วัตถุประสงค์” “ขีดฆ่าทับ” อาจจะเขียนวันที่เพิ่มเติม เพื่อระบุช่วงเวลาการใช้เอกสารได้ชัดเจน ป้องกันการนำเอกสารนั้นไปใช้ในช่วงเวลาอื่น ที่ป้องกันได้ชัดเจนคือการเปิดบัญชี หากถูกนำเอกสารไปปลอมแปลงเปิดบัญชี เจ้าหน้าที่ก็จะตรวจสอบเห็นวันที่ใช้เอกสาร หากเขียนวันเดือนปีที่ดูห่างเกินไป เจ้าหน้าที่ก็จะได้ตรวจสอบอีกขั้น

...

  • ใช้ปากกาลูกลื่น “สีน้ำเงิน” ธรรมดา

ปัจจุบันนี้มีปากกาหลายรูปแบบ ควรใช้ปากกาลูกลื่นสีน้ำเงินแบบธรรมดา ไม่ควรใช้หมึกเจล หรือหมึกพิเศษ ป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร

ทำไมต้องเซ็นสำเนาถูกต้อง

หน่วยงานที่ต้องติดต่อกับบุคคลที่ต้องยืนยันตัวตนก่อนนั้นมักเรียกขอเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เพราะเมื่อมีข้อผูกพันทางสัญญาก็ต้องการติดต่อกับบุคคลนั้นได้ และสิ่งที่ยืนยันตัวตนได้ดีที่สุดก็คือ บัตรประจำตัวประชาชน หรือทะเบียนบ้าน นอกจากนี้ยังมีเอกสารอื่นๆ เช่น พาสปอร์ต, สูติบัตร, ใบขับขี่ ที่ใช้แทนกันได้

เอกสารที่มักต้องถ่ายเอกสารและต้องเซ็นสำเนาถูกต้อง ได้แก่

  • บัตรประจำตัวประชาชน ถ่ายหน้าเดียว หรือสองหน้า
  • ใบขับขี่
  • บัตรประจำตัวข้าราชการ หรือหน่วยงานอื่นๆ ออกให้
  • สูติบัตร
  • ทะเบียนบ้านเจ้าบ้าน
  • ทะเบียนบ้านลูกบ้าน
  • ทะเบียนรถยนต์
  • โฉนดที่ดิน
  • สมุดบัญชี
  • หนังสือรับรองรายได้
  • หนังสือรับรองเงินเดือน
  • หนังสือรับรองการทำงาน
  • หนังสือรับรองการศึกษา
  • ทะเบียนการศึกษา

วัตถุประสงค์ที่ต้องใช้เอกสารที่รับรองสำเนาถูกต้อง เช่น

  • แจ้งเกิด และแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนราษฎร์อื่นๆ
  • สมัครเรียน
  • สมัครบัตรสิทธิพิเศษต่างๆ
  • เปิดบัญชี
  • สมัครบัตรเครดิด และขอสินเชื่อต่างๆ
  • ซื้อสินค้าราคาผ่อน
  • ซื้อขายสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น รถยนต์มือสอง, โทรศัพท์มือถือมือสอง ฯลฯ เพื่อป้องกันการรับซื้อของโจร
  • เพื่อลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ หรือรับรางวัล
  • เพื่อติดต่อกับหน่วยงานราชการ เช่น ขึ้นศาล หรือสถานกงสุลให้ออกเอกสารสำคัญ
  • ทำประกันภัย ประกันสุขภาพ หรือประกันชีวิต พร้อมทั้งการเคลมประกันต่างๆ
  • สมัครงาน
  • ค้ำประกัน

เนื่องจากการเซ็นสำเนาถูกต้อง มีผลต่อการทำธุรกรรมต่างๆ มิจฉาชีพจึงมักเลือกใช้ข้อมูลของบุคคลอื่นมาแอบอ้าง เพื่อเปิดบัญชี หรือยืนยันตัวตนในหลากหลายรูปแบบ เพื่อป้องกันไม่ให้เอกสารของเราถูกนำไปใช้ ควรขีดฆ่า และเซ็นสำเนาถูกต้อง พร้อมลายเซ็นตัวใหญ่ๆ ระบุวันที่ใช้เอกสารไปด้วย เพราะเอกสารนี้อาจตกไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ขอให้พึงระวังเอาไว้.