ถ้าถามว่ารถประเภทไหนที่มีการใช้งานบนท้องถนนเมืองไทยมากที่สุด คำตอบคง หนีไม่พ้น “รถจักรยานยนต์” หรือที่เรียกทับ ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งมีสัดส่วนการใช้งานบนถนนมากถึง 53-64% ของพาหนะทุกประเภทในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

นอกจากสัดส่วนการใช้งานแล้ว ยังพบว่า “มอเตอร์ไซค์” เป็นพาหนะที่ครองอันดับหนึ่งของการตายรายวันบนท้องถนนเมืองไทยมาโดยตลอด

พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลบูรณาการ 3 ฐาน และระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติ พ.ศ.2562 พบว่า ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ยังคงเป็นสัดส่วน 80% ของผู้บาดเจ็บและตายจากอุบัติเหตุขนส่งในประเทศไทยเป็นปีที่ 25 นับตั้งแต่มีการรายงานเป็นทางการครั้งแรกโดยกระทรวงสาธารณสุขในปี 2538 ข้อมูลล่าสุด ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ มากกว่า 17,000 คนต่อปี

...

“ในจำนวนนี้มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มากถึง 10 ล้านคน ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ และจำนวนการตายจากรถจักรยานยนต์ ในรอบ 18 ปี เพิ่มขึ้นจากชั่วโมงละ 1 คน เป็นชั่วโมงละ 2 คน หรือเฉลี่ย 35 นาทีต่อ 1 คน เราจะเห็นรถมอเตอร์ไซค์ถูกดูดเข้าไปอยู่ใต้ท้องรถเมล์ รถบรรทุก แม้จะใส่หมวกกันน็อกแต่ก็เสียชีวิต เพราะรถใหญ่กว่า ยังไงก็หนีไม่พ้น ยิ่งล่าสุด การออกกฎหมายบังคับให้รถจักรยานยนต์วิ่งร่วมเลนกับรถเมล์ รถสิบล้อ รถพ่วง แทนที่จะช่วยให้ปลอดภัยกลับพบว่าทำให้รถจักรยานยนต์เสี่ยงอันตรายมากขึ้น โดยเฉพาะจากปรากฏการณ์ของการที่รถมอเตอร์ไซค์ถูกดูดเข้าไป เรียกว่า arodynamic หรือ DRAFTING หรือ Slipstreaming ที่รถสองคันวิ่งขนานกันหรือตามกันจะถูกดูดเข้าหากัน เนื่องจากความดันอากาศระหว่างรถต่ำลง ตามความเร็วรถที่สูงขึ้น” พญ.ชไมพันธุ์ ตั้งข้อสังเกต

คุณหมอชไมพันธุ์ บอกว่า แม้จะมีการศึกษาวิจัยและกำหนดมาตรการต่างๆทั้งระดับประเทศและระดับสากลเข้ามาช่วยลดการตายจากการใช้รถจักรยานยนต์ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเหมือนในประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น สวีเดน

“มีข้อน่าสังเกต ในเรื่องของรถมอเตอร์ไซค์ปลอดภัยในหลายประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาและขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เรื่องการตายและเจ็บ แต่เรื่องของมาตรฐานรถ พฤติกรรมคนขับขี่ ความปลอดภัยของท้องถนน เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง”

อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจักรยานยนต์จดทะเบียนสะสม 21.4 ล้านคัน 80% เป็นจักรยานยนต์รุ่น Family model 110-125 CC โดยรุ่น 110 CC มียอดจำหน่ายสูงสุด

ข้อน่าสังเกต ก็คือ เมื่อเปรียบเทียบรถรุ่นเดียวกัน CC เท่ากัน ยี่ห้อเดียวกัน พบสิ่งที่แตกต่างจากประเทศทางยุโรป เช่น อเมริกา เม็กซิโก อินเดีย และจีน คือ รถจักรยานยนต์ของประเทศไทยมีน้ำหนักรถเบากว่า 1-5 กิโลกรัม หน้ารถมีไฟส่องสว่างน้อยกว่าและไฟเลี้ยวมองจากเนข้างรถมีความชัดเจนน้อยกว่า

