ในอดีตชีวิตคู่คือการครองรักและครองเรือนที่เริ่มต้นสร้างฐานะไปด้วยกัน ฝ่ายสามีภรรยาจึงต้อง “จดทะเบียนสมรส” ประโยชน์ของการจดทะเบียนสมรสนอกจากจะบ่งบอกสถานะคู่ชีวิตแล้ว ตามกฎหมายเพื่อเป็นข้อผูกพันเกี่ยวกับสินสมรส มรดก และการรักษาพยาบาลต่างๆ
ประวัติของการจดทะเบียนสมรสในไทย
การจดทะเบียนสมรสไม่ใช่ขนบธรรมเนียมของไทยตั้งแต่ต้น การจดทะเบียนสมรสครั้งแรกในบ้านเราเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เป็นการแต่งงานแบบตะวันตก โดยมีการถามความสมัครใจของคู่บ่าวสาว และต้องมีพยานลงชื่อในเอกสาร “ทะเบียนแต่งงาน” ด้วย
ปัจจุบันการจดทะเบียนสมรสมีผลครอบคลุมทรัพย์สินของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย และให้สิทธิ์แก่คู่สมรสที่จดทะเบียนกันก่อน หากฝ่ายใดจดทะเบียนสมรสซ้อน ใบทะเบียนสมรสนั้นจะเป็นโมฆะ นอกจากนี้ยังรวมถึงสิทธิ์ในการเบิกค่ารักษาสวัสดิการต่างๆ และเกี่ยวข้องกับสิทธิ์ในตัวบุตร
คุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียนสมรส
ผู้ที่จะขอจดทะเบียนสมรสได้ ต้องมีคุณสมบัติ 7 อย่าง ดังนี้
...
- ชายหรือหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ กรณีมีเหตุอันควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนที่ชายและหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ได้
- ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
- ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
- ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
- ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
- หญิงม่ายจะสมรสใหม่ เมื่อการสมรสครั้งก่อนได้สิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
* คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
* สมรสกับคู่สมรสเดิม
* มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
* ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้
* มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้
- ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีอำนาจให้ความยินยอมได้ตามกฎหมาย
จดทะเบียนสมรสใช้เอกสารอะไรบ้าง
เอกสารประกอบการจดทะเบียนสมรส มีทั้งหมด 4 อย่างด้วยกัน ดังนี้
1. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
2. ชาวต่างชาติใช้สำเนาหนังสือเดินทางประกอบด้วย
3. ชาวต่างชาติต้องใช้หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูตหรือสถานกงสุลหรือองค์การของรัฐบาลประเทศนั้นมอบหมาย พร้อมแปล
4. สำเนาทะเบียนบ้าน
6 ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส
1. เตรียมเอกสารทั้งหมดให้พร้อม ไปยื่นต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนใกล้บ้าน จดทะเบียนสมรสที่ไหน โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรส โดยลงชื่อในคำร้องตามแบบคร.1 ที่นายทะเบียนเป็นผู้บันทึกข้อความ และจัดพิมพ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ให้
2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานของผู้ขอจดทะเบียนสมรส พร้อมพยานอย่างน้อย 2 คน
3. นายทะเบียนพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียนสมรส
4. นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้ผู้ขอจดทะเบียนสมรส
5. นายทะเบียนลงรายการพิมพ์ข้อความในทะเบียนสมรส และใบสำคัญสมรส เรื่องทรัพย์สินและเรื่องอื่นๆ ก่อนลงลายมือชื่อในทะเบียนสมรส และมอบทะเบียนสมรสให้กับคู่สามีภรรยาคนละฉบับ
6. นายทะเบียนเก็บรักษาทะเบียนสมรส (คร.2) ไว้
จดทะเบียนสมรสไม่เปลี่ยนนามสกุล
การใช้นามสกุลของคู่สมรส เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างคู่สมรสให้ทางทะเบียนท้องที่บันทึกข้อตกลงของคู่สมรสว่าจะใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใด โดยให้บันทึกต่อท้ายในแบบ คร.2
จดทะเบียนสมรสออนไลน์
การจดทะเบียนสมรสออนไลน์นั้น หลายท่านเข้าใจผิดว่าเป็นการทำนิติกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ของทางกรมการปกครอง แต่เป็นเพียงการจองคิวเพื่อจดทะเบียนสมรสผ่านช่องทางออนไลน์ โดยว่าที่คู่สามีภรรยาต้องเข้าไปที่เว็บไซต์กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (คลิกที่นี่ https://q-online.bora.dopa.go.th/) เพื่อลงทะเบียนขอรับบริการล่วงหน้า โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน, วันเดือนปีเกิด และ เบอร์โทรศัพท์ 10 หลักเพื่อทำการจอง.
ที่มา : www.bora.dopa.go.th