วัคซีนโควิด-19 (Covid-19) กลายเป็นแสงสว่างท่ามกลางความมืด โดยเฉพาะการระบาดใหม่ ในช่วงปลายปี 2563 ที่หลายประเทศกำลังเผชิญ รวมทั้งประเทศไทยส่งผลให้หลายคนกังวลจนนอนไม่หลับ และบางแผนที่วางไว้ในปี 2564 ต้องปรับใหม่เพราะไม่รู้ว่าการระบาดรอบนี้จะสิ้นสุดเมื่อไร ขณะที่คนทั้งโลกหวังว่าวัคซีนจะใช้ได้ผล เพราะหลายประเทศเริ่มฉีดให้คนในประเทศของตัวเองแล้ว แล้วประเทศไทยจะเริ่มเมื่อไร และใครคือคนแรกจะได้รับวัคซีนโควิด-19 ไปไขข้อข้องใจกับ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีประสบการณ์กับงานวิจัยโรคต่างๆ มาหลายสมัยจนมาถึงยุคโควิดนี้

ข่าวดีปี 2564! วัคซีนโควิด-19 เริ่มฉีดได้เร็วสุด มิ.ย. 64 (ในกลุ่มอาสาสมัคร)

ช่วงปลายเดือนธันวาคม 63 สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, แคนาดา, ชิลี และบางประเทศในตะวันออกกลางได้เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) แล้ว และกว่าคนไทยจะได้วัคซีนนี้ ทั่วโลกคงได้ฉีดไปแล้วเกิน 100 ล้านโดส ถึงแม้ว่าจะได้ฉีดช้ากว่า แต่วัคซีนโควิดพัฒนาให้มีความปลอดภัยขึ้นเรื่อยๆ หมอเกียรติ กล่าวว่า “เมื่อถึงเวลากลางปีหน้า ทีมแพทย์จะได้ข้อมูลผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19 ที่มากพอ”

...

วัคซีนโควิด-19 (COVID-19)
ช่วยหยุดระบาดได้เมื่อไร

"คำถามที่ทุกคนสนใจ คือ ประเทศไทยจะเริ่มวัคซีนได้เมื่อไร และได้แล้วจะเริ่มคุมโรคได้เมื่อไร สุดท้ายคือการคัดเลือกคนที่ควรจะได้รับวัคซีน ทุกวันนี้ทั่วประเทศทั่วโลกต่อให้มีเงินแค่ไหน การได้รับวัคซีนก็จำกัด" หมอเกียรติสรุป "ถ้าเราได้ฉีดวัคซีนกลางปีหน้า ก็จะเริ่มควบคุมการระบาดได้อีก 1 ปี" ก็หมายถึงกลางปี 65 แต่ก็ต้องดูว่าจะมีปัจจัยอื่นหรือไม่

ใครจะได้รับวัคซีนโควิดก่อน

“แต่เบื้องต้นวัคซีนโควิดเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก ปริมาณมีจำกัด ประเทศที่ได้ฉีดไปแล้วจัดลำดับความสำคัญของผู้ที่สมควรได้รับวัคซีนโควิด-19 ตามเกณฑ์ความปลอดภัย โดยกลุ่มแรกก็คือ บุคลากรทางการแพทย์, ผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มต่อมาคือผู้ที่ประกอบอาชีพเสี่ยง ประเด็นที่น่าสนใจคือแรงงานข้ามชาติ" หมอเกียรติตั้งคำถามต่อไปว่า "เราจะจัดสรรวัคซีนให้พวกเขาด้วยไหม?”