เรื่องนี้ ศิริวรรณ สันติเจียรกุล นักวิจัยโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย ให้ข้อมูลว่า ในขณะที่ตัวรถมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา แต่กลับพบว่า การโฆษณารถจักรยานยนต์เหล่านี้ เน้นที่เรื่องของความเร็วและแรง ทั้งในแง่ประโยค รูปภาพ และภาพเคลื่อนไหว ที่โน้มน้าวให้คนพุ่งเป้าไปที่การใช้ความเร็วสูง เสี่ยงอันตรายสูง หรือเรื่องของการประหยัดน้ำมันเป็นหลัก มากกว่าความปลอดภัยของผู้ขับขี่

...

“จากการที่ทำการสำรวจโฆษณารถจักรยานยนต์ในบ้านเรา โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ จะเห็นว่า โฆษณารถจักรยานยนต์บางโฆษณา ไม่มีแม้กระทั่งเรื่องการสวมหมวกนิรภัย ไม่สวมถุงมือ และไม่มีการแถมหมวกนิรภัยเป็นส่วนควบเมื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภค”

คุณศิริวรรณ ยังบอกด้วยว่า นอกจากนี้ในส่วนของตัวรถ ก็มีหน้าปัดแสดงความเร็วที่ตัวเลขความเร็วสูงสุด สูงกว่าทุกประเทศ คือ ประมาณ 140-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ตัวเลขหน้าปัดจะอยู่ที่ 120-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และยังทำตัวเลขเป็นสีแดง เมื่อความเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง “จากการสำรวจสเปกมอเตอร์ไซค์ในหลายๆประเทศ ทั้งยุโรปและเอเชีย ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะให้ตัวเลขบอกความเร็วที่หน้าปัด อยู่ที่ประมาณ 90-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น” คุณศิริวรรณ บอก

พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีจักรยานยนต์รุ่นเล็ก ที่มีหน้ายางแคบที่สุด คือ 55.8 มิลลิเมตร ขณะที่ต่างประเทศ หน้ายางจะอยู่ที่ 80–90 มิลลิเมตร

นักวิจัยโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย บอกอีกว่า สิ่งที่ประเทศไทยแตกต่างจากประเทศอื่น และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น ก็คือ ประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนรถขนาดเล็ก ที่ 50 CC ซึ่งจำกัดความเร็วไม่เกิน 45 กม.ต่อชั่วโมง สำหรับผู้ขับขี่มือใหม่ที่อายุ 16-17 ปี เหมือนกับหลายๆประเทศที่มีการกำหนดและทำให้อัตราตายจากรถมอเตอร์ไซค์ต่ำมาก

...

“เพราะจุดขายของประเทศไทยเน้นแรง เร็ว คล่องตัวสูง ราคาถูก ประหยัดน้ำมัน จึงมีการผลิตรถที่มีน้ำหนักเบา วงล้อกว้าง หน้ายางแคบ ที่วัยรุ่นสามารถนำไปดัดแปลงให้รถวิ่งได้เร็วขึ้น แว้นได้ ไม่ยุ่งยาก แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ยางรถจักรยานยนต์ที่ผลิตจากโรงงาน รองรับความเร็วได้สูงสุดเพียง 150 กม.ต่อชั่วโมงเท่านั้น” คุณศิริวรรณ กล่าวในที่สุด

ด้าน พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย กำลังเร่งสรุปข้อมูล เพื่อขับเคลื่อนให้เกิด Road Map เพื่อมอเตอร์ไซค์ปลอดภัย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตของคนไทยจากรถจักรยานยนต์ให้ได้โดยเร็วที่สุด.