“ตำหนักเจ้าหลวงภูคา” อำเภอปัว จังหวัดน่าน ศรัทธากันเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะคนในพื้นที่ต่างเล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องขอทหาร หมายถึงว่า...ให้เข้าทหารได้ สอบนายร้อยอะไรอย่างนี้ ด้วยว่าเมื่อก่อนเก่าในอดีตท่านเป็นนักรบ “เจ้าหลวงภูคา”...เป็นอดีตเจ้าเมืองอำเภอปัว
ท่ามกลางเส้นทางที่คดเคี้ยวเลี้ยวลดมุ่งหน้าไปสู่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ใครผ่านไปผ่านมา ก็บีบแตร ยิ่งคนในพื้นที่ไม่มีคันไหนจะไม่ปฏิบัติเวลาผ่านไปผ่านมาก็เพราะเชื่อมั่นกันว่า...เป็นการสักการะเพื่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น
คำบอกเล่าจากแม่ค้า ขายลอตเตอรี่ที่มาขายกันเป็นประจำที่บริเวณตำหนักเจ้าหลวงภูคา เล่าให้ฟังว่า ทุกๆวันเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็จะเข้ามาจัดการดูแล ทำความสะอาดต่อเนื่องที่ศาลเป็นประจำทุกวันให้ดูสะอาดร่มรื่น “...มีอยู่ครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง คณะเดินทางจำไม่ผิดน่าจะมาจากชัยภูมิเป็นทหาร สามคันรถตู้ผ่านมาถึงก็แวะพักสักการะ ขอพร ก็มีคนถูกหวย รวยเบอร์ อีกรายคนแพร่ก็มาแก้บน”
...
จำได้แม่นยำเลยค่ะ วันนั้นเขาก็มาซื้อหวย 10 ใบ เหลือชุดสุดท้าย เหลือแบบไม่ต้องเลือก... ถูกรางวัลเข้าอย่างจัง ซื้อแบบช่วยๆแม่ค้า เขาว่าไหนๆก็มาแล้ว พอถูกขึ้นมาก็มาแก้บน
คนส่วนมากที่มาแก้บนกัน ก็จะมีไก่บ้าง หัวหมูบ้าง ผลไม้ 9 อย่าง บางคนก็ถือว่าเอาไข่ 99 ฟอง มาแก้บนก็มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
ชาวอำเภอปัวจะทำพิธีสักการะบวงสรวง “เจ้าหลวงพญาภูคา” เพื่อน้อมรำลึกถึงและเป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อเจ้าเมืองในอดีต มุ่งหมายสืบต่อความศรัทธาที่มีในวันนี้สู่คนรุ่นลูกๆหลานๆ
@@@@@
ประวัติศาสตร์ “เมืองน่าน” สมาน สุทำแปง รายงานผ่านสำนักงานประชาสัมพันธ์ จังหวัดน่าน ระบุถึงเอาไว้ว่า เริ่มปรากฏขึ้นราว พ.ศ.1825 ภายใต้การนำของ “พญาภูคา” และ “นางพญาจำปา” ผู้เป็นชายา
ซึ่งทั้งสองเป็นชาวเมืองเงินยาง ได้เป็นแกนนำพาผู้คนอพยพมาตั้งศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองล่าง ต่อมาเพี้ยนเป็นเมืองย่าง
เชื่อกันว่า...คือบริเวณริมฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำย่างบริเวณตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว เลยไปถึงลำน้ำบั่ว ใกล้ทิวเขาดอยภูคาในเขตบ้านเสี้ยว บ้านทุ่งฆ้อง บ้านลอมกลาง ตำบลยม อำเภอท่าวังผา
เพราะปรากฏร่องรอยชุมชนในสภาพที่เป็นคูน้ำ คันดิน กำแพงเมืองซ้อนกันอยู่ เห็นชัดเจนที่สุด คือบริเวณข้างพระธาตุจอมพริกบ้านเสี้ยว มีกำแพงเมืองปรากฏอยู่ซึ่งเป็นปราการทิศใต้...ป้อมปราการทิศเหนือ
ลักษณะที่ปรากฏเป็นสันกำแพงดินบนยอดดอยม่อนหลวง บ้านลอมกลางเป็นกำแพงเมืองสูงถึง 3 ชั้น ในแต่ละชั้นกว้าง 3 เมตร สูง 5 เมตร ขนานไปกับยอดดอยม่อนหลวง
ต่อมา...พระยาภูคาได้ขยายอาณาเขตปกครองของตนออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยส่งราชบุตรบุญธรรม 2 คนไปสร้างเมืองใหม่ โดยขุนนุ่นผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี (เมืองพระบาง) และขุนฟองผู้น้องสร้างเมืองวรนครหรือเมืองปัว (อำเภอปัว) ในปัจจุบัน
ภายหลังขุนฟองถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนราชบุตรจึงได้ขึ้นครองเมืองปัวแทน ด้านพญาภูคาครองเมืองย่างมานานและมีอายุมากขึ้น มีความประสงค์จะให้เจ้าเก้าเถื่อนผู้หลานมาครองเมืองย่างแทน จึงให้เสนาอำมาตย์ไปเชิญ เจ้าเก้าเถื่อนเกรงใจปู่จึงยอมไปอยู่เมืองย่างและมอบให้ชายา
คือ...“นางพญาแม่ท้าวคำปิน” ดูแลรักษาเมืองปัวแทน
ครั้นเมื่อพญาภูคาถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนจึงครองเมืองย่างแทน ในช่วงที่เมืองปัวว่างจากผู้นำเนื่องจากเจ้าเก้าเถื่อนไปครองเมืองย่างแทนปู่นั้น พญางำเมืองเจ้าผู้ครองเมืองพะเยาจึงได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองบ้านเมือง ในเขตเมืองน่านทั้งหมด
นางพญาแม่ท้าวคำปิน พร้อมด้วยบุตรในครรภ์ได้หลบหนีไปอยู่บ้านห้วยแร้ง จนคลอดได้บุตรชายชื่อว่าเจ้าขุนใส เติบใหญ่ได้เป็นขุนนางรับใช้พญางำเมืองจนเป็นที่โปรดปราน...
...
พญางำเมืองจึงสถาปนาให้เป็นเจ้าขุนใสยศ ครองเมืองปราด
ภายหลังมีกำลังพลมากขึ้นจึงยกทัพมาต่อสู้จนหลุดพ้นจากอำนาจเมืองพะเยา และได้รับการ สถาปนาเป็นพญาผานอง ขึ้นครองเมืองปัวอย่างอิสระระหว่างปี 1865-1894 รวม 30 ปี จึงพิราลัย
การทำพิธีบวงสรวง “ศาลเจ้าหลวงภูคา” แต่ละครั้งมีประชาชนจำนวนมาก ทั้งในจังหวัดน่านและต่างจังหวัด ต่างได้พร้อมใจกันนำสิ่งของมาบวงสรวง เพื่อเป็นการทดแทนพระคุณ โดยเฉพาะผู้คนในต่างจังหวัดที่ได้มีโอกาสมาสักการะขอพร ต่างก็บนบานศาลกล่าว ขอให้กิจการเจริญรุ่งเรือง สมคำปรารถนา
@@@@@
ณ บริเวณ “ตำหนักเจ้าหลวงภูคา” ปัจจุบันยังมี “ต้นชมพูภูคา” ที่ถือกันว่าเป็นหนึ่งในต้นไม้ในดินแดนป่าดึกดำบรรพ์ในอดีต พบครั้งแรกในประเทศไทยวันที่ 20 เดือนกุมภาพันธ์ 2529 โดย ดร.ธวัชชัย สันติสุข
ต้นชมพูภูคา...ถูกค้นพบบริเวณหุบลึกของป่าทึบใกล้ลำธารในป่าดอยเขา ตั้งชื่อตามลักษณะที่พบ ที่สำคัญพบได้ที่เดียวในประเทศไทยที่...“อุทยานแห่งชาติดอยภูคา” เท่านั้น
ลักษณะใบต้นชมพูภูคาเป็นใบประกอบแยกตรงข้าม ยาว 30-70 เซนติเมตร ใบย่อมี 4-9 คู่ ใบรูปลูกไข่ผสมใบหอก หรือเรียวผสมใบหอก ปลายใบแหลม ฐานใบมน ใต้ใบมีขน ตั้งตรงขึ้นไปยาว 30-45 เซนติเมตร
ออกดอกปีละครั้ง...ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ลักษณะสีขาวอมชมพูคล้ายกุหลาบ กลีบหุ้มดอกเรียว กลีบรองดอกกว้างคล้ายรูประฆังมี 5 แฉก...สีขาวอมเขียว ด้านนอกกลีบรองดอก กลีบดอก 5 กลีบแยกจากกันเป็นรูปไข่คว่ำโค้งงอที่ฐานหุ้มด้วยกลีบรองดอกอีกชั้นหนึ่ง ส่วนบนของกลีบดอกเรียวเล็กลงมีสีขาวอมชมพู
...
กลีบด้านใน...มีสีชมพู แบบสีกุหลาบริ้วสีม่วง
ใครแวะเวียนผ่านไปถ้าไม่รีบเร่งควรแวะ... กราบสักการะ คำบูชา “เจ้าหลวงภูคา” ตั้งนะโม 3 จบ โอมสิทธิพุทธ มะหาลาภัง สัพพะสุขขัง ภะวันตุเม สิทธิ ธัมมา มะหาลาภัง สัพพะ สุขขัง ภะวันตุเม ว่า 3 จบ
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.
รัก-ยม