เหตุการณ์โควิด-19 ของบ้านเราไม่ได้ระบาดในประชากรเพียงอย่างเดียว เรามีบทเรียนจากสิงคโปร์ที่การระบาดเกิดจากแรงงานข้ามชาติ และสิงคโปร์เขาเลือกฉีดให้กับแรงงานด้วยแน่นอน

ปี 64 ประเทศไทยจะได้รับส่งมอบวัคซีน 26 ล้านโดสจาก AstraZeneca นำเข้าโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และส่วนหนึ่งเป็นวัคซีนที่นักวิจัยไทยกำลังพัฒนาอยู่

ถ้าเรามีวัคซีนแล้ว แม้ว่าไม่เพียงพอ เราจะฉีดให้คนไทยอย่างเดียว หรือจะแบ่งให้แรงงานข้ามชาติฉีดด้วย จึงเป็นประเด็นว่าเราจะทำอย่างไรใครจะเป็นคนออกค่าใช้จ่ายนี้

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม นำเสนอประเด็นว่า “ผมคิดถึงขั้นว่า ทำไมเราไม่คิดไกล ให้คนไทยบริจาคคนละ 1 โดส ให้แรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เราปลอดภัย"

"แรงงานข้ามชาติมีราว 600,000 คน ถ้าคนไทยบริจาคให้ 1 คน เราก็ปลอดภัย ผมว่าน่าจะทำได้ ถ้าวัคซีนราคาแค่ 500-600 บาท บริจาคให้เขาไหม

แล้วให้สภากาชาดไทย หรือกระทรวงสาธารณสุขระดมวัคซีนไปฉีดให้เขาเสีย

หรือรัฐบาลคิดว่าเป็นต้นทุน ต่อให้แรงงานถูกกฎหมาย หรือไม่ถูกกฎหมายก็ต้องดูแล สังคมเดินได้เพราะบุคคลเหล่านี้ เป็นมุมมองที่ผมอยากจะสื่อสาร ว่าประเทศต้องเปลี่ยน Mindset ทำไมไม่มองเชิงระบบแล้วมองว่าพวกเขาเป็น Value หนึ่งใน Value Chain และเป็น Value ที่เป็นมนุษย์ มองเขาเป็นมนุษย์ก่อนแล้วก็ดูแล”

ประเทศไทยได้วัคซีนโควิด-19 มาจากไหน

ประเทศไทยเรามีหนทางได้รับวัคซีนโควิด-19 มาจาก 3 วิธี 

วิธีแรก ร่วมมือวิจัยกับสถาบันวิจัยวัคซีนระดับโลกเพื่อให้ได้มา ซึ่งยังต้องรอต่อไป
วิธีที่สอง สั่งซื้อจาก AstraZeneca 26 ล้าน โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด คาดว่าจะได้วัคซีนประมาณกลางปีหน้า และคงต้องหาทางต่อรองจัดซื้อกับ บริษัทอื่นๆ ด้วย 
วิธีที่สาม พัฒนาวัคซีน-19 ในประเทศไทย ซึ่งทั้งสามวิธีนี้เราจะไม่พึ่งพาแค่การซื้ออย่างเดียว

...

รายชื่อวัคซีนโควิดที่พัฒนาได้เองในประเทศไทย ที่ผ่านการทดสอบฉีดเข้าสู่ลิงแล้ว
รายชื่อวัคซีนโควิดที่พัฒนาได้เองในประเทศไทย ที่ผ่านการทดสอบฉีดเข้าสู่ลิงแล้ว

ราคาของวัคซีนโควิด-19 ต่อ 1 โดสเป็นเท่าไร

ในส่วนราคาของวัคซีนโควิดเป็นสิ่งที่หลายคนอยากรู้ เพราะเมื่อถึงวันที่ต้องฉีดจะได้เตรียมค่าใช้จ่ายไว้ หากผลิตในประเทศได้เองทั้งหมดจะได้ราคาที่ถูกลง หมอเกียรติอธิบายว่า

“ราคาที่เสนอขายในต่างประเทศ แตกต่างกัน ตั้ง 5-40 เหรียญสหรัฐ ขึ้นอยู่ว่าเป็นวัคซีนชนิดใด ที่น่าชื่ชมมากๆคือ วัคซีนของมหาวิทยาลัย Oxford ที่กำหนดราคาว่าบริษัทที่มาผลิตคือ AstraZeneca จะต้องจำหน่ายไม่เกิน 5 เหรียญ เพื่อให้ประเทศยากจนเข้าถึงวัคซีนได้ ราคาวัคซีน mRNA 2 ชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้จาก อย. ในประเทศอเมริกา อังกกฤษ แคนนาดา และตะวันออกกลางบางประเทศ ของ Pfizer ราคา 20 เหรียญสหรัฐ ของ Moderna ราคา เกือบ $40 เราเชื่อการผลิตวัคซีน mRNA ที่พัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จะถูกกว่า 20 เหรียญสหรัฐ (ต่ำกว่า 600 บาท) ขึ้นอยู่ที่ จำนวนการผลิต ยิ่งมากจะยิ่งถูก”

...

คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกเมื่อไร

หมอเกียรติ คลายข้อสงสัยว่า "ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจาก AstraZeneca หรือรอทีมนักวิจัยไทยผลิต คนไทยที่จะได้ฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรก คือ กลุ่มอาสาสมัครจำนวนไม่กี่คนในช่วงเดือนมิถุนายน 64 ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยยังไม่เปิดรับอาสาสมัคร

ขั้นตอนการผลิตวัคซีคโควิด-19 ของนักวิจัยไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนจองโรงงานผลิตชิ้นส่วนวัคซีน CU-CoV19 จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับทุนวิจัยจากรัฐบาลจึงสามารถจองและเตรียมรับมอบชิ้นส่วน mRNA ได้ในเดือนมกราคม 2564

ส่วนวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีโปรตีนใบยาสูบ จาก บ.ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ไม่ได้รับทุนวิจัย จึงต้องเปิดรับบริจาคโดยองค์กร CU Enterprise วัคซีนเพื่อคนไทย ขอระดมทุนคนละ 500 บาท จากคนไทย 1 ล้านคน

สุดท้าย บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ผู้ที่จะมาช่วยประกอบวัคซีนโควิด CU-CoV19 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ก็จะได้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีดีเอ็นเอ จากทุนวิจัยของรัฐบาลออสเตรเลีย

ในช่วง 6 เดือนที่คนไทยรอวัคซีนโควิด-19 เป็นช่วงที่แต่ละองค์กรพัฒนาวัคซีนก็ได้ประกอบชิ้นส่วนวัคซีน พร้อมทดสอบความปลอดภัยในมนุษย์ โดยคณะกรรมการจริยธรรมทางการแพทย์ และองค์การอาหารและยา (อย.)"

ไทม์ไลน์การผลิตวัคซีน และการฉีดในอาสาสมัคร 

...

อ้างอิงจาก วัคซีนโควิดที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปี 2564
ม.ค.-ก.พ. : ผลิต mRNA โรงงาน 1 ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พร้อมเสนอเพื่อรับการอนุมัติโครงการและการนำเข้าจาก คณะกรรมการจริยธรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และองค์การอาหารและยา (อย.)
ก.พ.-เม.ย. : ส่งเคลือบวัคซีนโรงงาน 2 ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
เม.ย.-มิ.ย. : ฉีดทดสอบในอาสาสมัครระยะที่ 1 : 72 คน
ก.ค.-ก.ย. : ฉีดทดสอบในอาสาสมัครระยะที่ 2 : 300-600 คน
ก.ย.-พ.ย. : ติดตามผล
พ.ย.-ธ.ค. : ฉีดในอาสาสมัคร ระยะที่ 2 : 5,000-10,000 คน

ปี 2565
ม.ค. เป็นต้นไป เสนอองค์การอาหารและยา (อย.) อนุมัติเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน ประมาณปีละ 20 ล้านโดส

ผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19 มีอะไรบ้าง

หมอเกียรติชี้แจงว่า “ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็เหมือนกับการฉีดวัคซีนทั่วไป จะแบ่งเป็น เฉพาะที่ และทั้งร่างกาย เป็นผลข้างเคียงจากชิ้นส่วน mRNA

ผลข้างเคียงจากวัคซีนเข็มแรก ได้แก่ เจ็บแผล ระบมนิดหน่อย ปวดเมื่อยนิดหน่อย และที่น่าดีใจคือข้อมูลในผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 65-80 ปี ก็ไม่ได้มีผลข้างเคียงมากไปกว่าคนหนุ่มสาว

