ซอกแซกสัปดาห์นี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษของหัวหน้าทีมซอกแซก เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คงจำได้นะครับ ที่เขียนไว้ในไทยรัฐฉบับวันพฤหัสบดีที่แล้วว่า เคยแวะไปที่ “แลนด์มาร์ก” ใหม่ของจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อ 2 ปีก่อน ณ บริเวณต้นน้ำเจ้าพระยาที่เรียกว่า “พาสาน”

ยืนดูแล้วได้พบได้เห็นบริเวณรอบๆแล้วก็ร้องไห้แบบคนแก่ (คือสะอื้นอยู่ในอก) อยู่หลายนาที

เพราะจากที่บริเวณต้นน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเคยขวักไขว่ไปด้วยสารพัดเรือต่างๆนับ “ร้อยๆลำ” แต่ ณ วันที่ไปยืนดูอีกครั้งปรากฏว่า มีเรือข้ามฟากเล็กๆแล่นอยู่เพียงลำเดียวเท่านั้น

ส่งผลให้หัวหน้าทีมซอกแซกกลับมาแล้วไม่กล้าเขียนถึง “พาสาน” เพราะจะเขียนทีไรต่อมน้ำตาทำท่าจะแตกทีนั้น กว่าจะปลงได้ว่า “สรรพสิ่งก็เป็นเช่นนี้แหละหนอ” เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นของธรรมดา ต้องใช้เวลาถึง 2 ปีเต็มๆ

เมื่อปลงได้เช่นนี้ ปีนี้เมื่อมีโอกาสกลับไป เยี่ยมบ้านอีกครั้ง และแวะไป พาสาน อีกครั้ง จึงกลับมาเขียนแนะนำในคอลัมน์ “เหะหะพาที” เมื่อวันพฤหัสฯ เชิญชวนท่านผู้อ่านที่ผ่านปากน้ำโพให้แวะไปเยี่ยม “พาสาน” กันบ้างดังกล่าว

เพราะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่งดงามโดดเด่นมาก เข้ากับแวดวิวทิวทัศน์รอบๆ ซึ่งเป็นจุดรวมของแม่น้ำ 2 สาย และ 2 สี แปรสภาพเป็น แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สวยงามเหลือเกิน

สำหรับซอกแซกสัปดาห์นี้ขออนุญาตเขียนต่อนะครับ...เพื่อเป็นการขยายความให้ทราบถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังเกี่ยวกับ “ที่มา” ของแลนด์มาร์กใหม่แห่งนี้ พร้อมกับจะถือโอกาสขอบคุณย้อนหลังแก่ “คณะบุคคล” ที่ร่วมแรงใจร่วมความคิดจนสามารถก่อสร้างได้สำเร็จเอาไว้ด้วย

...

ก่อนจะไปถึง “ที่มา” ของ “พาสาน” ในปัจจุบัน ขอนำท่านผู้อ่านกลับสู่วิชาภูมิศาสตร์ระดับประถม เพื่อรื้อฟื้นความหลังกันเสียหน่อยหนึ่ง สมัยที่เราเคยท่องจำกันตอนเด็กๆว่า

“แม่น้ำเจ้าพระยาเกิดจากการรวมตัวกันของแม่น้ำ 4 สาย อันได้แก่ ปิง-วัง-ยม-น่าน ที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์... ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์, ชัยนาท, อุทัยธานี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, อยุธยา, ปทุมธานี, นนทบุรี, กรุงเทพมหานคร แล้วลงสู่อ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรปราการ มีความยาวทั้งสิ้น 372 กิโลเมตร”

แต่ถ้าจะขยายความให้ชัดเจนขึ้นอีกนิดคงต้องบอกว่า การรวมตัวของแม่น้ำ 4 สายที่ว่าเป็นการรวมตัวแบบ 2 ขยัก คือ ขยักแรก แม่น้ำปิง กับ แม่น้ำวัง ไหลมารวมตัวกันที่อำเภอ บ้านตาก จังหวัด ตาก กลายเป็น แม่น้ำปิง แล้วก็ไหลต่อมาเรื่อยๆ

ส่วน แม่น้ำน่าน กับ แม่น้ำยม ไหลไปรวมกันที่ตำบล เกยไชย อำเภอ ชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ กลายเป็น แม่น้ำน่าน ไหลต่อลงมาเรื่อยๆเช่นกัน

จากนั้น แม่น้ำปิง กับ แม่น้ำน่าน ค่อยไหลมารวมกันที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ กลายเป็น แม่น้ำเจ้าพระยา ดังที่ตำราภูมิศาสตร์ชั้นประถมสอนไว้

เอาละเมื่อเรียนวิชา ภูมิศาสตร์ กันแล้ว ก็มาเรียนวิชาประวัติศาสตร์กันบ้าง...โดยไม่ต้องย้อนไปไกลนักหรอกเอาแค่สัก 70 ปีเศษๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2494 ที่หัวหน้าทีมซอกแซกจบประถม 4 จากอำเภอบรรพตพิสัย นั่งเรือเมล์มาเรียนต่อชั้นมัธยมที่ปากน้ำโพ เป็นต้นมาก็แล้วกัน

ช่วงนั้นการคมนาคมขนส่งของประเทศยังใช้ “ทางน้ำ” เป็นหลัก ทางรถไฟแม้จะมีมานานแล้วตั้งแต่สมัย ร.5 แต่ก็ยังถือเป็นเส้นทางรอง...ส่วน “ถนน” หรือทางหลวงแผ่นดินนั้นอยู่ในอันดับท้ายๆเลยครับ แม้จะเริ่มมีบ้างแล้วแต่ขรุขระเป็นถนนลูกรังเสียส่วนใหญ่

ด้วยเหตุนี้ ปากน้ำโพ ในฐานะจุดรวมของแม่น้ำหลักสายสำคัญจากภาคเหนือมาเชื่อมต่อกับจังหวัดภาคกลางอื่นๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ + ธนบุรี จึงกลายเป็น “ชุมทาง” ของการคมนาคมขนส่งสู่ภาคเหนือที่เจริญรุ่งเรืองสุดๆ

ดังเช่นเนื้อร้องของเพลงลูกทุ่งฮิตในอดีตเพลงหนึ่ง ชื่อเพลง “เมืองแมนแดนสวรรค์” ขับร้องโดย สมยศ ทัศนพันธ์ ที่ว่า “ปากนํ้าโพเมืองรุ่งเรืองสืบมา เพราะเป็นแหล่งค้าสำคัญ”

นอกจากเป็นแหล่งค้าสำคัญของสินค้าอุปโภคบริโภคตลอดจนสินค้าพืชไร่พืชสวนและพืชนาหรือ “การค้าข้าว” แล้ว ปากนํ้าโพยังเป็นศูนย์รวมของการค้า “ไม้สัก” อีกด้วย

ไม้สัก จากภาคเหนือจะถูกตัดมัดเป็นแพลอยล่องมาตามลำนํ้าปิง มาหยุดพักก่อนถูกส่งไปแปรรูปที่ปากนํ้าโพ

ไม่เพียงแต่เป็นศูนย์กลางการค้า ปากนํ้าโพ ยังเป็นศูนย์กลางด้านบริการและความบันเทิงเพื่อต้อนรับผู้คนที่หลั่งไหลไปสู่ภาคเหนือ หรือเดินทางมาจากภาคเหนือครั้งละมากๆ จนเกิดโรงแรมใหญ่น้อยแทบทุกถนนในตัวเมือง และที่ขาดมิได้เลยก็คือ “แหล่งค้าประเวณี” ในทุกระดับ

สำนักโสเภณีระดับไฮเอนด์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ ได้แก่ “สวนอาบจันทร์” และ “บ้านแสนสุข”...ในขณะที่สำนักระดับล่างสำหรับต้อนรับลูกเรือต่างๆ และกรรมกรแบกหามก็จะเป็น “สำนัก” แบบห้องแถวไม้ยาวเหยียดในตรอกที่เรียกว่า “ข้างโรงหนัง-หลังโรงยา”

อันหมายถึงตรอกข้างโรงภาพยนตร์ เฉลิมสวรรค์ และโรงยาฝิ่น นครสวรรค์ ที่มีน้องนางยืนรอรับแขกยาวเหยียดในแต่ละคืน

...

นี่คือความเจริญรุ่งเรืองของปากนํ้าโพที่มีการเล่าขานผ่านนวนิยายบู๊หลายเรื่องของ “อรวรรณ” และข้อเขียนสั้นๆบางชิ้น ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) เมื่อ 60-70 ปีที่แล้ว

ความรุ่งเรืองของปากนํ้าโพดำเนินต่อมาเรื่อยๆ แม้ในปี พ.ศ.2500 ที่หัวหน้าทีมซอกแซกรํ่าลามาเรียนหนังสือในเมืองหลวง...ความรุ่งเรืองเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ (รวมทั้ง สวนอาบจันทร์)

จากนั้นแล้วเกิดอะไรขึ้นกับปากนํ้าโพ? ทำไม “เรือ” ทั้งหลายที่เคยล่องลอยเต็มต้นนํ้าเจ้าพระยาจึงหายไปจนหมดเกลี้ยง? และทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องอะไรกับ “พาสาน” สิ่งปลูกสร้างใหม่ที่คอลัมน์ซอกแซกวันนี้พาดหัวว่า จะเป็น “ตำนานใหม่” ของเมืองปากนํ้าโพ?

รออ่านต่อสัปดาห์หน้านะครับ...แฮ่ม! นานๆ เขียนถึงจังหวัดบ้านเกิดของตัวเองซะที... จะให้จบแค่สัปดาห์เดียวได้ไงล่ะครับ!

“ซูม”