แม้ว่า “ยาแก้ไอ” เป็นยาที่เราซื้อเองตามร้านขายยาได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ แต่ก่อนซื้อต้องทราบลักษณะอาการไอของตัวเอง และซื้อยาจากร้านที่มีเภสัชกรช่วยให้คำแนะนำ เพื่อให้ได้ยาแก้ไอที่ดีที่สุดตรงกับโรคของคุณ วันนี้ไทยรัฐออนไลน์มีวิธีการเลือกยาแก้ไอมาฝากกัน
ยาแก้ไอมีกี่แบบ
ยาแก้ไอแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ยาแก้ไอแบบไม่มีเสมหะ และยาแก้ไอแบบมีเสมหะ ผลข้างเคียงของยาแก้ไอแต่ละประเภทขึ้นอยู่กับกลไกการออกฤทธิ์ บางตัวรับประทานแล้วอยากอาเจียน คลื่นไส้ หรืออาจส่งผลให้เสพติดในกลุ่มยา codeine ที่ออกฤทธิ์แบบมอร์ฟีน
1. ยาแก้ไอแบบไม่มีเสมหะ
ยับยั้งอาการไอ (Antitussive) กดศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง มีโอกาสทำให้เสพติด มีตัวยาในกลุ่ม dextromethophan และ codeine
ผลข้างเคียง :
- หากรับยาเกินขนาดจะคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม
- กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกันหรือแข็งเกร็ง
- กล้ามเนื้อกระตุก พูดไม่ชัด ม่านตาขยาย
- เคลิบเคลิ้ม หัวใจเต้นเร็ว
- ความดันโลหิตสูง มึนงง
- ประสาทหลอน กระวนกระวาย สั่น ชัก ปวดศีรษะ สูญเสียความทรงจำ
- หมดสติ กดการหายใจ และอาจถึงแก่ชีวิตได้
2. ยาแก้ไอแบบมีเสมหะ
เสมหะ คือสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยระคายเคืองที่คอ เกิดจากสารคัดหลั่งที่เยื่อบุทางเดินหายใจสร้างขึ้นมา มีสาเหตุมาจากอาการอักเสบของเยื่อบุจมูก, กรดไหลย้อน, การใช้เสียงผิดวิธี, หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และการติดเชื้อ ยาแก้ไอแบบมีเสมหะ แบ่งออกเป็น ยาขับเสมหะ (Expectorants) และ ยาละลายเสมหะ (Mucolytic)
2.1) ยาขับเสมหะ (Expectorants)
...
ยาแก้ไอแบบมีเสมหะ ใช้ตัวยา Guaifenesin, ammonium chloride, ammonia, senega, sodium citrate, ipecacuanh
ผลข้างเคียง :
- ระยะแรกมีปริมาณเสมหะมากขึ้น
- อาจคลื่นไส้ อาเจียน ปั่นป่วนไม่สบายกระเพาะอาหาร
2.2) ยาละลายเสมหะ (Mucolytic)
ยาแก้ไอแบบละลายเสมหะ ใช้ตัวยา acetylcysteine, carbocisteine
ผลข้างเคียง :
ยากลุ่มนี้ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงน้อยมาก แต่ก็เคยมีรายงานว่าเกิดมีอาการข้างเคียงบ้าง ควรใช้ยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น หากใช้ยาแล้วแพ้ยาหรือมีอาการผิดปกติให้หยุดใช้ยาและปรึกษาแพทย์
วิธีใช้ยาแก้ไอ
ยาแก้ไอทุกประเภทมีวิธีใช้ขึ้นอยู่กับอาการ โดยยาแก้ไอแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ยาแก้ไขแบบมีเสมหะ และยาแก้ไอแบบไม่มีเสมหะ การใช้ยาแก้ไอควรคำนึงถึงอายุของผู้ใช้ และหากรับประทานยาแก้ไอแล้วไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ ให้รีบพบแพทย์
ยาแก้ไอที่ดีที่สุด คือ ยาแก้ไอที่ถูกกับโรคของผู้มีอาการไอ ซึ่งจะรักษาโรคได้ตรงจุดก็ต่อเมื่อคุณได้ยาที่ตรงกับอาการ ยาแก้ไอแต่ละยี่ห้ออาจมีส่วนผสมของตัวยาหลายประเภทเพื่อขับเสมหะและลดอาการไอ อย่างไรก็ดีหากใช้ยาแก้ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์
ยาแก้ไอแบบเม็ด คืออะไร
ยาแก้ไอแบบเม็ดที่วางจำหน่ายมีทั้งยาแก้ไอแบบมีเสมหะ และไม่มีเสมหะ รับประทานให้ครบตรงเวลา เพื่อฤทธิ์การรักษาที่ดี
ยาแก้ไอแบบน้ำ คืออะไร
ยาแก้ไอแบบน้ำ คือยาแก้ไอที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่กินยาเม็ดยาก ได้ใช้ยาแก้ไอแบบน้ำ ช่วยให้ชุ่มคอ ยาน้ำบางสูตรมีส่วนผสมของน้ำผึ้งช่วยให้ชุ่มคอ หรือเมนทอลช่วยลดการระคายเคือง
ยาแก้ไอแบบพ่น คืออะไร
ยาแก้ไอแบบพ่น คือยาแก้ไอที่ใช้ฉีดพ่นบริเวณลำคอ เพื่อให้ความชุ่มชื่น
ยาแก้ไอแบบฉีด คืออะไร
ยาแก้ไอแบบฉีดนั้น จะเป็นการรักษาอาการไอจากภูมิแพ้ในผู้ป่วยที่มีอาการไอมาก ซึ่งเป็นยาสเตียรอยด์ที่ใช้รักษาระยะสั้น และรักษาต่อด้วยการรับประทานยา ปัจจุบันยากินให้ประสิทธิภาพการดูดซึมที่ดี หากไอทั่วไปไม่จำเป็นต้องฉีดยา
สุดท้ายนี้การดูแลตัวเองสำคัญที่สุด การดื่มน้ำอุ่น น้ำมะนาว และพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยบรรเทาอาการไอได้ และการใช้ยาแก้ไอบางตัวกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ร่วมด้วย.
ที่มา : pharmacy.mahidol.ac.th, oryor.com