หนึ่งในสถานการณ์ปัญหาสุขภาพและภาระโรคต่อเนื่องซึ่งน่าจับตามองในปี 2564 คือ ปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่น โดยเฉพาะเรื่องเครียดและภาวะซึมเศร้า

ในงาน “Thaihealth Watch : จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2564” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว และ พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้ร่วมกันพูดคุยในประเด็น “ความสัมพันธ์ในครอบครัว เครียด ซึมเศร้าในวัยรุ่น ภัยเงียบที่ไม่เงียบ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและทางออกจากปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่นอย่างน่าสนใจ

จากประสบการณ์ในการทำงานของ พญ.วิมลรัตน์ พบว่า ปัจจุบันวัยรุ่นไทยมีปัญหาซึมเศร้ามากกว่าในอดีตมาก โดยในปี 2563 สาเหตุของการซึมเศร้ามีการกล่าวถึงทั้งหมด 84,520 ครั้งบนโซเชียลมีเดีย สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาคือ ความสัมพันธ์ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 60 รองลงไปคือ เรื่องการเรียน ความรุนแรง ปากท้อง การกลั่นแกล้ง หน้าที่การงาน ฯลฯ “แต่ทุกอย่างไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดียว” พญ.วิมลรัตน์ กล่าว

ปัญหาทางด้านอารมณ์หรือว่าพฤติกรรมของเด็ก มีปัจจัย 3 อย่าง คือ Bio, Psycho และ Social สำหรับ “Bio คือ ปัจจัยที่ติดตัวตั้งแต่เกิด แก้ไม่ได้ แล้วก็ไม่จำเป็นว่าพ่อแม่จะเป็นเหมือนกัน พี่น้องก็ไม่เหมือนกัน อาการซึมเศร้าเกิดจาก Bio ได้ เป็นปัจจัยโดยธรรมชาติ เกิดมาแล้วมีแนวโน้มเสี่ยงที่จะป่วย ส่วน Psycho คือ การเลี้ยงดู และ Social คือ สังคมหรือสื่อ ซึ่งมันเกินการควบคุมของเรา อยากให้เน้นเรื่องของ Psycho มากกว่า เราทำให้ครอบครัวเป็นเซฟโซนที่ป้องกันลูกไม่ให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือเกิดอารมณ์ซึมเศร้าได้” คุณหมอวิมลรัตน์ อธิบาย

เพื่อให้ครอบครัวเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและทำให้ความสัมพันธ์ในบ้านดีขึ้น พญ.วิมลรัตน์ แนะนำให้ใช้การสื่อสารเชิงบวกคือ ไอ เมสเสจ (I Message) คือ แทนที่พ่อแม่ผู้ปกครองหรือครูจะบ่นดุด่าว่ากล่าว แต่ให้บอกพฤติกรรมที่ไม่ชอบ (ไม่ใช่บุคลิก) หรือพฤติกรรมที่ชอบแทน เช่น เด็กเล่นมือถือแล้วไม่ทำการบ้านให้เสร็จ แทนที่จะดุด่าว่ากล่าวหรือบ่นเด็ก ก็ให้พ่อแม่หรือครูบอกความรู้สึกของตัวเอง (I) ออกมา

“รู้สึกดีๆ เป็นห่วง รัก ให้ถ่ายทอดออกไป แล้วสุดท้ายก็บอกไปเลยว่า อยากให้เกิดอะไรขึ้น ไม่ต้องบ่นยาว เช่น ‘เล่นมือถือแล้วงานก็ยังไม่เสร็จ แม่เป็นห่วงนะ ปิดโทรศัพท์มาทำได้แล้ว’ หรือถามว่าจะทำกี่โมง พูดสั้นๆ เด็กอาจจะไม่ทำ แต่ถ้าเราเลิกบ่นและทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โอกาสที่เราพูดแล้วเด็กจะทำมีมากขึ้น เป็นทักษะง่ายๆ เกี่ยวกับการสื่อสาร เราทำเองได้เพื่อให้เกิดเซฟโซนในสังคม ในครอบครัว สุขภาพใจก็จะได้แข็งแรง สุขภาพจิตก็จะได้ดีขึ้น”

ในกรณีที่พ่อแม่และลูกมีความคิดเห็นขัดแย้งกัน คุณหมอแนะนำให้พ่อแม่ลองปรับเปลี่ยนตัวเองก่อน ต้องไม่บอกว่า ความเห็นของลูกผิด แต่ให้บอกความรู้สึกของตัวเองออกไป เป็นการสื่อถึงความรักและความห่วงใย

“ถึงจะขัดแย้งกัน แต่เขาก็จะรู้ว่า เราเป็นห่วง เรารัก สุดท้ายก็จะคุยกันและฟังกันได้ดีขึ้น ทำให้บรรยากาศในครอบครัวดีขึ้น สร้างต่อไปเรื่อยๆ ถ้าได้ลองทำจะพบว่าคุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยนจริงๆ แต่ถ้าจะรอให้ลูกเปลี่ยนก่อน เขาไม่เปลี่ยนหรอกค่ะ ก็จะเหมือนเดิมไปเรื่อยๆ

