Minari (มินาริ) ภาพยนตร์อเมริกันที่ใช้ทีมนักแสดงเกาหลี ผลงานของ "ลี ไอแซค ชุง" ผู้กำกับเชื้อสายอเมริกัน-เกาหลี ได้รับคำชื่นชมจากบรรดานักวิจารณ์ และกำลังถูกจับตามองในฐานะภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 93 จำนวน 6 สาขา และยังถือเป็นภาพยนตร์วิถีเอเชียเพียงหนึ่งเดียว ที่มีรายชื่อชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดของเวทีออสการ์

"มินาริ" หนังที่ได้แรงบันดาลใจ มาจากการอพยพสู่สหรัฐฯ ของชาวเกาหลี

หนังเรื่อง Minari (มินาริ) ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของผู้กำกับ "ลี ไอแซค ชุง" (หรือที่รู้จักกันในชื่อ อี ไอแซค จอง) ที่ครอบครัวของเขาตัดสินใจหันหลังให้บ้านเกิด เพื่อเดินทางไปแสวงหาชีวิตใหม่ในสหรัฐอเมริกา โดยสะท้อนผ่านเรื่องราวของตัวละครในหนัง การต่อสู้ ความมานะบากบั่นในการตั้งตัว เพื่อหวังจะประสบความสำเร็จ และมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าพำนักอยู่ในบ้านเกิด

เหตุการณ์การอพยพของชาวเกาหลีไปสู่แผ่นดินสหรัฐฯ ในหนังเรื่องนี้ ถ่ายทอดผ่านช่วงเวลาของการอพยพคลื่นลูกที่ 3 (The Third Wave of Korean Immigration) ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยบอสตัน ระบุว่า การอพยพคลื่นลูกที่ 3 ของชาวเกาหลี เริ่มนับตั้งแต่ปี 1965 เป็นต้นมา ในเวลานั้นสหรัฐฯ ต้องการประชากรชาวต่างชาติที่มีทักษะและฝีมือเข้ามายังประเทศ อีกทั้งสภาพสังคมและเศรษฐกิจในประเทศเกาหลีก็ไม่ได้ราบรื่นนัก มีปัญหาการว่างงาน ภาวะการเงินถดถอย รวมถึงการบริหารงานภายใต้รัฐบาลทหาร ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการลืมตาอ้าปากของประชาชน 

...

ชาวเกาหลีจำนวนมากอพยพหนีความแร้นแค้น ไปสร้างครอบครัวในสหรัฐฯ ในระหว่างปี 1976-1990 ชาวเกาหลีกลายเป็นชุมชนผู้อพยพที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ รองจากเม็กซิโก และฟิลิปปินส์ โดยอพยพเข้ามาเฉลี่ยปีละกว่า 30,000 คน ทำให้ผู้กำกับต้องการสะท้อนเรื่องราวเหล่านั้นผ่านหนังเรื่อง Minari และในอีกแง่หนึ่งเขาตั้งใจสร้างหนังเรื่องนี้ให้เปรียบเสมือนไดอารีถึงลูกสาวของตนเอง เพื่อในวันที่ลูกเติบโตขึ้นจะได้เห็นชีวิตวัยเด็กของคนรุ่นพ่อแม่ ว่าต้องฝ่าฟันอุปสรรคอะไรบ้าง 

นอกจากนี้ "ดีดี้ การ์ดเนอร์" และ "แบรด พิตต์" ยังนั่งแท่นโปรดิวเซอร์ให้หนังเรื่อง Minari ด้วย ในขณะที่ตัวผู้กำกับลี ไอแซค ชุง จะรับหน้าที่กำกับหนังเรื่อง "Your Name" ฉบับฮอลลีวูด ที่รีเมคมาจากอะนิเมะญี่ปุ่นชื่อเดียวกัน ซึ่งยิ่งเพิ่มสปอตไลต์ให้เขาถูกจับตามองบนเวทีออสการ์มากยิ่งขึ้น 

