ปี 2563 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ถือเป็นปีที่วงการหนังสือ “คึกคัก” อย่างยิ่ง โดยเฉพาะหนังสือประเภทการเมือง ประวัติศาสตร์ และสังคม จนเกิดปรากฏการณ์ “Sold Out” ของหนังสือดังหลายๆ เล่ม ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด นั่นคือ หนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี
พร้อมกันนี้ ความตื่นตัวของเยาวชนที่มีต่อหนังสือก็นับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ จนทำให้ผู้ใหญ่จำนวนมากต้องเหลียวมามองว่า เด็กไทยยุคนี้ อ่านหนังสือที่ยากขึ้น ลึกขึ้น และเข้าถึงหนังสือยากๆ ด้วย “ความเร็ว” ที่นำหน้าผู้ใหญ่ยุคก่อนหน้านี้
หนังสือบางเล่มกว่าที่ผู้ใหญ่จะเริ่มละเลียดทีละหน้า ทีละแผ่น ก็เป็นช่วงหลังเรียนจบระดับมหาวิทยาลัย แต่เยาวชนยุคนี้ กลับอ่านหนังสือที่ผู้ใหญ่จำนวนมากรู้สึกขยาด เข้าใจทะลุปรุโปร่งตั้งแต่ระดับชั้นมัธยม
...
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จึงนำมาสู่งานเสวนาเด็กไทยอ่านอะไรอยู่: ความตื่นตัวของหนังสือว่าด้วยสังคม-การเมืองไทยในเยาวชน จัดขึ้นที่งานเทศกาลหนังสือฤดูหนาว Winter Book Fest บนเวทีประกอบไปด้วยวิทยากร 4 คน ได้แก่ ษิญภา สุรธำรง แอดมินเพจแกเคยอ่านเล่มนี้ยัง, ฤทธิกร มหาคชาภรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Echo, สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระและผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ Salt และอตินุช อสีปัญญา บรรณาธิการคอลัมน์ Writer เว็บไซต์เด็กดีดอทคอม
ในวิกฤติมีโอกาส
ษิญภา ตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดเพจรีวิวหนังสือขึ้นเป็นจำนวนมาก อาจเป็นเพราะว่าคนเริ่มมีเวลาว่างมากขึ้น เลยเกิดเป็นงานอดิเรก
“ด้วยความที่ว่างขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกอยากอ่านหนังสือประเภทที่ตัวเองไม่เคยอ่านมาก่อน อ่านจบก็สะท้อนความคิดตัวเองหลังอ่าน จนกลายเป็นการรีวิวหนังสือ หรือแม้แต่การทำพอดแคสต์เกี่ยวหนังสือ”
ขณะที่เทรนด์ของหนังสือจากการสังเกตของษิญภา พบว่า คนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือก็ยังไม่ชอบอ่านหนังสือต่อไป แต่คนเหล่านี้เขามีความสนใจในวงการการอ่านมากขึ้น
“เหมือนว่าเขามีความพยายามว่า ตอนนี้แต่ละคนอ่านอะไร เพื่อมาดูว่าหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไร”
“ทวิตเตอร์” ศูนย์รวมคนรุ่นใหม่
สฤณี ระบุว่า ตอนนี้โลกของเด็กรุ่นใหม่อยู่ในทวิตเตอร์ (Twitter) และที่นั่นเป็นพื้นที่ของพวกเขา
“2-3 ปีหลังสุด จะเห็นได้ว่าทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ของการแนะนำหนังสือ โดยเฉพาะในส่วนของ ‘ด้อมเกาหลี’ กลายเป็นแฮชแท็กในเวลาต่อมาว่า ศิลปิน-ดาราคนนั้นอ่านอะไรอยู่ เป็นกระแสอ่านตามคนดัง คนที่เราชอบ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่น่ารัก”
พร้อมกันนี้ สฤณี บอกอีกด้วยว่า การพูดถึงหนังสือในโลกทวิตเตอร์ไม่ได้เป็นแค่การแนะนำหนังสืออย่างเดียว แต่ถึงขั้นมีการสรุปว่าหนังสือเล่มนั้นๆ สนุกอย่างไร เกิดการโต้ตอบ-ถกเถียงในเธรดทวิตเตอร์
“กระแสการจากอ่านทวิตเตอร์ทำให้การอ่านหนังสือไม่ได้เป็นเรื่องของคนคนเดียว แต่ทำให้การอ่านกลายเป็นกิจกรรมรวมหมู่” สฤณี กล่าว
ขณะที่ ฤทธิกร เสนอมุมมองของตัวเองว่า เด็กรุ่นใหม่ชอบที่จะตั้งคำถาม ช่างสงสัย ช่างพูด ช่างคุย ช่างซักถาม แต่คำถามหลายๆ คำถามที่เด็กถามไปนั้น ไม่มีใครตอบ
“คำถามอย่างเช่นว่าทำไมประเทศไทยถึงไม่มีสมรสเท่าเทียม ทำไมประเทศไทยไม่เปิดกว้างเรื่อง LGBT ทำไมประเทศไทยถึงด้อยค่า Sex Worker คำถามเหล่านี้ไม่มีคำตอบให้กับพวกเขาสักที"
เมื่อคำถามเหล่านี้ไม่มีคำตอบ เด็กๆ ก็ตอบคำถามนี้ด้วยตัวเอง พร้อมกับตั้งคำถามใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ต่อเนื่อง “ทีนี้ สถานการณ์มันเลยลามมาทุกวงการ ตั้งแต่การศึกษา จนถึงผู้ผลิตแอลกอฮอล์”
“แต่ถ้าให้สรุป ผมมองว่า สิ่งที่ทำให้พวกเขาตั้งคำถามมากขึ้น เพราะคำถามแรกไม่เคยถูกตอบ” ฤทธิกร อธิบาย
หนังสือแปลจีนมาแรง
...
อตินุช ยอมรับว่า ช่วงนี้นิยายแปลจีนมาแรงมาก จนทำให้เด็กดีต้องเปิดเซกชันใหม่เพื่อรองรับกับความต้องการ
“เซกชันที่เปิดใหม่มีชื่อว่า ‘จีนย้อนยุค’ หมวดนี้คนเข้าเยอะมาก ถือว่าเปลี่ยนแปลงจากเทรนด์ก่อนหน้านี้ เช่น นิยายวาย หรือแฟนฟิกชัน”
อตินุช กล่าวต่อไปว่า ในอนาคตอันใกล้ ถ้าหากจะต้องเปิดเซกชันใหม่จริงๆ คาดว่าจะเปิดเซกชันเกี่ยวกับ Yuri (เนื้อหาความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกัน ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง), LGBT หรือเนื้อหาที่เน้นความเท่าเทียม เป็นต้น
หนังสือร้อนแรงในมุมมองของนักอ่าน
จากสายตาของนักรีวิวหนังสืออย่างษิญภา เล่าว่า ในรอบ 6-7 เดือนที่ผ่านมา หนังสือที่ร้อนแรงจริงๆ ต้องยกให้กับ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” อย่างไรก็ดี ษิญภา หล่นความเห็นว่า หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมเป็นเพราะว่าตำรวจเข้าไปตรวจยึดหนังสือเล่มดังกล่าวถึงสำนักพิมพ์
“ธรรมชาติของการแบนหนังสือ มันมีความตลก เมื่อยิ่งห้าม มันก็จะยิ่งยุ ถ้าไม่มีการไปล้อมจับนับพันเล่มตอนนั้น เชื่อว่าตอนนี้ก็คงขายได้ไม่ดีนัก”
พร้อมกันนี้ ษิญภา ได้แนะนำหนังสืออีกเล่มหนึ่ง นั่นคือ “สามัญสำนึก (Common Sense)” ของโธมัส เพน (Thomas Paine) อีกด้วย
“หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเก่าเกือบ 200 ปี ช่วงประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา”
ทางด้านอตินุช ได้แนะนำหนังสือที่มีชื่อว่า “The Circle” ของเดฟ เอกเกอร์ส (Dave Eggers) ซึ่งเป็นหนังสือที่พูดถึงการใช้โซเชียลมีเดีย และเล่มต่อมาของอตินุช ยกให้เป็นหนังสือที่ดีสุดของปีของตัวเอง โดยหนังสือดังกล่าวมีชื่อว่า “ผู้พิทักษ์ต้นการบูร” เขียนโดย ฮิงาชิโนะ เคโงะ (Keigo Higashino) หนึ่งในนักเขียนญี่ปุ่นที่โด่งดังมากๆ ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและในประเทศไทยเองก็ตาม และเป็นหนังสือที่เหมาะกับสังคมไทยในตอนนี้
“ส่วนตัวชอบงานของเคโงะมากๆ เรื่องนี้มีจุดความน่าสนใจตรงที่เกี่ยวข้องกับการฟัง โดยตัวละครเอกเป็นเด็กหนุ่มวัยรุ่นที่มีความเชื่อของตัวเอง สุรุ่ยสุร่าย แต่อยู่มาวันหนึ่งก็ถูกจับเข้าคุก สุดท้ายก็ได้รับความช่วยเหลือจากป้า ซึ่งมีข้อแลกเปลี่ยนว่าตัวเอกต้องมาเป็นผู้พิทักษ์ต้นการบูร”
...