“ใช้ I Message ลดบ่นลง ทะเลาะกันให้น้อยลง คุณพ่อคุณแม่เปลี่ยน ลูกเปลี่ยนแน่นอน แต่เปลี่ยนได้ดั่งใจ 100% หรือเปล่านั่นคืออีกประเด็นหนึ่ง แล้วอีกเรื่องที่สำคัญคือ พ่อแม่อย่าลืมดูแลตัวเอง เราเหนื่อยทั้งงาน เหนื่อยทั้งการดูแลเขา สุดท้ายเราก็อาจจะเป็นคนที่มีภาวะซึมเศร้าเองก็ได้” คุณหมอวิมลรัตน์ ระบุ

ขณะที่ ณัฐยา บุญภักดี ก็ย้ำว่าปัญหาวัยรุ่นนั้นส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเป็นอันดับหนึ่ง “ปัญหาเรื่องการถูกกลั่นแกล้งรังแก ใช้ถ้อยคำ ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ หรือว่าบูลลี่ (Bully) ตามมา จริงๆ เราป้องกันได้ เราตัดไฟตั้งแต่ต้นลมได้”

โครงการ “คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน” ระบบการเรียนรู้ออนไลน์ สามารถเป็นหนึ่งหนทางที่จะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจ ช่วยแก้ไขปัญหาหรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับลูกหลาน โดยสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก ด้วยการอบรมเลี้ยงดูด้วยวินัยเชิงบวก ละเว้นถ้อยคำและการกระทำที่ทำร้ายจิตใจ รวมทั้งฝึกวัยรุ่นให้ใช้กฎแห่งการแทนที่ “เวลาความทุกข์มาเยือน ไม่ต้องผลักไส ไปทำสิ่งอื่นที่ทำแล้วสุขใจ แล้วก็ดำเนินชีวิตต่อไป ไม่ต้องผลักไสไล่ส่งความเศร้า แต่แทนที่มันด้วยสิ่งที่ทำแล้วสบายใจ ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายคนอื่น ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ พลังใจจะเกิดขึ้นได้ในตัวของน้องๆ เอง”

ณัฐยายังได้พูดถึงการใช้เทคโนโลยีลดระยะห่างแล้วเสริมสร้างภูมิคุ้มกันใจ โดยเฉพาะการให้คำแนะนำปรึกษาเบื้องต้นกับเยาวชนผ่านแชทบอท ซึ่งมีทั้ง "ใจดี-รุ่นพี่แชตบอท" ให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องการเรียน ความรัก เพื่อน (รวมทั้งการถูกกลั่นแกล้งรังแก) การเงิน และครอบครัว ส่วน "เจน Sex Bot' ให้คำปรึกษาเรื่องเพศ การตั้งครรภ์ โรคติดต่อ การใช้ยาคุมกำเนิด ถุงยาง รวมทั้ง "Maikham ไม่ขำ" ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการบูลลี่ การกลั่นแกล้งทั้งร่างกายและจิตใจ

“รุ่นพี่แชทบอทจะให้คำแนะนำปรึกษาเบื้องต้น คุยสนุกคุยภาษาวัยรุ่น เราทำสิ่งเหล่านี้เพราะเชื่อว่า เราต้องเสริมพลังให้น้องๆ มีเครื่องมือในการเข้าถึงข้อมูลความรู้และความช่วยเหลือในแบบที่สนุกสนานตามสไตล์วัยรุ่นได้ด้วยตัวเอง แล้วมันจะทำให้พวกเขาก้าวพ้นปัญหาได้ในขั้นต้น”

ณัฐยา ระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่นนั้น อาจจะนำมาซึ่งผลที่ใหญ่โตเกินคาดคิด ถ้าได้เข้าไปสำรวจในทวิตเตอร์ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียที่วัยรุ่นนิยมใช้เป็นพื้นที่ระบายความในใจ แล้วลองค้นหาใน #โรคซึมเศร้า #ปัญหาครอบครัว #บูลลี่ สิ่งที่จะพบเห็นเสมอคือ ภาพเด็กวัยรุ่นทำร้ายร่างกายตัวเอง ประเด็นนี้ ณัฐยาได้ฝากถึงสื่อมวลชนว่า “เราช่วยกันทำให้ปัญหานี้ลดลงได้ด้วยการรายงานข่าวแบบมืออาชีพ อย่างที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ ไม่บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับการทำร้ายตนเอง เพราะมีผลวิจัยยืนยันว่า กระตุ้นการเลียนแบบได้ และเติมข้อมูลเรื่องการแก้ไข การป้องกัน และช่องทางขอคำปรึกษา ขอความช่วยเหลือในข่าวที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง”

ไม่ว่าจะเป็น สายด่วน 1323 สายด่วนสุขภาพจิต ปรึกษาออนไลน์ หรือ Hope Task Force ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย, แชทบอท 1323 หรือ แชตไลน์ : คุยกัน KhuiKun ล้วนเป็นช่องทางที่ให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่น

และถ้าบ้านหรือโรงเรียนถูกสร้างให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อ-แม่-ลูก ครู-นักเรียน มีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ก็จะสามารถช่วยให้วัยรุ่นมีสุขภาพจิตแข็งแรง ห่างไกลจากความเครียด และภาวะซึมเศร้าได้