สำนวนไทย เป็นข้อความที่คนไทยมักนำมาใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน มีความแตกต่างจากข้อความทั่วไปตรงที่มีความคมคาย อาจต้องวิเคราะห์หรือตีความ จึงจะเข้าใจความหมายจริงๆ ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ทางภาษาที่สะท้อนภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย
"สำนวนไทย" คืออะไร? ทำไมเราต้องใช้สำนวนไทยในการสื่อสาร
สำนวนไทย หมายถึง ถ้อยคำ กลุ่มคำ หรือประโยคที่ไม่ได้แปลความหมายตรงๆ แต่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบแฝงอยู่ ซึ่งเป็นข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านาน ส่วนใหญ่เป็นสำนวนที่เกิดจากวัฒนธรรมและพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของคนไทย นอกจากนี้ยังมี สุภาษิต และ คำพังเพย ที่มีลักษณะอุปมาอุปมัยเช่นเดียวกัน แต่จะเน้นความหมายเชิงสั่งสอน ว่ากล่าวตักเตือน และเสียดสี ตามวิถีชีวิตและแนวคิดของคนไทยสมัยก่อน ทำให้บางครั้งมักจะเรียกรวมกันว่า "สำนวน สุภาษิต และคำพังเพย"
คนไทยมักจะคุ้นเคยกับสำนวนไทยมาตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นจากการฟังผู้ใหญ่ในบ้านพูด หรือแม้แต่ได้เรียนเรื่องการใช้สำนวนไทย ในชั้นเรียนระดับต่างๆ โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาที่เริ่มสอนให้นักเรียนได้รู้จักความหมายของสำนวนไทย เพื่อช่วยในการสื่อสารและอ่านวิเคราะห์ ซึ่งสำนวนส่วนใหญ่จะง่าย ไม่ซับซ้อน เด็กๆ สามารถเข้าใจง่าย ยกตัวอย่างเช่น
สํานวนไทย ป.3
ขวานผ่าซาก : การพูดตรงมากจนเกินไป โดยไม่ดูกาลเทศะ ไม่ได้คิดว่าจะสร้างความพอใจให้แก่ผู้อื่นหรือไม่
ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด : มีความรู้มาก แต่รู้เพียงทฤษฎี ไม่สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองได้
กระต่ายตื่นตูม : อาการตื่นตกใจแบบด่วนสรุปง่ายๆ โดยยังไม่คิดไตร่ตรองถึงเหตุผลให้ถี่ถ้วนเสียก่อน
...
สํานวนไทย ป.4
ลิงหลอกเจ้า : ทำตัวเรียบร้อยเฉพาะเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่ แต่พอลับหลังก็ทำตัวอีกแบบ
ม้าดีดกะโหลก : กิริยาที่กระโดดโลดเต้น วางตัวไม่สุภาพเรียบร้อย
มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ : ไม่ช่วยคนอื่นทำงานแล้ว ยังจะขัดขวางการทำงานอีก
สํานวนไทย ป.5
ไก่งามเพราะขนคนงามเพราะแต่ง : คนจะดูดีได้นั้น จะต้องรู้จักแต่งหน้าแต่งตัวให้สวยงาม
กินบนเรือน ขี้รดบนหลังคา : คนเนรคุณ ไม่รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณ มักทำให้เจ้าของบ้านเดือดร้อน
เข็นครกขึ้นภูเขา : การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างลำบากแสนเข็ญ กว่าจะสำเร็จถึงเป้าหมาย
รวม 30 สํานวนไทย พร้อมความหมาย ที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน
สำหรับคนที่สงสัยว่า สำนวนไทย มีอะไรบ้าง? การแบ่งประเภทของสำนวนไทย ไม่ได้จำกัดรูปแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าต้องการแบ่งตามเกณฑ์ใด เช่น สำนวนไทย ก-ฮ, สำนวนไทยเกี่ยวกับการกระทำ, สำนวนไทยเกี่ยวกับอาหาร เป็นต้น ไทยรัฐออนไลน์ขอยกตัวอย่างสำนวนไทย พร้อมความหมาย ที่มักพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ดังนี้
1. สุกเอาเผากิน
การทำงานหรือทำอะไรสักอย่างแบบลวกๆ ให้พอเสร็จสิ้นและผ่านพ้นไป
2. ผักชีโรยหน้า
การทำดีเพียงผิวเผิน ทำดีเพื่อเอาหน้า หรือทำให้จบๆ ไปทั้งที่งานยังไม่เสร็จเรียบร้อย
3. งมเข็มในมหาสมุทร
การค้นหาอะไรบางอย่าง หรือทำสิ่งที่ยากมากๆ เปรียบเสมือนการงมหาเข็มสักเล่มในมหาสมุทร
4. หัวล้านนอกครู
ไม่เชื่อครูบาอาจารย์ ทำนอกแบบแผนที่สั่งสอนกันมา จนสุดท้ายได้รับความเดือดร้อน
5. ไม่เอาถ่าน
การทำตัวเหลวไหล พึ่งพาไม่ได้ ไม่เอาใส่ใจในการเรียน หรือการทำงาน
6. ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม
ไม่ควรรีบร้อน ควรจะศึกษาหาข้อมูล หรือทบทวนให้รอบคอบ เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด
7. รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง
ตนเองทำผิดพลาดเอง แต่ดันไปโยนความผิดให้คนอื่น
8. คนล้มอย่าข้าม
ไม่ควรไปดูถูกคนที่ตกต่ำ ล้มเหลว หรือกำลังลำบากในชีวิต
9. ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก
เมื่อเกิดเรื่องยุ่งยากขึ้น ยังไม่ทันจัดการให้เสร็จเรียบร้อย ปัญหาใหม่ก็แทรกเข้ามาอีก
10. ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น
ลูกย่อมไม่แตกต่างไปจากพ่อแม่มากนัก ใช้ได้ทั้งเชิงบวกและลบ
11. ปิดทองหลังพระ
การทำความดีที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ หรือเปิดเผยให้ผู้อื่นรับรู้ เปรียบเหมือนการปิดทองที่หลังองค์พระ
...
12. สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
คนเราย่อมทำผิดพลาดกันได้ แม้แต่คนที่เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็เช่นเดียวกัน
13. ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน
การทำดีมีความซื่อตรง ไม่ต้องคอยระแวงใคร แต่หากคดโกง ไม่สุจริต สักวันจะเดือดร้อน เมื่อความจริงเปิดเผย
14. เด็ดดอกฟ้า
ใช้เรียกผู้ชายที่หมายปองหญิงสาวที่มีฐานะและยศศักดิ์สูงกว่าตน
15. ปากว่าตาขยิบ
พฤติกรรมที่ปากกับใจไม่ตรงกัน พูดอีกอย่าง แต่กลับทำอีกอย่าง
16. กิ่งทองใบหยก
ผู้หญิงและผู้ชายที่เหมาะสมที่จะครองคู่กัน ทั้งรูปร่างหน้าตาและฐานะ
17. แกว่งเท้าหาเสี้ยน
ชอบไปสอดหรือไปยุ่งเรื่องของคนอื่น จนสุดท้ายตนเองลำบากเอง
18. ขี่ช้างจับตั๊กแตน
การยอมลงทุนเป็นจำนวนมาก เพื่อทำสิ่งเล็กๆ แต่สุดท้ายก็ได้ไม่คุ้มทุน
19. เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม
ไปอยู่ที่ไหนก็ต้องปรับพฤติกรรมตามผู้คนที่นั่น ไม่ควรไปทำตัวขัดแย้งจากสิ่งที่เขาปฏิบัติ
20. จับปลาสองมือ
การทำหรือคาดหวังอะไรสองอย่างพร้อมๆ กัน โดยไม่คำนึงถึงความสามารถของตนเอง
21. น้ำขึ้นให้รีบตัก
เมื่อมีโอกาสดีๆ เข้ามา ให้รีบคว้าไว้ก่อนจะหลุดลอยไป เพราะโอกาสดีๆ ไม่ได้มีบ่อยนัก
22. ฟังหูซ้าย ทะลุหูขวา
รับฟัง แต่ไม่ยอมทำหรือปฏิบัติตาม เปรีบเหมือนคำพูดที่เข้าหูซ้าย และออกหูขวาไปเสียเฉยๆ
23. มืดแปดด้าน
มีปัญหามากมาย จนไม่รู้จะคิดหาทางออก หรือหาทางแก้ไขอย่างไร
...
24. รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี
การสั่งสอนลูกหลานให้เชื่อฟัง หรือลงโทษหากทำผิด บางครั้งก็ต้องเฆี่ยนตีกันบ้างให้หลาบจำ
25. ดาบสองคม
สิ่งที่ทำลงไปอาจมีผลดี แต่ขณะเดียวกันก็อาจมีผลเสียด้วยก็ได้ ให้ทั้งคุณและโทษในเวลาเดียวกัน
26. ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
ลงทุนลงแรงในการทำสิ่งใดสักอย่าง แต่สุดท้ายก็สูญเปล่า ไม่ได้อะไรกลับคืนมา
27. ทำนาบนหลังคน
การเอาเปรียบน้ำพักน้ำแรงของผู้อื่น
28. ปลาหมอตายเพราะปาก
การพูดพล่อยๆ ไปเรื่อยโดยไม่ยั้งคิด สุดท้ายตนเองก็ได้รับอันตรายจากคำพูดนั้น
29. เลือดขึ้นหน้า
ใช้เรียกอาการที่โกรธ และโมโหมากจนขาดสติ
30. ชักแม่น้ำทั้งห้า
การพูดจาหว่านล้อมให้ยืดยาว ก่อนจะบอกจุดประสงค์บางอย่างที่ต้องการ
สำนวนไทย ถือเป็นภูมิปัญญาทางภาษาและวัฒนธรรมของไทย ที่สืบสานกันมาจนถึงปัจจุบัน แต่การจะหยิบยกสำนวนต่างๆ มาใช้ ก็ควรรู้คำแปล ความหมาย เพื่อจะได้ใช้อย่างเหมาะสมและถูกกาลเทศะ
...