ซอกแซกสัปดาห์นี้ยังอยู่กันที่เรื่องราวของศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงอีกหนึ่งสัปดาห์นะครับเพราะดังที่แฟนเพลงย้อนยุคทั้งหลายคงจะทราบข่าวคราวกันแล้วว่า บ่ายโมงตรงวันนี้ (อาทิตย์ที่ 14 มีนาคม 2564) จะมีการแสดงคอนเสิร์ต “99 ปี ครูชาลี อินทรวิจิตร เพลงคู่แผ่นดินหนึ่งในจักรวาล” เพื่อหารายได้สำหรับมอบให้เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวของสุดยอดครูเพลง ชาลี อินทรวิจิตร ที่เพิ่งจะฟื้นจากการล้มป่วยด้วยโรคสารพัดของคนชรา

สำหรับสถานที่แสดงนั้นได้แก่ ที่แกรนด์ บอลลูน ของ บริษัทซูเลียน ถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี บางบัวทอง นนทบุรี ปักหมุดถามกูเกิลเอาก็แล้วกัน ...แต่ถ้าไม่สะดวกในการเดินทาง ก็นั่งดูอยู่ที่บ้านนี่แหละ จะมีการ “ไลฟ์สด” ทางยูทูบ : 1 Jakkawal และเฟซบุ๊ก แฟนเพจ 1 Jakkawal ของ คุณหนึ่ง จักรวาล สว.ท่านใดไม่มีไอแพด, ไอโฟน หรือเครื่องคอมพ์ รีบบอกลูกหลานล่วงหน้าให้ยกมาตั้งและคลิกให้ด้วย ตามเวลาที่บอกไว้ข้างต้น

เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ เนื่องในโอกาสสำคัญ ของท่าน...หัวหน้าทีมซอกแซกในฐานะแฟนคลับคนหนึ่ง และได้เคยสัมภาษณ์พูดคุยกับท่านอย่างสนิทสนม เมื่อหลายสิบปีก่อนโน้น จึงเห็นสมควรที่จะเจาะเวลาหาอดีต เพื่อนำชีวิตและเรื่องราวของท่านบางช่วงบางตอนมาฝากผู้อ่าน เพื่อประกอบการติดตามชมคอนเสิร์ตครั้งนี้ไปด้วยพร้อมๆกัน

ตามที่ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีบันทึกไว้ ครู ชาลี อินทรวิจิตร เกิดเมื่อ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2466 ถ้านับถึงตอนนี้น่าจะมีอายุ 97 ปีเศษ และจะครบ 98 ปีในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ แต่สำหรับลูกศิษย์ ลูกหา จะบวกให้ 1 ปี โดยถือว่า เมื่อผ่านกรกฎาคม ท่านก็จะเป็น 98 ปี บวกบวกหรือย่างเข้าสู่ 99 จึงจัดงานฉลอง 99 ปี ให้เป็นการล่วงหน้าดังกล่าว

...

ท่านเกิดที่ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร แล้วเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนหนังสือจนจบ อำนวยศิลป์ และ โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ รุ่นแรก แต่ชะตาชีวิตหักเหให้เข้าสู่วงการบันเทิง ตั้งแต่ก่อนเรียนจบด้วยซ้ำ

ครูชาลีร้องเพลงได้ดีมากคนหนึ่งจึงไปสมัคร เป็นนักร้องหน้าม่าน ของละครหลายคณะที่แสดงตามเวทีของโรงละครดังในยุคก่อน

ต่อมามีนักร้องดาวรุ่งเกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะ สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร ซึ่งเมื่อมาโชว์เสียงแล้ว ครูชาลีก็เห็นว่าตัวท่าน ร้องสู้ไม่ได้ จึงตัดสินใจเลิกร้องเพลง หันมาเอาดีทางแต่งเพลงแทน

กลายเป็นนักประพันธ์ เพลงที่ยิ่งใหญ่นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา...ประมาณว่าได้แต่งเพลงต่างๆไว้เกือบๆ 1,000 เพลงเห็นจะได้

ที่ฮิตมากๆอยู่ในใจคนไทยแม้ในทุกวันนี้ก็เช่นเพลง สดุดีมหาราชา, แสนแสบ, ท่าฉลอม, สาวนครชัยศรี, ทุ่งรวงทอง, มนต์รักดอกคำใต้, แม่กลอง, เรือนแพ, จำเลยรัก, บ้านทรายทอง ฯลฯ และ “อาลัยรัก” เป็นต้น

เอกลักษณ์ในการแต่งเพลงของครูชาลี ที่ใครฟังเนื้อร้องแล้วก็แทบรู้ได้ทันทีว่าเพลงนี้เป็นของท่านแน่ๆ คือความไพเราะเพราะพริ้งในการใช้ภาษาที่ยากจะหาใครเหมือน

ในประเด็นนี้ ชรินทร์ นันทนาคร เคยเขียนถึงครูชาลีว่า “ชาลีไม่เคยเรียนอักษรศาสตร์ ไม่เคยเป็นบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยใดๆ แต่บทกวีที่มีทำนองของเขามีคุณค่ามหาศาล และเป็นอมตะตลอดมาตั้งแต่วันที่จดปากกาเขียนอักษรตัวแรกมาจนทุกวันนี้”

มีอยู่ยุคหนึ่งประมาณ พ.ศ.2500 เศษๆ ชรินทร์ไม่มีเพลงใหม่ออกมาเลย เขารู้สึกน้อยใจ ที่ครูเพลงยุคนั้นไม่แต่งเพลงใหม่ๆให้เขาร้อง เมื่อเจอกับครูชาลีก็บ่นให้ฟัง

ชาลีบอกเขาว่างั้นเดี๋ยวเขียนให้เอง...นี่มันอยู่ในมือฉันนี่...เขาชูหนังสือปึกหนึ่งที่เพิ่งซื้อมาจากร้านหนังสือ...ซึ่งเป็นนวนิยายลูกทุ่งของ ไม้ เมืองเดิม ที่สำนักพิมพ์เอามาพิมพ์ใหม่ทั้งชุด

มีอยู่เรื่องหนึ่งชื่อ “แสนแสบ” เรื่องราวของ ไอ้ขวัญ-อีเรียม แห่งคลองแสนแสบทุ่งบางกะปินี่เอง

“กูจะแต่งเพลงนี้ให้!!” ครูชาลีบอก “มึงดังอีกครั้งแน่ๆ เชื่อกูเหอะ” ซึ่งชรินทร์ก็ได้แต่พยักหน้าแบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง

อีกไม่นานนัก “แสนแสบ แสบแสน เปรียบแม้นชื่อคลอง” ก็ดังทะลุฟ้าจริงๆ ดังตั้งแต่เพลงเดี่ยวๆ ที่ชรินทร์ร้องมาจนถึงตอนที่ เชิด ทรงศรี สร้างหนังใหญ่เรื่อง “แผลเก่า” ตำนานคลองแสนแสบ ก็ให้ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ร้องอีกครั้งและดังมาจนถึงทุกวันนี้

กล่าวไปแล้วเกือบทุกเพลงของครูชาลีล้วนมีที่มาและตำนานทั้งสิ้น...อย่างเพลง “อาลัยรัก” ตอนที่ร้องว่าฉันจะบินมาตายที่หน้าตักให้ยอดรัก เช็ดเลือดและน้ำตา ก็มาจากแรงบันดาลใจหลังอ่านหนังสือเรื่อง “สงครามชีวิต” ของ ศรีบูรพา

หรืออย่างท่อนที่ร้องว่า “หิวหรืออิ่ม ก็ยิ้มพอกัน ชีวิตกลางน้ำสุขสันต์ โอ้สวรรค์ในเรือนแพ” ของเพลง “เรือนแพ” ก็มาจากหน้าต่างห้องบันทึกเสียงอัศวินแถวๆ เฉลิมเขตร มองไปคือซอยโรงเลี้ยงเด็กที่มีสตรีทฟู้ดดัง เช่น ข้าวมันไก่ โจ๊ก ปาท่องโก๋ ตั้งขายอยู่เป็นพืด...ครูมองไปน้ำลายไหลไป แล้วก็ได้ท่อนจบของเพลงนี้...หิวหรืออิ่ม ก็ยิ้มพอกัน!

...

ในส่วนของหัวหน้าทีมซอกแซกสนิทกับท่านตั้งแต่ยุคที่พี่ โกวิท สีตลายัน ยอดนักเขียน ไทยรัฐ เจ้าของนามปากกา “รามสูร” และ “มังกร ห้าเล็บ” ยังมีชีวิตอยู่

เจอกันที่บ้านพี่โกวิทหลายครั้ง ได้คุยได้สัมภาษณ์ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการหลายต่อหลายครั้ง

ครูชาลีเปรียบเสมือนเพื่อนรักเพื่อนแค้นของพี่โกวิท...คือรักกันมาก แต่ก็แค้นมาก เพราะเวลาพบกันมักจะชวนกันเล่นลูกเต๋าวัดดวง

บางตำนานเล่ากันว่า วันหนึ่งท่านแพ้พนันพี่โกวิทจนต้องเอาเปียโนคู่ใจไปจำนำพี่โกวิท และแต่งเพลง “น้ำตาลูกหนี้” เป็นการประชด

เสียดายจริงๆครับ...ที่นี่พยายามเข้าทั้งกูเกิล และยูทูบ เพราะอยากฟังเพลงนี้แต่ไม่พบว่ามีการเก็บบันทึกไว้...ใครมีอยู่อย่าลืมส่งไป ลงยูทูบด้วยนะครับ จะได้จารึกไว้เป็น 1 ในประวัติศาสตร์ของคุณครู...ที่สำคัญอยากทราบว่า ภาษากวีของท่านจะซึ้งและเศร้าแค่ไหนเมื่อ บรรยายถึงน้ำตาของลูกหนี้...ในครั้งกระโน้น.

“ซูม”