อร่อยได้รสชาติ แถมยังทำให้เจริญอาหารอีกด้วย นี่คือรสเค็มที่เป็นรสชาติเด่นในเมนูอาหาร และขนมขบเคี้ยวที่หลายคนถูกใจ แต่ความอร่อยนี้มีคำเตือนเพราะจะมาพร้อมโรคไม่ติดต่อ ป่วยตั้งแต่ไตวาย หัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งทุกวันนี้มีคนไทยป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังถึง 7.6 ล้านคน หัวใจวายวันละ 108 คน นี่คือสถานการณ์ที่ต้องเร่งแก้ไข และปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารรสเค็ม โดยเฉพาะเด็กไทย เพราะไม่เช่นนั้นอร่อยถูกปาก แต่อาจป่วยทรมานได้ตอนโต

เรื่องนี้มีคำอธิบาย และข้อมูลที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน โดย ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการสำรวจการกินเค็มของประชาชนทั่วประเทศ พบว่าค่าปริมาณการบริโภคเฉลี่ย 3,636 มิลลิกรัม (มก.) ต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา มากที่สุดคือในภาคใต้ 4,108 มก./วัน, รองลงมาภาคกลาง 3,760 มก./วัน, ภาคเหนือ 3,563 มก./วัน, กรุงเทพมหานคร 3,496 มก./วัน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,316 มก./วัน

สำหรับผลต่อสุขภาพจากการกินเค็มมากเกินไปนั้น พญ.ดร.เรณู การ์ก เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ (โรคไม่ติดต่อ) สำนักงานผู้แทนองค์อนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า โซเดียมเป็นสาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบตัน และไตวาย รวมทั้งโรคเรื้อรังชนิดอื่น องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำว่าทุกคนควรบริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มก. หรือ 1 ช้อนชา

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ มีผลงานวิจัยมากมายในประเทศไทยที่บ่งชี้ว่า ปริมาณโซเดียมที่คนไทยบริโภคสูงกว่าเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลกถึงสองเท่า โดยเฉพาะเด็กไทยบริโภคเกลือมากเกินไป  โดยบริโภคถึง 3,194 มก.ต่อวัน ทำให้เยาวชนตกอยู่ในความเสี่ยงที่อาจจะมีภาวะความดันโลหิตสูง และโรคไตเมื่อโตขึ้น

...


คำแนะนำคือ นอกจากผู้บริโภคต้องระวังในการบริโภคแล้ว ด้านรัฐบาลหากผลักดันนโยบายเก็บภาษีผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโซเดียมสูงเกินมาตรฐาน โดยเก็บภาษีผลิตภัณฑ์บรรจุหีบห่อ และผลักดันให้ผู้ผลิตอาหารปรับรูปแบบอาหารบรรจุหีบห่อให้มีโซเดียมน้อยลง จะช่วยปกป้องสุขภาพของประชาชนได้

ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจจาก รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม คือพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 7,600,000 คน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 40,000 คนต่อปี หรือ 108 คนต่อวัน เป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตกว่า 500,000 คน


ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เป้าหมายของนโยบายรัฐ คือ ต้องการให้ประชาชนบริโภคเกลือและโซเดียมลดลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568 ขณะนี้จึงร่วมมือกับองค์กรต่างๆ คือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมควบคุมโรค เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย รณรงค์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว