การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่อย่าง “โควิด-19” ทำให้สถานการณ์หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล ไม่เพียงเฉพาะบริบทด้านสุขภาพเท่านั้น ในงาน “Thaihealth Watch : จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2564” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ ประเทศไทย จำกัด ได้ฉายภาพ “เจาะลึกพฤติกรรมสุขภาพคนไทย อะไรที่ไม่เหมือนเดิม” โดยสะท้อนเสียงคนบนออนไลน์ และกวาดข้อมูลจากโลกโซเชียลนำมาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง รวมทั้งวัดผลเพื่อการแก้ไขปัญหา

ในปี 2563 ขณะที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับโควิด-19 พร้อมกัน “Fake News” หรือ “ข่าวปลอม” ก็เกิดขึ้นมากมายหลายรูปแบบและมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต อีกทั้งได้สร้างความแตกตื่น และการตระหนกต่อโรคระบาด

“ตลอดทั้งปีมีปฏิสัมพันธ์เกี่ยวกับข่าวปลอมเรื่อง โควิด-19 ประมาณ 4 ล้านครั้งบนโลกโซเชียล ตกลงมันของจริงหรือเปล่า เราเชื่อได้หรือเปล่า เราควรทำหรือไม่ควรทำ ผมคิดว่าเรื่องนี้มันอยู่ในหัวของทุกคน คนพูดน่าเชื่อถือพอไหม หลายคนเชื่อสื่อใหญ่ หลายคนเชื่อทางการ หลายคนบอกอย่าไปเชื่อทางการเลย นั่นแหละตัวดีปล่อยข่าวปลอม”

เพื่อสกัดข่าวปลอมที่เพิ่งขึ้นในปริมาณที่ค่อนข้างสูงในช่วงแรกก่อนล็อกดาวน์ ทำให้หน่วยงานภาครัฐ พยายามสื่อสารเพื่อนำข้อมูลจริงใส่เข้าไปในโซเชียลมีเดียมากขึ้น “เพื่อสื่อสารกับประชาชนให้เขาได้รับรู้มากขึ้น ในช่วงแรกเราต้องยอมรับว่าภาครัฐสื่อสารน้อยมาก เราไม่รู้ว่าโควิด-19 มันคืออะไรบ้าง เราต้องแก้ปัญหายังไงบ้าง พอภาครัฐสื่อสารน้อย ข้อมูลที่แท้จริงมันออกมาค่อนข้างน้อย คนก็ตื่นตระหนก หลังจากนั้นรัฐก็สื่อสารเพิ่มมากขึ้นเกือบ 20 เท่า เทียบกับช่วงก่อนโควิด สังเกตได้ถึงความตื่นตระหนกของข่าวปลอมลดลง

“ช่วงนั้นสำนักข่าวบางที่ก็เปลี่ยนวิธีการ แทนที่จะเป็นข่าวปลอมก็อาจจะเป็นข่าวที่ยังไม่ยืนยันว่าเป็นข่าวจริง แล้วก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งในโซเชียลมีเดียที่พยายามช่วยแก้ปัญหาข่าวปลอม การจัดการเรื่องของข่าวปลอมควรเป็น ความร่วมมือของทุกภาคส่วน” กล้าระบุ

นอกจากนี้ สิ่งที่มาพร้อมกับ โควิด-19 คือ คำว่า Social Distance, Work From Home และ New Normal “เราไม่สามารถไปเจอกันได้ เป็นเรื่องของความปกติใหม่ ทำให้เราจะต้องมีความสามารถอันใหม่ เช่น ประชุมออนไลน์ ช็อปปิ้งออนไลน์ ฯลฯ

“แต่หลายคนไม่ได้รู้สึกดี เขารู้สึกแย่ เพราะชีวิตขาดความสมดุล บ้านไม่ได้เหมาะเป็นที่ทำงาน หลายคนไม่ได้มีบ้าน มีแค่ห้องเอาไว้ซุกหัวนอน หลายคนใช้โต๊ะกินข้าวมาทำงาน หลายคนต้องทำงานบนเตียง เวลาทำงานเราต้องรู้สึกแอคทีฟ แต่ถ้าเราทำงานบนเตียง เราควรจะแอคทีฟหรือเราควรง่วง พอชินก็เกิดอาการนอนไม่หลับ ปวดหลัง สุขภาวะเปลี่ยน วิถีชีวิตเปลี่ยน

“คนไม่แฮปปี้ มีความอึดอัด บางคนไม่อึดอัดธรรมดา ถึงกับซึมเศร้าเลย เพราะเขาไม่ได้ Work From Home แต่เขาตกงาน โดนพิษเศรษฐกิจ คนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเยอะขึ้น เราสามารถวัดผลได้จากข้อความเท่าที่เราจับได้บนโลกโซเชียล 1,254 ข้อความ จาก 1,081 คน ที่เขามีภาวะซึมเศร้าอย่างชัดเจน และภาวะซึมเศร้าพวกนี้ สามารถนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ถ้าเราสามารถดักจับข้อความพวกนี้ได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงตัวบุคคลได้อย่างปลอดภัยและช่วยชีวิตเขาได้

“ในอนาคตความปกติใหม่อันใหม่ที่เราควรจะเห็นคือ ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ใช้ข้อมูลพวกนี้ ในการหาปัญหา แก้ปัญหา วัดผลประสิทธิภาพการแก้ปัญหา เพื่อลดความเสี่ยงของชีวิต และสุขภาพของคนในประเทศไปได้เรื่อยๆ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ ประเทศไทย กล่าว