ขณะที่ ฤทธิกร บอกว่า 1-2 ปีที่ผ่านมามีหนังสือดีๆ เยอะมาก โดยที่ ฤทธิกร แนะนำ “หนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” เหมือนกับษิญภา
“ส่วนที่สำคัญมากๆ ของหนังสือเล่มนี้ อยู่ตรงที่เอกสารอ้างอิง (Reference) ซึ่งสิ่งนี้คือคุณค่าของหนังสือเล่มนี้”
อีกเล่มหนึ่งเป็นหนังสือเด็กชื่อว่า “กษัตริย์คือ(อะ)ไร?: มานุษยวิทยาสำหรับเยาวชน” เขียนโดย เดวิด เกรเบอร์ (David Graeber) และ นิกา ดูบรอฟสกี (Nika Dubrovsky)
“หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างบาง อ่านประมาณ 2 ชั่วโมงก็จบแล้ว โดยที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงกษัตริย์ทั่วโลกว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร” ฤทธิกร เล่าต่อไปว่า สาเหตุหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเด็กเพราะว่าคำถามที่ถูกตั้งขึ้น เป็นการแทนคำถามที่เด็กถามผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ที่จะต้องตอบเด็กๆ จะต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจในคำถามที่ถามขึ้นมา โดยที่จะต้องเข้าใจง่ายที่สุด
“หนังสือเล่มนี้ทรงพลังตรงที่ทำให้คนอ่านไม่ต้องจำกัดว่าต้องเป็นเยาวชนเท่านั้น ซึ่งหนังสือก็เข้าใจง่าย สนุก และมีภาพประกอบที่สวยงามอีกด้วย”
...
สุดท้ายหนังสือที่ สฤณี แนะนำเป็นหนังสือการ์ตูนชื่อ “ตาสว่าง” ของเคลาดิโอ โซปรันเซ็ตติ (Claudio Sopranzetti), ซารา ฟับบรี (Sara Fabbri) และเคียรา นาตาลุชชี (Chiara Natalucci)
“เล่มนี้สนุกมาก โดยเป็นหนังสือที่เขียนจากงานของเคลาดิโอ โซปรันเซ็ตติ ที่มาทำวิจัยเรื่องมอเตอร์ไซค์รับจ้างในประเทศไทย แต่ว่าช่วงนั้นพัวพันกับเหตุการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดง แล้วสกัดสิ่งที่อยู่ในหนังสือมาเป็นการ์ตูน”
แต่ถ้าใครเลี่ยนกับหนังสือประวัติศาสตร์แล้ว สฤณี แนะนำหนังสือของอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ซึ่งเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และเล่มที่ชอบมากที่สุด ได้แก่ “การเมืองในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 1”
“หนังสือของอาจารย์ชาตรีทุกเล่มสนุกมาก โดยจะชี้ให้เห็นถึงแง่มุมของสถาปัตยกรรมที่ใครหลายคนมองข้ามไป”