กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องพกติดตัวตลอดเวลา สำหรับแอลกอฮอล์และแอลกอฮอล์เจลในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

เพราะการใช้ชีวิตในยุคที่เรียกว่า New Normal ที่กำลังก้าวสู่ Next Normal คำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข คือ ต้องการ์ดไม่ตก ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ

นั่นทำให้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ทั้งชนิดน้ำและเจล กลายมาเป็นสิ่งที่ผู้คนจำเป็นต้องมีติดตัว หรือพกพาไปในที่ต่างๆ ตลอดเวลา

แต่ล่าสุด อะไรที่เป็นสินค้าขายดี คนใช้เยอะ มักหนีไม่พ้นเหล่ามิจฉาชีพ ที่หาประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค

ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเตือนให้ระวัง เจลแอลกอฮอล์ปลอม ที่พ่อค้าหัวใสผลิตออกมาขาย โดยแอบใส่ส่วนผสมที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้

นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่าปีงบประมาณ พ.ศ.2563 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือทั้งชนิดเจลและของเหลวจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสถานีตำรวจ เพื่อทดสอบชนิดและปริมาณแอลกอฮอล์และทดสอบปริมาณเมทานอล และทดสอบประ-สิทธิภาพการลดเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งหมด 205 ตัวอย่าง พบว่าเข้ามาตรฐานเพียง 120 ตัวอย่าง หรือประมาณ 58.5% คือ มีชนิดและปริมาณแอลกอฮอล์ตามที่กำหนดและมีประสิทธิภาพการลดเชื้อ และไม่เข้ามาตรฐาน 85 ตัวอย่าง หรือประมาณ 41.5%

...

“เจลแอลกอฮอล์ที่ไม่เข้ามาตรฐานมีตั้งแต่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 71 ตัวอย่าง พบเมทานอลและปริมาณเอทิลแอลกอฮอล์ต่ำกว่าเกณฑ์ 2 ตัวอย่าง ไม่พบแอลกอฮอล์ที่อนุญาตแต่พบเมทานอล 5 ตัวอย่าง และพบว่าไม่มีประสิทธิภาพในการลดเชื้อแบคทีเรีย 7 ตัวอย่าง” รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอก

คุณหมอบัลลังก์ บอกว่า หลังจากได้ข้อมูลดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการตรวจสอบเจลแอลกอฮอล์ต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2564 เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 28 ธันวาคม 2563 โดยได้รับตัวอย่างจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสถานีตำรวจ เพื่อทดสอบชนิดและปริมาณแอลกอฮอล์และทดสอบปริมาณเมทานอล รวมทั้งหมด 6 ตัวอย่าง พบว่าไม่เข้ามาตรฐานถึง 3 ตัวอย่าง

“แม้จะดูเหมือนว่า เป็นเรื่องเล็กแต่จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องเล็กๆเลย ในกรณีของเจลแอลกอฮอล์ปลอม ที่มีเมทานอลมีพิษต่อร่างกายรุนแรงมาก สามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังและลมหายใจ หากสัมผัสในปริมาณมากอาจทำให้ถึงขั้นตาบอดได้” คุณหมอบัลลังก์ ย้ำ

อะไรคือสิ่งที่บ่งบอกว่าเป็น “เจลแอลกอฮอล์ล้างมือปลอม”

รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่า เจลแอลกอฮอล์ล้างมือปลอม คือ เจลแอลกอฮอล์ที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือแหล่งผลิต หรือจดแจ้งที่ไม่ใช่ความจริง หรือมีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 20% ตามที่จดแจ้งหรือตามที่ระบุไว้ในฉลาก หรือพบเมทานอลเกิน 5% ของเอทิลแอลกอฮอล์และไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ หรือไม่พบแอลกอฮอล์ที่อนุญาตให้เป็นส่วนผสม

“เจลแอลกอฮอล์ล้างมือปลอมที่พบส่วนใหญ่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 56% และพบเมทานอลเกินเกณฑ์กำหนด เมื่อเมทานอลเข้าสู่ร่างกายโดยการดูดซึมผ่านทางผิวหนังและลมหายใจ จะมีอันตรายทำให้หลอดลม ลำคอ และเยื่อบุตาอักเสบ หากหายใจหรือสัมผัสในปริมาณมากอาจทำให้ปวดท้อง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก การมองเห็นผิดปกติและอาจถึงขั้นตาบอดได้” คุณหมอบัลลังก์ ให้รายละเอียด

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลักษณะภายนอก สี หรือกลิ่นของเมทานอลกับแอลกอฮอล์ที่อนุญาตให้ใช้ได้ไม่มีความแตกต่างกัน จึงทำให้บางครั้ง ผู้บริโภคไม่สามารถแยกเจลแอลกอฮอล์ของแท้และของปลอมออกจากกันได้ หากต้องการทราบชนิดของแอลกอฮอล์ต้องทดสอบทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาการตรวจหาเมทานอลให้เร็วขึ้น โดยพัฒนาเป็นชุดทดสอบเมทานอลหรือ DMScMtTek Test Kit ซึ่งมีวิธีใช้ง่ายและทราบผลภายใน 2 นาที หากพบว่าผลิตภัณฑ์ที่ตรวจด้วยชุดทดสอบให้ผลบวก คือ พบเมทานอล จะต้องส่งตรวจยืนยันที่ห้องปฏิบัติการ

...

“อยากฝากถึงผู้ประกอบการและผู้ผลิตทุกท่าน ขณะนี้ทุกคนทราบอยู่แล้วว่าเราอยู่ในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 การผลิตสินค้าโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและผู้ผลิตควรให้ความสำคัญ ไม่ควรเอาเปรียบผู้บริโภค และผลิตสินค้าให้อยู่ภายใต้กฎหมายควบคุม ผลิตให้มีปริมาณแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป”

นพ.บัลลังก์ บอกพร้อมกับแนะนำว่า การเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ปลอดภัยควรพิจารณาจากชื่อทางการค้า ส่วนประกอบสำคัญ ชื่อและที่อยู่ผู้ผลิต วันที่ผลิต วันหมดอายุ และเลขจดแจ้ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ถ้าไม่มั่นใจให้นำเลขจดแจ้งไปค้นหาในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะทราบทันทีว่าเจลแอลกอฮอล์ล้างมือนั้น จดแจ้งถูกต้องหรือไม่ ขอย้ำว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค หากพบผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ที่ไม่ถูกต้อง ผู้บริโภคสามารถแจ้งไปทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้.