ผลข้างเคียงจากวัคซีนเข็มที่สอง มีตัวเลขไม่เกิน 10% หรือไม่เกิน 1 ใน 100 อาจจะมีอาการปวดเมื่อย เป็นไข้ เหมือนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ อาการนี้หมายถึงภูมิขึ้นแรง แต่เป็นอาการที่คนถูกฉีดมักไม่ชอบ

เพราะฉะนั้นใครที่มีอาการไข้สูงหลังฉีดวัคซีน แปลว่าภูมิขึ้นเยอะ

ตามหลักการการฉีดวัคซีนจะมีจำนวนไม่เกิน 5 ใน 1,000 คน ที่มีอาการเป็นไข้ได้ ดังนั้นจึงต้องกินยาพารา ยาแก้ปวด ไม่เกิน 1 วัน มักจะเพลีย และ 3 วันก็เป็นปกติได้เลย”

ต่อให้มีวัคซีนโควิดแล้ว หน้ากากยังต้องใส่ และดูแลตัวเองดีๆ

“ไม่ใช่ว่าฉีดวัคซีนโควิดแล้วไม่ต้องดูแลตัวเอง หน้ากากคุณก็ยังคงต้องใส่ หมั่นล้างมือบ่อยๆ รักษาวิธีการป้องกันตัวเองให้เป็นนิสัย งดกิจกรรมที่ไปพบปะผู้คนในสถานที่แออัด

เนื่องจากวัคซีนโควิดเป็นสิ่งใหม่ ทั่วโลกยังต้องรอยืนยันข้อมูลว่าต้องฉีดซ้ำในระยะเวลาเท่าไร แต่กว่าจะถึงคิวที่คนไทยได้ฉีด เราคงทราบข้อมูลนั้นแล้ว” คุณหมอกล่าว

“วงจรห่วงโซ่การผลิตวัคซีนเราครบแล้ว คราวหน้าหากมีโรคระบาดเราก็สามารถออกแบบวัคซีนได้ทันที ทดลองวัคซีนกับหนูได้ไม่เกิน 2-4 สัปดาห์ ทดสอบกับลิงได้ไม่เกิน 1 เดือน และเข้าสู่กระบวนการผลิตวัคซีนได้ใน 3 เดือน ใช้เวลาไม่ต่างจากวัคซีนที่เราซื้อมาจากต่างประเทศ และควบคุมคุณภาพได้

ผมจึงอยากเห็นรัฐบาลฮึกเหิมกล้าที่จะผลักดันให้ประเทศไทยผลิตวัคซีนได้เอง ถึงรอบแรกเราจะผลิตได้น้อย แต่ก็ดีกว่าเราทำอะไรไม่ได้เลย

ถึงแม้ว่ารอบแรกจะผลิตได้น้อยแต่รอบต่อไปวัคซีนโควิดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จะผลิตได้ไล่เลี่ย Pfizer และ Moderna หลังจากที่ลอตแรกนี้เราช้ากว่าเขาแค่ 9 เดือน เพราะไม่มีโรงงานในไทย ปลายปี 64 นี้ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีประกอบวัคซีน ปีหน้าเราก็จะผลิตวัคซีนโควิดเต็มรูปแบบจากโรงงานในประเทศไทยเองได้”

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในปีหน้าเราอาจจะได้พบบทบาทการเป็นผู้นำผลิตวัคซีนโควิด-19 ของไทยในอาเซียน ก่อนจบการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ หมอเกียรติยังยกตัวอย่างความกล้าหาญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศญี่ปุ่น ที่หยิบยกประเด็นวัคซีนโควิด-19 เข้าสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีลงมติเป็นเรื่องเร่งด่วน และเราก็หวังกันต่อไปว่าคนไทยจะได้ใช้วัคซีนที่เราผลิตในบ้านเราได้เอง ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดใดก็ตาม

ขอให้ทุกท่านที่ได้อ่านบทความนี้ ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท
และกลับมาสู้กับโควิดใหม่อย่างมีความหวังในปี 2564
สวัสดีปีใหม่ค่ะ

ผู้เขียน : สีวิกา ฉายาวรเดช
ช่างภาพ : ชุติมน เมืองสุวรรณ
กราฟิก : Sathit Chuephanngam 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง