วันไปรษณีย์โลก (World Post Day) ปี 2566 ตรงกับวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม เป็นวันที่ สหภาพไปรษณีย์สากล (Universal Postal Union หรือ UPN) เลือกเป็นวันระลึกถึงการก่อตั้งสหภาพไปรษณีย์สากล โดยยึดวันลงนามสนธิสัญญาแบร์น ในปี พ.ศ.2417 ณ กรุงแบร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กิจกรรมสำคัญในวันไปรษณีย์โลก คือการเปิดโอกาสให้เยาวชนเขียนจดหมายถึงสหภาพไปรษณีย์สากล ในหัวข้อต่างๆ ที่กำหนดในปีนั้น เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของการไปรษณีย์ในประเทศของตน และสากล

ประวัติวันไปรษณีย์โลก

สหภาพไปรษณีย์สากล (Universal Postal Union หรือ UPN) กำหนดให้วันที่ 9 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันไปรษณีย์โลก (World Post Day) วัตถุประสงค์การก่อตั้งวันนี้ เพื่อให้ทุกคนในสังคมตระหนักเห็นความสำคัญของกิจการไปรษณีย์ในชีวิตประจำวัน และภาคธุรกิจ อันเป็นส่วนหนึ่งในเศรษฐกิจของประเทศของตน จนถึงระดับโลก เพื่อเฉลิมฉลอง และสนับสนุนกิจกรรมของไปรษณีย์ให้เกิดการรับรู้ระดับชุมชน และประเทศ

การไปรษณีย์สมัยอดีตในยุคก่อนคริสตกาล การรับรู้ข่าวสารใช้วิธีการจำและนำไปรายงานบอกกล่าวเป็นทอดๆ ผู้ที่ใช้คนสื่อสารระหว่างเมือง มักเป็นกิจธุระของกษัตริย์ และผู้นำทางศาสนา โดยการจัดทำระบบไปรษณีย์ด้วยตัวหนังสือเกิดขึ้นในยุคจักรวรรดิโรมัน เป็นการใช้หนังสือราชการติดต่อกันระหว่างรัฐ จึงมีการจัดเจ้าหน้าที่ส่งสาร ดูแลม้า จัดที่พักพิงให้กับข้าราชบริพารที่ทำหน้าที่นี้ เรียกสถานที่นี้ว่า Positus แปลว่า ตั้งไว้ จึงคาดว่าคำนี้เป็นรากศัพท์ของคำว่า Post หรือการไปรษณีย์ที่ใช้กันในปัจจุบัน

เมื่อผู้คนต้องติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น งานข่าวสารไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะของหน่วยงานรัฐอีกต่อไป ในศตวรรษที่ 16 เกิดการค้าขายทั่วโลก ประชาชนต้องการใช้บริการไปรษณีย์ จึงมีการฝากจดหมาย สิ่งของ ไปกับพ่อค้าที่เดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ในสเปน และอิตาลี ก็มีผู้ก่อตั้งบริษัทรับส่งข่าวสารเป็นกิจการครอบครัว แต่บางประเทศกำหนดให้เป็นกิจการของรัฐเท่านั้น 

...

ศตวรรษที่ 17 เกิดการวางรากฐานการไปรษณีย์ที่ชัดเจนขึ้น จากการจัดตั้งระบบไปรษณีย์ที่ฝรั่งเศส มีการตั้งตู้จดหมายเพื่อไขรับจดหมาย และมีค่าบริการนำส่งเป็นกระดาษแผ่นเล็กๆ ในยุคสมัยถัดมา จดหมาย และพัสดุ ก็ได้ฝากส่งไปกับรถไฟ และยานพาหนะต่างๆ รัฐบาลบางประเทศเห็นว่ามีการเติบโตจึงรับซื้อกิจการไปรษณีย์จากบริษัทเอกชนมาเป็นกิจการของรัฐ การไปรษณีย์เจริญขึ้นมาก มีการนำระบบจากฝรั่งเศสไปใช้ในสหรัฐอเมริกา

รัฐบาลอังกฤษเป็นประเทศแรกที่พิมพ์แสตมป์ หรือ ตราไปรษณียากร ดวงแรกออกมาใช้ ออกเป็นพิมพ์ภาพสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย ใน พ.ศ.2383 ราคา 1 เพนนี 

การจัดตั้ง สหภาพไปรษณีย์สากล (Universal Postal Union หรือ UPN) เกิดขึ้นในวันที่ 9 ตุลาคม ปี พ.ศ.2417 มีสมาชิกเข้าร่วมประชุม 22 ประเทศ ที่กรุงแบร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศสมาชิกร่วมกันวางรากฐานระบบไปรษณีย์ และคิดค้นเครื่องจักรที่ใช้ย่นระยะเวลา และผ่อนแรงการทำงานมากขึ้น ขยายการสื่อสารไปทั่วโลก เพื่อให้บริการใหม่ๆ แก่ประชาชน

ประเทศไทยมีการก่อตั้งไปรษณีย์กงสุลอังกฤษ ในปี พ.ศ.2400 และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก UPN ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2428 เริ่มให้บริการการไปรษณีย์ไปต่างประเทศ และได้มีโอกาสเป็นสมาชิกสภาปฏิบัติการไปรษณีย์ 10 สมัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2507 ถึงปี พ.ศ.2559

กิจกรรมวันไปรษณีย์โลก

ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมสหภาพไปรษณีย์สากล กว่า 150 ประเทศ แต่ละประเทศใช้วิธีเฉลิมฉลองที่แตกต่างกันไป บางประเทศกำหนดให้วันไปรษณีย์โลก (World Post Day) เป็นวันหยุด กิจกรรมส่วนใหญ่ที่นิยมจัดขึ้นคือการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ ของไปรษณีย์ เช่น การจำหน่ายโปสการ์ด, ตราไปรษณียากร, เสื้อยืด รวมไปถึงของใช้ที่ระลึกต่างๆ 

สหภาพไปรษณีย์สากล (Universal Postal Union หรือ UPN) ได้ออกแบบกิจกรรมให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของกิจการไปรษณีย์ด้วยการกำหนดหัวข้อจดหมายขึ้นในแต่ละปี ให้เยาวชนอายุ 9-15 ปี เขียนจดหมายถึง สหภาพไปรษณีย์สากล และคัดเลือกเป็นรางวัล Best of the Best Letters เผยแพร่ในเว็บไซต์ UPN ซึ่งได้ทำมาแล้วกว่า 50 ปี ผู้สนใจเข้าไปดูรางวัลจดหมายที่เขียนถึงบุคลากรทางไปรษณีย์ทั่วโลกได้ที่นี่

ที่มา : 

...

1. ประวัติการไปรษณีย์สากล., สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=2&chap=10&page=t2-10-infodetail02.html

2. International Letter-Writing Competition for Young People., https://www.upu.int/en/Universal-Postal-Union/Outreach-Campaigns/International-Letter-Writing-Competition-for-Young-People

3. ประวัติไปรษณีย์ไทย., ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ., https://postal.customs.go.th/content_with_menu1.php?ini_content=thaipost_history&ini_menu=menu_general_information&lang=th&left_menu=menu_thaipost_history

4. งานด้านสื่อสารและโทรคมนาคม., งานด้านสื่อสารและโทรคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม., https://www.mdes.go.th/content/download-detail/2470