ช่วงใกล้ปีใหม่ เชื่อว่าหลายคนซื้อของผ่านทางออนไลน์กันเยอะ ตรงนี้เลยเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพแทรกตัวเข้ามาหลอกต้มตุ๋น และทำให้คนตกเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ รู้ทันไว้ก่อนก็ดีนะคะ
เป็นมาทุกยุคทุกสมัย กับเหล่ามิจฉาชีพที่ถือโอกาสความใจดีของเรา หลอกลวง ต้มตุ๋น จนสูญเสียทรัพย์สินกันเป็นจำนวนมาก พอเข้าสู่ยุคดิจิทัล มิจฉาชีพก็อัปเกรดเป็นวายร้ายไซเบอร์ตามมาหลอกลวงอีกเช่นกัน แถมคราวนี้น่ากลัวขึ้นมาก เพราะโลกอินเทอร์เน็ต เป็นโลกที่รู้หน้าไม่รู้ว่าใคร การปลอมแปลงมีมาหลากหลายรูปแบบ จับไม่ได้ไล่ไม่ทันกันเลยทีเดียว อ่านตรงนี้ไว้หน่อยก็ดี เพราะเรารู้ว่าช่วงสิ้นปีนี้ คุณผู้หญิงทั้งหลายจะต้องซื้อของออนไลน์กันมากเป็นพิศษ วันนี้ MIRROR รวบรวมกลโกงในโลกไซเบอร์ที่พบเห็นบ่อยๆ มาฝากเตือนใจสาวๆ กันบ้างค่า
โจรในโลกเสมือน Social Media
ใครไม่รู้จัก Social Media ถือว่าเชยพอสมควรเลยนะคะ เพราะเดี๋ยวนี้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงรุ่น สว. มีกันถ้วนหน้า Social Media ถือเป็นเหมือนโลกอีกใบที่หลายคนใช้เวลาไปไม่น้อยกับการไถฟีด โพสต์ แชต แชร์ หรือคอมเมนต์ โจรหรือมิจฉาชีพเองก็ผันตัวเข้ามาแทรกแซงอยู่ในโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน โดยอาศัยข้อมูลจากแชต ข้อมูลส่วนตัว หรือโพสต์กิจกรรมต่างๆ เป็นตัวช่วยในการสวมรอยหรือปลอมแปลงข้อมูลเพื่อหลอกลวง ที่เห็นบ่อยๆ อย่างการส่งข้อความแชตเพื่อหลอกให้โอนเงิน หรือการปลอมแปลงแอคเคาต์แล้วสวมรอยซื้อขายสินค้า
วิธีรับมือ:
- ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไว้บ้าง ยิ่งเปิดกว้างมากแค่ไหนก็ยิ่งเสี่ยงในการเข้าถึงของคนไม่หวังดีได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
- ไม่หลงเชื่อให้อะไรใครง่ายๆ หาวิธีติดต่อเพื่อนที่แชตมาขอยืมโดยตรง เพื่อยืนยันตัวตน ถามถึงที่มาที่ไปซะก่อน
- หากมีการโอนเงินให้จริงๆ ดูชื่อบัญชีให้แน่ใจ ว่าใช่คนที่คุณต้องการโอนหรือเปล่า คุยกับคนนึง แต่ให้โอนไปอีกชื่อนึง แบบนี้เรียกไม่ปกติแล้วค่าาา
...
อีเมลหลอกลวง
อีเมล เป็นอีกสิ่งที่เราคุ้นเคยทั้งในการติดต่องาน ใช้เป็นแอคเคาต์สมัครบริการต่างๆ บนโลกออนไลน์ เมื่อเป็นสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ก็เลยกลายเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพหลอกลวงได้ง่าย ที่พบเห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ อย่างเช่น การส่งอีเมลแอบอ้างเป็นสถาบันการเงิน เพื่อหลอกลวงให้ทำธุรกรรม หรือกรอกข้อมูลสำคัญ เช่น รหัสผ่าน หมายเลขบัตรเครดิต หรืออาจจะเป็นการฝังมัลแวร์ไว้ในเอกสารแนบให้กดเปิดไฟล์ แล้วทำให้คอมพิวเตอร์ได้รับความเสียหาย หรือถูกแฮกข้อมูลสำคัญที่อยู่ในอีเมลได้
วิธีรับมือ:
- หยุดคิดสักนิดว่าอีเมลที่ได้รับนั้นมีความผิดปกติไปจากเดิมหรือเปล่า
- ชื่อผู้ส่งกับชื่ออีเมลสัมพันธ์กันหรือไม่ ที่อยู่อีเมลพิมพ์ถูกต้องตามชื่อจริงหรือไม่
- ถ้ามีลิงก์ให้คลิก อย่าใจร้อนใจเร็ว ตรวจสอบ url ลิงก์ ด้วยการเอาเมาส์ไปวางที่ลิงก์ โดยที่ยังไม่ต้องคลิก จะมี url ขึ้นมา ลองค้นหาดูให้แน่ใจก่อน
- พฤติกรรมผู้ส่ง ซึ่งอาจเป็นคนที่เราคุ้นเคย แต่กลับมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ขอยืมเงิน
- หากเนื้อหาในอีเมลที่ได้รับเป็นภาษาอังกฤษ ให้สังเกตเรื่องไวยากรณ์ หรือคำสะกด
- ท่องไว้เสมอว่า ของฟรีไม่มีในโลก มุกได้รับรางวัล แจกฟรีต่างๆ เป็นความเสี่ยงในการเข้าถึงข้อมูลของคุณได้ทั้งสิ้น
โจรกรรมข้อมูลส่วนตัว
อีกหนึ่งข่าวคราวการถูกหลอกลวงต้มตุ๋นทางไซเบอร์ ก็คือ การโดนเจาะข้อมูลของค่ายบริการออนไลน์ยักษ์ใหญ่ เป็นเหตุให้ข้อมูลสำคัญของผู้ใช้ถูกขโมยไป อย่างเช่น ชื่อบัญชีผู้ใช้งาน รหัสผ่าน หรือข้อมูลบัตรเครดิต เหล่าโจรไซเบอร์ก็อาจจะเข้าถึงบัญชีผู้ใช้งานและทำธุรกรรมต่างๆ ในนามของเราได้โดยง่ายดาย กว่าเราจะรู้ตัวก็อาจจะเสียหายไปมากแล้ว
วิธีรับมือ:
- ไม่ให้ข้อมูลกับเว็บไซต์หรือบริการใดๆ หากไม่จำเป็น แต่ถ้าเป็นสายช็อป จะให้เลิกช็อปออนไลน์ก็คงคันไม้คันมือ เลือกช็อปกับแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ที่มีการส่งรหัสยืนยันตัวตน หรือที่คุ้นเคยกันดีว่า OTP
- เปลี่ยนรหัสบ่อยๆ ก็น่าจะพอช่วยได้
- ตั้งเตือนบัญชีเงินสด บัญชีบัตรเครดิต หากมีการเข้าออก หรือใช้งาน