เรื่องย่อ Minari และทีมนักแสดง ที่สร้างประวัติศาสตร์เข้าชิงออสการ์

Minari (มินาริ) เล่าเรื่องราวของชาวเกาหลีครอบครัวหนึ่ง ที่อพยพไปอยู่ที่สหรัฐฯ ช่วงปี 1980 โดยทำงานเป็นพนักงานโรงงานคัดแยกไก่ พวกเขามีลูก 2 คน "เจค็อบ" ผู้เป็นสามีไม่อยากจะทำงานนี้ไปตลอดชีวิต เขายังเริ่มต้นทำฟาร์มในรัฐอาร์คันซอ

โดยเลือกปลูกพืชและผักเกาหลี หวังว่าในอนาคตฟาร์มแห่งนี้จะเติบโตเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้ชีวิตของพวกเขามั่นคงขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งมองเห็นว่านับวันชาวเกาหลีมีแนวโน้มจะอพยพมาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น พืชผลของเขาจะได้ครองตลาดในกลุ่มชาวเกาหลี

จนกระทั่งวันหนึ่ง ทั้งคู่ตัดสินใจรับแม่ของ "โมนิก้า" ผู้เป็นภรรยามาอยู่ด้วย เพื่อจะเป็นคุณยายที่ช่วยเลี้ยงหลาน และอยู่ดูแลบ้านในช่วงที่พวกเขาไปทำงาน โดยคุณยายได้นำเมล็ดผักพื้นบ้านของเกาหลี ที่เรียกว่า "มินาริ" ติดตัวมาด้วย

แม้ Minari (มินาริ) จะเป็นหนังที่อำนวยการสร้างโดยโปรดักชั่นสัญชาติอเมริกัน แต่ก็ใช้ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน-เกาหลี รวมถึงใช้ทีมนักแสดงหลักเป็นชาวเกาหลีทั้งหมด ได้แก่ สตีเฟน หยวน (จากซีรีส์ The Walking Dead), ฮาน เยรี และ ยูนยอจอง นักแสดงอาวุโสชาวเกาหลี

ทั้งนี้ สตีเฟน หยวน และ ยูนยอจอง สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นนักแสดงชาวเอเชีย ที่มีรายชื่อเข้าชิงออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และ นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม เป็นครั้งแรกอีกด้วย

...

รีวิวหนัง Minari (มินาริ) สะท้อนค่านิยมอเมริกัน ภายใต้วิถีชีวิตคนเอเชีย

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน "ความฝันแบบอเมริกัน" (American Dreams) ยังคงดึงดูดให้ผู้คนทั่วโลกเดินทางไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าเดิม โดยเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าประเทศสหรัฐอเมริกา คือดินแดนที่จะทำให้ผู้คนประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหน หรือมีพื้นเพอย่างไร แต่หากมีความมุ่งมั่น พยายาม ก็ย่อมมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันที่จะแสวงหาความฝันแบบอเมริกันชน เพื่อคว้าความสุข ความสำเร็จ และความร่ำรวยในชีวิตมาครอง

แม้อาจจะมีหลายฝ่ายแย้งว่าคตินี้เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบหนึ่ง แต่ยังคงมีผู้ที่ไขว่คว้าหาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เดินทางไปตั้งรกรากในแผ่นดินนั้น ครอบครัวในหนังเรื่อง Minari (มินาริ) ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นเช่นไร แต่การหวังน้ำบ่อหน้า ก็ดูเหมือนจะมอบความหวังให้เขามากกว่าการอยู่ในแผ่นดินเกิด ที่สภาพสังคมและเศรษฐกิจไม่สามารถทำให้เขาและครอบครัวลืมตาอ้าปากได้

แน่นอนว่าเราจะได้เห็นคาแรกเตอร์ของ "เจค็อบ" ที่แบกความกดดันในฐานะหัวหน้าครอบครัว ผู้ซึ่งพยายามจะทำทุกวิถีทางเพื่อความฝันแบบอเมริกาในอุดมคติ จะเห็นได้ว่าหนังเสนอประเด็นการปะทะกันของค่านิยมฉบับอเมริกัน และรากเหง้าวิถีชีวิตชาวเอเชียที่สะท้อนอยู่ในหนัง หากคนไทยหรือคนเอเชียดู อาจจะไม่ได้รู้สึกแปลกใจกับวิถีต่างๆ ของตัวละครมากนัก 

...

ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตักเตือนลูกตามสไตล์ชาวเอเชีย การปรนนิบัติสามี การดูแลผู้อาวุโสในครอบครัว วัฒนธรรมการกินอาหารที่ต้องพร้อมหน้าพร้อมตา ฯลฯ ในขณะที่ลูกๆ ล้วนเกิดและเติบโตในสหรัฐฯ ก็จะไม่เข้าใจเรื่องการอยู่แบบครอบครัวใหญ่ โดยต้องดูแลคุณยายไปด้วย เป็นต้น 

ในขณะที่ "มินาริ" ผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่คนเกาหลีนิยมนำมาทำกับข้าว ซึ่งถูกนำมาใช้ตั้งเป็นชื่อหนัง ก็เป็นผักที่มีลักษณะพิเศษคือ สามารถปรับตัวได้กับทุกสภาพแวดล้อม และเติบโตอย่างงอกงามได้อย่างรวดเร็ว จึงเปรียบเสมือนครอบครัวนี้ที่เป็น "เมล็ดพันธุ์เอเชีย" ที่ไปตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินใหม่ ต้องทำมาหากินอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาไม่คุ้นเคย แต่ก็พร้อมจะปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตรอด โดยมี "ความรักของครอบครัว" เป็นทั้งแสงแดด และสายฝน ที่ช่วยให้เจริญเติบโตอย่างงอกงาม

"มินาริ" กับความหวังบนเวทีออสการ์?

ก่อนหน้านี้ Minari (มินาริ) คว้ารางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม จากเวทีลูกโลกทองคำ (Golden Globe Awards) ประจำปี 2021 ไปครองได้สำเร็จ พร้อมทั้งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ จำนวน 6 สาขา ดังนี้

...

- สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
- สาขานักแสดงนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
- สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม

จะเห็นได้ว่าล้วนเป็นรางวัลสาขาใหญ่ทั้งสิ้น โดยเฉพาะสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่และถูกจับตามองที่สุดของงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 93 ประจำปีนี้ หลายคนต่างลุ้นว่า "Minari" จะสามารถตามรอยรุ่นพี่อย่าง "Parasite" หนังเกาหลีที่เคยคว้ารางวัลนี้ไปครองได้หรือไม่ ซึ่งในครั้งนั้นเป็นหมุดหมายสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า เวทีออสการ์เปิดประตูให้หนังเอเชียเพื่อความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ท่ามกลางกระแสการรณรงค์ต่อต้านการเหยียดคนเอเชีย หรือ #StopAsianHate ที่กำลังกลายเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ที่ได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้ หลังเกิดเหตุการณ์เหยียดหยาม และทำร้ายร่างกายคนเอเชียในต่างประเทศ ก็ยิ่งทำให้หนังเรื่อง Minari ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงทางสังคมที่เข้ากับสถานการณ์ และค่อนข้าง "เข้าทาง" สำหรับเวทีออสการ์ แต่ก็ต้องมาติดตามลุ้นกันว่าหนังสะท้อนวิถีเอเชียเรื่องนี้ จะสามารถไปไกลอย่างที่หวังไว้ได้หรือไม่

Minari (มินาริ) มีกำหนดรอบฉายอย่างเป็นทางการในโรงภาพยนตร์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป